+6 -3 รหัสลับรายการโทรทัศน์ในดวงใจครอบครัว
หลายคนอาจสงสัยกับเลข +6 -3มีความเกี่ยวข้องกับรายการโทรทัศน์ในดวงใจครอบครัวได้อย่างไร?
เครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ ภายใต้การสนับสนุนของแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดมอบรางวัลรายการโทรทัศน์ในดวงใจครอบครัว ปี 3 Family Awards 2011 โดยคัดเลือกรายการโทรทัศน์ที่ทำรายการดีและมีความเหมาะสมให้ได้รับรางวัลดังกล่าว
นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ความหมายของ “ดี”คือต้องมีสาระประโยชน์ 6 ประเด็นที่มีเนื้อหาที่ควรส่งเสริม (+6) ประกอบด้วย 1.ส่งเสริมให้เกิดระบบวิธีคิด 2.ส่งเสริมความรู้วิชาการ 3.ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาด้านคุณธรรมและจริยธรรม 4.ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้เกี่ยวกับทักษะชีวิต 5.ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ยอมรับ เข้าใจ และชื่นชมความหลากหลายของสังคม และ 6.ส่งเสริมการพัฒนาความสัมพันธ์ในครอบครัว
สำหรับ (-3) หมายความถึง เนื้อหาที่ควรมีการจำกัด 3 ประเด็นคือ พฤติกรรมความรุนแรง เรื่องเพศ และภาษาที่ไม่เหมาะสม อย่างไรก็ตามสถานการณ์การผลิตรายการโทรทัศน์ในบ้านเราขณะนี้ถือว่ามีการปรับปรุงและพัฒนาที่ดีขึ้นมาก และพ่อแม่จำนวนมากอาจไม่ได้ตระหนักถึงบทบาทของโทรทัศน์ที่มีต่อพัฒนาการและการเรียนรู้ของลูก แม้โลกจะก้าวสู่ยุคดิจิตอลแล้วก็ตาม แต่โทรทัศน์ก็ยังเป็นส่วนสำคัญในชีวิตของครอบครัว โดยเฉพาะเด็กปฐมวัย หากพ่อแม่สามารถดูแลลูกให้ใช้เวลาและดูรายการที่เหมาะสม ประกอบกับมีผู้ผลิตและบริหารสื่อที่สร้างสรรค์สื่ออย่างมีคุณภาพ ส่วนรัฐก็เข้ามาจัดการควบคุมดูแลอย่างเหมาะสมด้านองค์กรที่เป็นกลางและมีธรรมาภิบาล สังคมไทยก็จะสามารถใช้ทรัพยากรนี้เพื่อพัฒนาการเด็กแทนที่จะสร้างปัญหาตามมา
สำหรับการมอบรางวัลในปีนี้ จัดขึ้นเป็นปีที่ 3 โดยนางอัญญาอร พานิชพึ่งรัก ประธานเครือข่ายครอบครัวฯ บอกว่า การมอบรางวัล Family Awards 2011 จัดขึ้นเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจต่อผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ที่มีความตั้งใจผลิตสื่อดีและมีความเหมาะสม อีกทั้งเป็นการส่งเสริมรายการที่มีความถูกต้องตามหลักการของกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งการคัดเลือกรายการที่มีความเหมาะสมนั้นมาจากผู้ชมซึ่งเป็นครอบครัวทั่วประเทศ โดยมีการจัดทำแบบสำรวจความคิดเห็นกลุ่มตัวอย่างแบบสุ่ม ผ่านจำนวนชุดตัวอย่างทั้งสิ้น 9,079 ชุด โดยจัดส่งแบบสำรวจทางไปรษณีย์ การลงพื้นที่จัดกิจกรรมตลอดจนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ รายการที่จะนำมาพิจารณาในที่นี้จะประกอบด้วยประเภทรายการ “ท” รายการ “น13” และรายการ “น18” และจากผลการประมวลในปีนี้เราได้พัฒนาและขยายประเภทรางวัลเพิ่มเติมเป็น 2 ประเภทหลักได้แก่รางวัลมาตรฐานและรางวัลพิเศษ
ประเภทรางวัลมาตรฐาน ประเภทรายการ “ป3+” คือรายการการ์ตูน รอบรู้เจ้าหนูชิต ออกอากาศทางทีวีไทยทุกวันศุกร์, รายการ “ด6+” รายการ กล่องนักคิด ทางทีวีไทยทุกเช้าวันเสาร์ ประเภทสัญลักษณ์ “ท” มี 2 รางวัล อันดับรายการ ทุ่งแสงตะวัน ทางช่อง 3 ทุกเสาร์ อันดับ 2 คือรายการ คบเด็กสร้างบ้าน ทางช่อง 7 ทุกเย็นวันพฤหัสบดี ประเภทสัญลักษณ์ “น13+” ได้แก่รายการ บันทึกกรรม ทางช่อง 3 ออกอากาศทุกวันเสาร์ และประเภทสัญลักษณ์ “น18+” คือรายการ เรื่องจริงผ่านจอ ทางช่อง 7 ทุกคืนวันพฤหัสบดี
ประเภทรางวัลพิเศษ เป็นรางวัลรายการโทรทัศน์เกียรติยศในดวงใจครอบครัว (Hall of Fame) เป็นรางวัลใหม่ที่เกิดขึ้นในปีนี้ โดยเป็นรางวัลสำหรับรายการโทรทัศน์ที่ได้รับรางวัลรายการโทรทัศน์ในดวงใจครอบครัว (Family Awards) 3ปีติดต่อกันเพื่อยกย่องว่ารายการนั้นเป็นรายการที่อยู่ในดวงใจครอบครัวที่มีคุณภาพทั้งเนื้อหาสาระที่ดีและเหมาะสม ประกอบกับได้รับความนิยมจากครอบครัวทั่วประเทศ ซึ่งก็ตกเป็นของบริษัท ทีวีบูรพา จำกัด ทั้ง 2 รายการคือรายการ กบนอกกะลา และรายการ คนค้นฅน ทางช่อง 9 อสมท นอกจากนี้ยังมีรางวัลรายการโทรทัศน์ที่ส่งเสริมคุณค่าแก่สังคมด้านความรักความสามัคคี คือรายการ ครอบครัวเดียวกัน ทางทีวีไทย ด้านความซื่อสัตย์คือรายการ ธรรมะคือคุณากร ช่อง 11 และส่งเสริมด้านจิตอาสา คือรายการ 76 จังหวัดตามหาคนดีช่อง 5
นายสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ หรือ “พี่เช็ง”ของน้องๆ แห่งบริษัททีวีบูรพา จำกัด ที่เรารู้จักกันดีกับบทบาทการเป็นพิธีกร และผู้สร้างสรรค์รายการดีของบริษัททีวีบูรพา ที่มีถึง 2 รายการเข้ารับรางวัลพิเศษในครั้งนี้ คือรายการกบนอกกะลาและคนค้นฅนทางโมเดิร์นไนน์ทีวี โดยพี่เช็ง บอกว่า ในเวลา 10 ปีของการทำรายการล้วนมาจากการค้นหาความดีของคนมายกย่อง สรรเสริญให้เกิดเป็นแง่คิดของใครอีกหลายคน ตลอดเวลาเรายึดหลักคำของหลวงพ่อชา ที่บอกว่า “ดูสิมองข้ามกันไปหมด ผ้าสกปรกไม่ฟอก แต่อยากจะรับน้ำย้อม” นั่นหมายความว่า ทุกคนพากันทำบุญ แต่ไม่รับบาป สิ่งเหล่านี้เป็นตัวตั้งต้นในการใช้เป็นจุดหมายในการทำงานของพวกเรา ซึ่งในการทำรายการทีวีเป้าหมายที่กำหนดไม่ใช่เพียงเรื่องของผลกำไร ความร่ำรวย แต่สิ่งสำคัญในฐานะคนที่นับถือศาสนาพุทธ คือการทำดีทั้งต่อตนเองและผู้อื่น คือสิ่งที่ถูกและมีคุณค่า โดยเฉพาะการรับผิดชอบต่อสังคม
“ในฐานะคนทำรายการทีวี เราพยายามสร้างสรรค์นอกจากให้เกิดเป็นรายการดี มีสาระแล้ว เราจะถามเสมอว่าเราต้องการให้สังคมเป็นแบบไหน ถ้าผมอยากให้ลูกผมได้ดูรายการทีวีที่ดี ที่ดูแล้วไม่มีความห่วงใย ผมก็จะทำรายการแบบนั้น อำนาจของสื่อโทรทัศน์นับเป็นอำนาจที่มีพลังที่สามารถนำไปใช้เพื่อเป้าหมายได้หลายอย่าง แต่โดยความรับผิดชอบที่เราคาดหวังสังคมและคิดพยายามหาเงินจากมันให้มากที่สุด คิดว่าคงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างมาก เพราะจริงๆ แล้วเราสามารถใช้รายการทีวีให้เป็นเครื่องมือสร้างสิ่งดีงามของสังคมและผู้คนได้” พี่เช็งกล่าว
นายณฤทธิ์ ยุวบูรณ์ ผู้อำนวยการผลิตรายการบันทึกกรรม ออกอากาศทางช่อง 3 ทุกวันเสาร์เวลา 16.15-17.00 น. กล่าวว่า รู้สึกดีใจและปลาบปลื้มกับรางวัลนี้อย่างมาก เพราะถือเป็นรางวัลแรกที่ทางรายการได้รับ โดยรายการบันทึกกรรมออกอากาศมาแล้วกว่า 100 ตอน ที่ต้องการเตือนสังคมในเรื่องของการทำบุญ การทำบาปตามหลักศาสนาพุทธ โดยจะเน้นการนำเสนอเรื่องของการทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว และกฎแห่งกรรม สำหรับรายการที่นำเสนอนั้นมีจุดเด่นที่นำเสนอเป็นลักษณะของหนัง ที่ได้รับเกียรติจากผู้กำกับมืออาชีพทั่วประเทศมาร่วมกำกับในทุกตอน ซึ่งช่วงแรกคนดูอาจจะเข้าใจยาก แต่เราก็พยายามพัฒนานำเสนอให้มีความเข้าใจง่ายมากขึ้น และโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายรออยู่ที่กำลังพัฒนาคือการนำเสนอเป็นลักษณะหนังของดิสนีย์ ที่ดูแล้วเข้าใจง่ายๆ สนุก ซึ่งก็ถือว่ายากที่จะนำเรื่องของกฎแห่งกรรมมาทำเป็นรูปแบบนี้ แต่เป้าหมายคือการคำนึงถึงให้ผู้ชมสำนึกดี สอนให้ข้อคิดคติการทำดี ละอายต่อบาป
ด้าน ณัฐชไม รุ่งปัญญา Productin Director จากรายการกล่องนักคิด ออกอากาศทางทีวีไทย ทุกวันเสาร์ เวลา 08.30-08.59 น. กล่าวด้วยความยินดีว่าดีใจและภูมิใจมากที่ได้รับรางวัลนี้ถือเป็นเกียรติกับรายการอย่างมาก โดยแก่นแท้ของรายการจริงๆ คือการออกแบบมาให้เด็กมีเวทีแห่งความคิด ระเบิดความคิดที่อิสระ ให้เด็กกล้าแสดงออกทางความคิด สร้างสรรค์สำหรับเด็ก ซึ่งจุดนี้อาจเป็นจุดเด่นที่ทำให้คณะกรรมการตัดสินให้รายการนี้ได้รับรางวัล เพราะที่ผ่านมารายการที่ส่งเสริมความคิดสำหรับเด็กยังมีน้อยอยู่มาก อย่างไรก็ตามทางรายการได้เปิดโอกาสให้เด็กทุกกลุ่ม ทั้งเด็กที่ด้อยโอกาส ขาดโอกาสทางสังคม เด็กเร่ร่อน เด็กที่อยู่ในชุมชนแออัด รวมทั้งเด็กที่มีโอกาสทางการศึกษาได้ร่วมรายการทุกคน
“เราเชื่อว่าเด็กทุกคนมีกล่องความคิดของตนเอง แค่เราเอาเนื้อหายากๆ ให้เด็กหัดสังเกต สรุปผล และข้อสรุปที่ได้คือเด็กจะรู้สึกสนุกมากที่เขาได้ระเบิดความคิดออกมา เป็นการบริหารสมองและจินตนาการของเด็กๆ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างนักคิดที่ดีในอนาคต และจะทำให้ประเทศไทยไม่ได้กลายเป็นนักก็อปปี้ชาติอื่นๆ อีกต่อไป”ณัฐชไมกล่าว
รางวัลโทรทัศน์ในดวงใจครอบครัวครั้งนี้ แม้จะเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความประสบความสำเร็จของหลายรายการ แต่ก็นับเป็นอีกหนึ่งหนทางที่จะทำให้คนทำสื่อ ที่มีอิทธิพลต่อคนในประเทศได้นึกย้อนมองสังคม เพื่อเด็ก เยาวชนและครอบครัว ก้าวต่อไปในปีหน้าจะมีรายการใดที่จะอยู่ในดวงใจครอบครัวคงต้องติดตามเพื่อเป็นกำลังใจให้กับรายการดีๆ ที่เผยโฉมอยู่หน้าจอทีวีบ้านเราต่อไป
เรื่องโดย : สุนันทา สุขสุมิตร Team content www.thaihealth.or.th