‘ACP’ ตัวช่วยดึงเด็กไทยออกจากหน้าจอ

ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ


ภาพประกอบจาก สสส.


'ACP' ตัวช่วยดึงเด็กไทยออกจากหน้าจอ thaihealth


เด็กหนึ่งคนจะเติบโตได้อย่างมีคุณภาพนั้นจะต้องถูกปลูกฝังทักษะหลาย ๆ ด้าน ทั้งทักษะการเรียนรู้ การเข้าสังคม การแสดงความคิดเห็น การใช้ชีวิต และทักษะการเล่นอย่างสร้างสรรค์


ด้วยเหตุนี้จึงเกิดเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศขึ้น เมื่อ 3 หน่วยงาน อย่าง สมาคมกีฬาแห่งประเทศญี่ปุ่น Japan Sport Association (JSPO) การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกันหานวัตกรรมและกิจกรรมที่จะมีส่วนส่งเสริมให้เด็กไทยได้มีกิจกรรมทางกายมากขึ้น เพื่อดึงเด็กออกมาเล่นนอกจอ และหันมาเล่นกีฬาออกกำลังกาย เพื่อให้ร่างกายเติบโตสมวัย เพิ่มพัฒนาการทางกล้ามเนื้อ นิ้ว มือ แขน ขา รวมถึงพัฒนาการทางสมอง และพัฒนาการทางสังคมอย่างรอบด้าน ภายใต้การดำเนินโครงการ "Active Child Program หรือ ACP" จัดขึ้นเมื่อวันที่ 21-22 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา


เพราะไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยพบข้อมูลสถานการณ์การเคลื่อนไหวในเด็กจากการจัดทำโครงการสำรวจกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กและเยาวชนไทย หรือ Report Card ร่วมกับอีก 37 ประเทศพบว่า เด็กไทยมีกิจกรรมทางกายทั่วไปในแต่ละวันและพฤติกรรมเนือยนิ่งอยู่ที่ระดับD- มีเด็กไทยร้อยละ 23.2 เท่านั้นที่มีกิจกรรมทางกายรวมกันทุกวันอย่างน้อยวันละ 60 นาทีต่อสัปดาห์ ขณะที่มีเด็กไทยร้อยละ 21.8 ที่มีพฤติกรรมเนือยนิ่งไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน


'ACP' ตัวช่วยดึงเด็กไทยออกจากหน้าจอ thaihealth


สสส. เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ร่วมรณรงค์เพื่อลดสถานการณ์ดังกล่าวดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักวิถีชีวิตสุขภาวะ (สำนัก 5) สสส. กล่าวถึงสถานการณ์กิจกรรมทางกายในเด็กและเยาวชนไทยว่า มีเด็กกว่าร้อยละ 13 ที่มีพฤติกรรมเนือยนิ่งติดต่อกันเกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งจะทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วนได้มาก ทำให้เด็กไทย 1 ใน 5 ตกอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงเกิดภาวะอ้วนที่เป็นต้นทางสู่โรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่นๆ ที่จะตามมาก่อนวัย สสส. จึงรณรงค์หากิจกรรมที่จะชวนให้เด็กได้ออกมาเล่นนอกหน้าจอสมาร์ทโฟน เช่น โครงการออกมาเล่น Active Play Active School นำร่อง 50 โรงเรียนทั่วประเทศ ที่ชวนเด็กออกมาแอ็กทีฟร่างกายทุก ๆ 60 นาทีทุกวัน เป็นการเล่นแบบอิสระแต่ได้เหงื่อ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นคนเดียวเล่นกัน 2 คน หรือเล่นกันเป็นกลุ่ม


ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวอีกว่า สสส. มีนโยบายส่งเสริมการเคลื่อนไหวในเด็กให้เหมาะสมตามช่วงวัย คือ เด็กอายุ 3-5 ปี ส่งเสริมให้รู้จักการเล่นให้เป็นขยับให้สนุก เด็กอายุ 6-8 ปี ส่งเสริมให้รู้จักการควบคุมกล้ามเนื้อมัดใหญ่ และเด็กอายุ 9-12 ปี ส่งเสริมให้รู้จักเล่นเป็นทีมมีน้ำใจนักกีฬา โดยใช้หลัก 10-20-30 คือ ทำกิจกรรม 10 นาทีก่อนเข้าเรียน 20 นาทีระหว่างวันหรือพักเที่ยง และ 30 นาที สำหรับกิจกรรมตอนเย็นรวมถึงจัดกิจกรรมโรดโชว์ในสถานศึกษาทั้ง 4 ภูมิภาค นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้เกิดพื้นที่สนามเด็กเล่นอย่างสร้างสรรค์ในชุมชนย่านเจริญกรุงผ่านการปรับปรุงสนามเด็กเล่นให้เอื้อต่อเด็กในชุมชนพัฒนาสื่อการเรียนรู้ของครูผู้สอนที่เหมาะสมในแต่ละวิชา และเปลี่ยนเรื่องงานบ้านให้กลายเป็นการเล่นที่สนุก รวมถึงยังทำโครงการโรงเรียนรักเดิน จัดทำคู่มือกรีฑาสำหรับเด็ก หรือ Kids' Athletics เป็นต้น


'ACP' ตัวช่วยดึงเด็กไทยออกจากหน้าจอ thaihealth


ด้าน นายก้องศักดิ์ ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทยขึ้นกล่าวเปิดงานสัมมนาโครงการ Active Child Program (ACP) ว่า1 ใน 4 พันธกิจของ กกท. คือการพัฒนาและนำองค์ความรู้นวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬาไปใช้ในการพัฒนาคน เพื่อให้เกิดบุคลากรทางการกีฬาและนักกีฬา ทั้งในระดับจังหวัด ระดับชาติ และนานาชาติซึ่งงานสัมมนาโครงการACPเป็นกิจกรรมที่ตอบโจทย์การทำงานของ กกท. โดยตรงเนื่องจากการปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนมีความแข็งแรง แข็งแกร่งและรักการออกกำลังกาย จะสามารถเติบโตขึ้นมาเป็นนักกีฬาแข่งขันทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ ต้องขอขอบคุณ JSPOที่มอบโอกาสเลือกให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่จัดการอบรมสัมมนาด้วยตนเอง เชื่อว่าในอนาคตเด็กไทยจะได้ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวร่างกายมากขึ้น ได้เล่นกีฬา เล่นการละเล่นที่สนุกและมีความสุขมากยิ่งขึ้น


'ACP' ตัวช่วยดึงเด็กไทยออกจากหน้าจอ thaihealth


ส่วน Ms.Onodera Harumi ในฐานะผู้จัดการฝ่ายต่างประเทศ ฝ่ายส่งเสริมการกีฬาระหว่างประเทศ สมาคมการกีฬาแห่งประเทศญี่ปุ่น (JSPO) ให้ข้อมูลว่า 26 ปีที่ผ่านมา JSPO จัดกิจกรรมอบรมเพื่อพัฒนาเด็กใน 10 ประเทศอาเซียน โดยกิจกรรมนี้เป็นการเปิดนำร่องที่ไทยเป็นที่แรกก่อนจะขยายผลสู่ประเทศอาเซียนทั้งหมด โปรแกรม ACP คือการนำเอาการละเล่นของญี่ปุ่นมาดัดแปลงให้เข้ากับเด็กไทย เพื่อเพิ่มกิจกรรมทางกายและพัฒนาการทางร่างกายของเด็กตั้งแต่ขวบปีแรกไปจนถึงมัธยมต้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวร่างกายในวัยเด็กอย่างเพียงพอก็จะส่งเสริมให้เด็กสุขภาพดีและต่อยอดเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่


"อย่างเกมวิ่งไล่ชิงผ้าขนหนูจากญี่ปุ่นจะส่งเสริมให้รู้จักการออกแรงแบบฉับพลัน ความทนทานของร่างกาย ความว่องไว เกมทำตามคำสั่งพร้อมกันจะช่วยส่งเสริมทักษะการเคลื่อนที่และเพิ่มพละกำลังสำหรับกระโดด และเกมจับมือวิ่งไล่จับจะช่วยส่งเสริมการออกแรงแบบฉับพลัน เพิ่มความทนทานและความว่องไวของร่างกาย เพิ่มทักษะการพัฒนากล้ามเนื้อ หากประเทศไทยนำการละเล่นพื้นบ้านมาประยุกต์ก็จะช่วยดึงเด็กออกจากหน้าจอแล้วออกมาเล่นอย่างอิสระได้มากขึ้น เช่น วิ่งไล่จับ เล่นแปะแข็ง เกมทอดแหจับปลา เกมงูกินหาง เป็นต้น" Ms.Onoderaสรุปทิ้งท้าย

Shares:
QR Code :
QR Code