6 องค์กร MOU พัฒนางานวิจัยทางการแพทย์ สู่ระดับประเทศ

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


ภาพประกอบจาก สสส.


6 องค์กร MOU พัฒนางานวิจัยทางการแพทย์ สู่ระดับประเทศ thaihealth


6 องค์กรลงนามความร่วมมือ "พัฒนางานประจำสู่งานวิจัยระดับประเทศ" ชี้ช่วยพัฒนาคน-งาน ลดค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาล สสส.หนุนงาน R2R เพิ่มสัดส่วนงานส่งเสริมสุขภาพเชิงรุก


เมื่อวันที่ 7 ก.พ.62 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือ ในการดำเนินการสนับสนุนการพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย (Routine to Research : R2R) ระดับประเทศ ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดย นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ., คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โดย ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ฯม.มหิดล, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)โดย ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส., สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล(องค์การมหาชน) (สรพ.)โดย นพ.กิตตินันท์ อนรรฆมณี ผู้อำนวยการ สรพ., สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดย นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขโดย นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการ สวรส.


ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า สธ.สนับสนุนให้บุลคลากรทุกระดับได้พัฒนางานประจำสู่งานวิจัย นำปัญหาที่พบขณะปฏิบัติงานจริงมาศึกษาวิจัย และนำผลวิจัยปรับปรุงกระบวนการทำงานให้ดียิ่งขึ้น ตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการ โดยสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับบริบทแต่ละแห่งได้ด้วยตนเอง ผลที่ได้นอกจากการพัฒนาคุณภาพหลักฐานเชิงประจักษ์ จากงานวิจัยที่น่าเชื่อถือแล้ว ยังส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาตนเอง พัฒนาองค์กร ส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับการบริการที่ดีขึ้น ปลอดภัยมากขึ้น และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลลดลง รวมถึงความพึงพอใจของผู้ป่วยและญาติสูงขึ้น


นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ. กล่าวว่า ผลจากงาน R2R นอกจากจะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้น ยังส่งผลย้อนกลับมาทำให้ผู้ปฏิบัติงานมีความสุข จากการเรียนรู้และพัฒนางานที่ตนเองทำด้วยความสุขด้วย ยกตัวอย่าง รพ.ปทุมธานี ที่พบมารดาตกเลือดหลังคลอดใน รพ.ชุมชน (ปี 2558) เกิดภาวะช็อค 16 ราย และเสียชีวิตปีละ 1 ราย จึงได้ลงมือพัฒนาระบบการดูแลผู้คลอด และทำวิจัย R2R กว่า 10 เรื่อง ในเวลา 4 ปี จนได้แนวปฏิบัติในการดูแลผู้คลอดที่เหมาะสม เช่น มีการใช้ถุงตวงเลือดเพื่อประเมินการเสียเลือดที่แม่นยำ มีแนวทางการรักษาภาวะตกเลือดหลังคลอดก่อนภาวะช็อค มีระบบการให้คำปรึกษาจาก รพ.ปทุมธานี มีการสำรองเลือด ยาที่จำเป็น (Misoprostol) ไว้ใช้ใน รพ.ชุมชนทุกแห่ง มีการฝึกอบรมทีมบุคลากรและเตรียมความพร้อมของอุปกรณ์ช่วยชีวิต ทำให้ปัจจุบันไม่พบการตกเลือดหลังคลอด จนเกิดภาวะช็อคและเสียชีวิตทั้งจังหวัดปทุมธานี


6 องค์กร MOU พัฒนางานวิจัยทางการแพทย์ สู่ระดับประเทศ thaihealth


ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส.สนับสนุนการขับเคลื่อน งาน R2R ทั่วประเทศ เพราะเห็นประโยชน์จากการพัฒนางาน R2R ซึ่งส่งผลต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบสุขภาพในทุกบริบท ตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ จนถึงตติยภูมิทั้งด้านการบริการ การรักษาพยาบาล การบริหารจัดการ รวมทั้งการสร้างเสริมสุขภาพ โดย สสส.เข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่ปี 2556 พบว่างาน R2R เพิ่มขึ้นจากกว่า 200 เรื่องในปี 2556 เป็น 941 เรื่อง ในปี 2561 และได้ขยายผลงาน R2R ด้านสร้างเสริมสุขภาพและด้านพัฒนาคุณภาพในประเด็นตามปัจจัยเสี่ยงหลักเชิงพื้นที่ และเชิงประเด็นที่ทำงานในเรื่อง เหล้า บุหรี่ อาหาร การออกกำลังกาย อุบัติเหตุ และโรคเรื้อรัง (Non Communicable Diseases) ที่มีผลต่อประชาชน 10 ประเด็นต่อปี ซึ่งมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดย สสส.สนับสนุนให้ภาคี เครือข่ายของ สสส.หรือนักสร้างเสริมสุขภาพ ที่ทำงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ทั้งผู้ที่อยู่ในระบบบริการสุขภาพ คือ บุคลากรทางการแพทย์ สหสาขาวิชาชีพ และผู้ที่อยู่นอกระบบบริการสุขภาพ เช่น เครือข่ายภาคประชาชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พัฒนางาน R2R ในประเด็นปัจจัยเสี่ยง คือ ยาสูบ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อุบัติเหตุ การป้องกันโรคไม่ติดต่อ โดยนำแนวคิด R2R ไปปรับใช้ในการทำงานของแต่ละภาคีเครือข่ายอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งการลงนามความร่วมมือครั้งนี้ จะทำให้เกิดการจัดตั้งเครือข่ายวิจัย R2R ในทุกระดับ มีการพัฒนาและสนับสนุนวิชาการในรูปแบบของฐานข้อมูล เพื่อเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่อไป


ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ผลของการขับเคลื่อน R2R ในคณะฯ ทำให้บุคลากรศิริราชเกิดการพัฒนาอย่างมาก ยกระดับผู้ปฏิบัติงานประจำ ให้เป็นผู้ที่สามารถสร้างและใช้ความรู้ที่เหมาะสมได้ด้วยตนเอง โดยผ่านการสร้างงานวิจัยทำให้เกิดการดำเนินการปรับปรุงและพัฒนางานประจำที่ทำอยู่ ให้มีคุณภาพทั้งด้านการรักษาและการบริการดีขึ้น จนประสบความสำเร็จ ส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับการบริการที่ดีขึ้น ปลอดภัยมากขึ้น และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลลดลง รวมถึงความพึงพอใจของผู้ป่วยและญาติสูงขึ้น ผลจากงานได้ย้อนกลับมาทำให้ผู้ปฏิบัติงานมีความสุข จากการเรียนรู้และพัฒนางานที่ตนเองทำด้วยความสุข

Shares:
QR Code :
QR Code