Cafe Can Do ชงไอเดียเพื่อชุมชน
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบเฟสบุ๊ก Cafe Can Do
Cafe Can Do คาเฟ่เล็กๆในซอยCประชาอุทิศ 47 ร้านนี้ไม่ได้มีดีแค่กาแฟ แต่เป็นจุดตั้งต้นของกิจการเพื่อสังคมแนวใหม่ ในรูปแบบ Community Cafe คาเฟ่เพื่อชุมชนที่มาพร้อมคอนเซปต์ "ศูนย์อาสาสร้างสุขยั่งยืน" ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของเหล่านักทำงานด้านจิตอาสาพัฒนาสังคม กลุ่ม Can Do Team นำโดย สิริวัฒน์ สุทธิวรากร และ พรทิพย์ ลิมปิชัยโสภณ
คำว่า Can Do เป็นชื่อที่สื่อถึงแนวคิดเปลี่ยนสังคมที่เชื่อว่าทำได้จริง ที่มาของชื่อนี้ยังมีจุดเชื่อมโยงมาจากการที่หลายคนในทีมเคยมีส่วนร่วมในการนำเสนอนโยบายในการพัฒนากรุงเทพฯ ร่วมกับ ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ อดีตผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เจ้าของสโลแกน "ดร.แดน Can Do"
คงเป็นเรื่องน่าเสียดายไม่น้อย หากนโยบายดีๆ จะถูกเก็บเข้ากรุ เพราะไม่ได้รับเลือกตั้ง อดีตทีมงานส่วนหนึ่ง มองว่า หลายแนวคิดมีประโยชน์ต่อการพัฒนาเมืองและชุมชน สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมได้ หากมีการลงมือทำ จึงขอนำนโยบายมาสานต่อ โดยมีพื้นที่ย่านทุ่งครุ เป็นเสมือน "บ้านหลังแรก" ของการขับเคลื่อนกิจกรรมพัฒนาชุมชน ในปี 2555 ด้วยความเชื่อว่า คำตอบของการพัฒนาที่ยั่งยืน ต้องเริ่มต้นมาจากก้าวเล็กๆ ของคนในชุมชนที่มีความเข้มแข็ง ลุกขึ้นมา มีส่วนร่วมจัดการบ้านของตัวเอง
"แทนที่จะทำในภาพรวมกว้างๆ ที่วัดผลได้ยาก เราอยากเห็นอะไรที่วัดผลได้จริง เกิดการลงมือทำอย่างต่อเนื่อง เห็นการเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจน จึงเป็นที่มาของการลดขอบเขตการทำงานลงมาอยู่ในระดับพื้นที่ชุมชน เราอยากรู้ว่าถ้าลองทำ ในชุมชน เริ่มจากก้าวเล็กๆ ทำที่บ้าน ทำในซอย ทำในเขตที่เราอยู่ สิ่งเหล่านี้ จะสามารถทำได้จริงมั้ย" สิริวัฒน์ หัวหน้ากลุ่ม Can Do Team เล่าถึงแนวคิดที่นำมาสู่ การลงพื้นที่สร้างความสัมพันธ์ทำโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาร่วมกับชุมชน มาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2555
สิริวัฒน์ ขยายความถึงแนวคิดการ ทำงานหลักๆ ของกลุ่ม Can Do Team ว่า "แนวคิดแรก เราอยากเชื่อมต่อ ความสามารถและทรัพยากรที่มีเพื่อตอบโจทย์
ปัญหาของชุมชน เริ่มต้นจากก้าวที่ ง่ายที่สุดก่อน คือ การใช้ศักยภาพและทุนที่ มาจากตัวตนของเราเอง เช่น ความสามารถด้านภาษา การจัดกิจกรรมร่วมกับเด็ก ซึ่งสามารถนำมาเชื่อมต่อกับงานด้านเยาวชนและการศึกษาในชุมชน
แนวคิดที่สอง เราอยากสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นชุมชนต้นแบบซึ่งตอนนี้อยู่ในช่วงเริ่มต้น พูดคุยกันในทีมถึงเรื่องการทำงานวิจัยเพื่อรวบรวมฐานข้อมูลเกี่ยวกับชุมชนในทุกมิติ ฐานข้อมูลปัญหาประชากร เพื่อดูว่าจะหยิบนโยบายด้านไหนมาแก้ปัญหาได้บ้าง
แนวคิดที่สาม คือ การเชื่อมต่อเครือข่าย จิตอาสากับการลงไปพัฒนาชุมชน ระดมทรัพยากรความสามารถจากคนอื่นๆ มาจับคู่ แมชชิ่งกับการแก้ปัญหาในพื้นที่ ตัวอย่างเช่น โมเดลโครงการพัฒนาพื้นที่ริมคลองเป็นทางจักรยาน หรือ "3C Project" ซึ่งเกิดจากมองเห็นโอกาสด้านทุนในพื้นที่ ที่มีทั้งเส้นทางขี่จักรยานเลียบคลอง และทรัพยากรธรรมชาติที่ยังสวยงาม เมื่อได้เชื่อมโยงพบปะพูดคุยกับเครือข่ายคนรักจักรยาน เครือข่ายผู้ปกครองที่สนใจ และคนในชุมชนที่อยากมีส่วนร่วมในการพัฒนา จึงนำมาสู่การรวมตัวของคนรักคลองรักชุมชนรักเมืองและรักจักรยาน ขับเคลื่อน กิจกรรมร่วมกันผ่านโครงการ "3C Project" ที่มาจาก คำว่า Canal (คลอง) Cycling (จักรยาน) และ Community (ชุมชน) เป็นต้น"
จากจุดเริ่มต้นของกลุ่มเพื่อนๆ ที่เป็นจิตอาสาพัฒนาสังคม ล่าสุด กลุ่ม Can Do Team ยังต่อยอดมาสู่กิจการเพื่อสังคม "ศูนย์อาสาสร้างสุขยั่งยืน Cafe' Can Do" ในรูปแบบคอมมูนิตี้คาเฟ่เพื่อชุมชน ทำหน้าที่เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สถานที่สำหรับนัดพบพูดคุยเพื่อทำงานกิจกรรมของจิตอาสา แบ่งปันความคิด ความรู้และประสบการณ์เพื่อการพัฒนาชุมชน ท่ามกลางบรรยากาศอบอุ่นและมิตรภาพในร้านกาแฟเล็กๆ
"หลังจากทำงานชุมชนมาได้ระยะหนึ่ง หลายครั้งที่ต้องตระเวนหาสถานที่เพื่อประชุม หรือจัดกิจกรรมต่างๆ เราเลยเริ่มคิดถึง การมี "ฮับ" ของชุมชน เพื่อเป็นศูนย์กลางในการทำงาน จุดรวมตัวของอาสาสมัครด้านต่างๆ และผู้ที่ต้องการมีส่วนร่วมเป็นอาสาพัฒนาชุมชน รวมถึงสามารถจัดกิจกรรมต่างๆ อีกทั้งยังทำหน้าที่เป็น หน้าร้านที่สามารถหารายได้ ดูแลตัวเองได้ ด้วยแนวคิดกิจการเพื่อสังคม ในรูปแบบคอมมูนิตี้คาเฟ่ที่เราอยากมีส่วนร่วมในการ ดูแลชุมชน ดูแลบ้าน เป็นเหมือนส่วนหนึ่ง ของชุมชน ตั้งอยู่ในชุมชน และทำประโยชน์ เพื่อชุมชน" ทีม Can Do Team เล่าถึงแนวคิดของ "ศูนย์อาสาสร้างสุขยั่งยืน Cafe' Can Do" ซึ่งโมเดลกิจการเพื่อสังคม น่าจะเป็นคำตอบที่ทำให้การอุทิศตัวทำประโยชน์เพื่อสังคมสามารถทำเป็นอาชีพ ทำให้ทีมงานแต่ละคนที่เคยต้องทำงานหลักประจำที่อื่นสามารถลาออกมาทำงานเพื่อชุมชนได้อย่างเต็มตัวได้ในวันหนึ่งวันหน้า
"นี่คือความมุ่งหวังที่เราอยากสร้างให้การทำงานเพื่อสังคม เป็นอาชีพทำได้จริง มีรายได้หล่อเลี้ยงคนที่เข้ามาทำงานให้สามารถทำงานอย่างที่อยากทำ ด้วยโมเดลของศูนย์อาสาสร้างสุขที่เป็นทั้งการสร้างสุข ของคนที่ได้ทำงาน สุขของคนที่ได้มาที่นี่ และสุขที่ได้เป็นอาสาสมัคร
เราอยากทำให้การทำงานกับสิ่งที่เรารัก สามารถทำให้เป็นเรื่องเดียวกัน ทุกเช้า ตื่นขึ้นมามีพลัง ได้ช่วยเหลือผู้คน ซึ่งเป็นความฝันและความตั้งใจของพวกเรา" พรทิพย์ หรือ "ครูอิม" หนึ่งในทีม Can Do บอกเช่นนั้น
ความตั้งใจดีๆ บวกกับไอเดียทางเลือกใหม่ เพื่อขับเคลื่อนงานด้านจิตอาสาเพื่อชุมชนทำให้ก้าวแรกของโครงการ "ศูนย์อาสาสร้างสุขยั่งยืน Cafe' Can Do" ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อร่วม ขับเคลื่อนการสร้างสุขภาวะทางปัญญา ด้วยกระบวนการจิตอาสาให้เกิดขึ้นสู่ สังคมไทย
"จากการทำงานเชื่อมโยงกับเครือข่ายต่างๆ ทำให้เราได้รับคำแนะนำว่า ไอเดียคอมมูนิตี้คาเฟ่ที่เราอยากทำ เป็นคอนเซปต์ที่สอดคล้องกับที่อังกฤษ มีกรณีตัวอย่างที่ น่าสนใจของ "Hill Station" คอมมูนิตี้คาเฟ่ ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางทำกิจกรรมของคนในชุมชน เช่น มีเวทีโชว์การแสดงของคนในชุมชน มีคุณแม่มาแลกเปลี่ยนสูตรอาหาร มีคนว่างงานมาฝึกอาชีพ ไอเดียโครงการ "ศูนย์อาสาสร้างสุขยั่งยืน Cafe' Can Do" ที่เราอยากขับเคลื่อนจึงเป็นแนวทางที่สนใจ และสอดคล้องกับแนวทางการสร้างสุขภาวะทางปัญญาด้านจิตอาสาของ สสส. ซึ่งที่ผ่านมา คอมมูนิตี้คาเฟ่แบบนี้ในเมืองไทยยังไม่มีใครทำ หากแนวคิดนี้ของเราทำสำเร็จจะเป็นประโยชน์ของการสร้างโมเดลของการศูนย์กลางการทำงานจิตอาสาเพื่อพัมนาชุมชน โดยการสร้างกิจกรรม สร้างการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ แถมยังมีรายได้เลี้ยงตัวเองได้อย่างยั่งยืน" สิริวัฒน์ เล่า
เสน่ห์ของ Cafe' Can Do จึงเป็น ร้านกาแฟที่เป็นศูนย์กลางการทำกิจกรรม จิตอาสาเพื่อชุมชนซึ่งทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมด้วยตัวเองง่ายๆ ในช่วงสุดสัปดาห์ เช่น เวิร์คช็อปสอนสมาร์ทโฟนสำหรับ ผู้สูงอายุ หรือ IT Can Do, เวิร์คช็อป การพับกระดาษ ถักไหมพรม สอนเล่น บอร์ดเกม เวิร์คช็อปเกี่ยวกับจักรยานที่สอนโดยจิตอาสาในชุมชน โดยมีการสื่อสารเชื่อมโยงสร้างเครือข่ายจิตอาสาผ่านทั้ง ทางแฟนเพจ และเว็บไซต์ รวมถึงใช้ คอมมูนิตี้คาเฟ่เป็นสื่อกลางในการให้ความรู้ด้านกระบวนการจิตอาสาสู่ชุมชน
"จิตอาสาที่มาสอนหลายคนเป็นคนในละแวกแถวนี้ ซึ่งบางคนก็มารู้จักกันที่ร้าน บางคนเคยเอาลูกมาร่วมกิจกรรมกับเราก่อน จนกระทั่งพัฒนามาเป็นจิตอาสา เอาความรู้ ความสามารถที่เขามี มาถ่ายทอดสู่คนอื่น คุณป้าที่เคยเป็นนักเรียน IT Can Do ซึ่งมีความสามารถในการทำน้ำสมุนไพร ก็ยินดีที่มาช่วยสอนแบ่งปันความรู้ สอนทำแล้วก็เอามาขายกันที่ร้านนี่แหละ นี่คือ รูปแบบการเป็น "ฮับ" ในชุมชนที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์ เป็นสังคมแห่งความเป็นพี่เป็นน้อง สังคมแห่งการแบ่งปัน ไม่ได้แบ่งแยกแบบสังคมเมืองที่บ้านติดกันแต่ไม่รู้จัก" สิริวัฒน์ เล่าถึงภาพของสังคมที่อยากเห็น ซึ่งเป็นความสุขที่เกิดขึ้นของการทำงาน เพื่อชุมชนซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นบ้านหลังใหญ่ และการทำร้านเป็นกิจการเพื่อสังคม โดยเหล่านักทำงานจิตอาสาพัฒนาสังคม "Can Do Team"