5 ผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ ร่วมประชันกึ๋น
เปิดเวทีแสดงวิสัยทัศน์กลางย่านช็อปปิ้ง
การเมืองกรุงเทพฯ ร้อน เมื่อ 5 ผู้สมัครฯ ผู้ว่าฯ งัดนโยบายพัฒนา กทม. ร่วมตอบคำถามจากเวที 4 มุมเมือง ประชันความคิดบนเวทีสาธารณะกลางเมือง
(8 ม.ค.) ศูนย์การค้าสยามพารากอน : ทีวีไทย ทีวีสาธารณะ ร่วมกับ เครือข่ายพลเมืองเปลี่ยนกรุงเทพฯ เปิดเวที “วิสัยทัศน์ เปลี่ยนกรุงเทพ” โดยมี 5 ผู้สมัครผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร, ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล, นายยุรนันท์ ภมรมนตรี, นายแก้วสรร อติโพธิ และนางลีน่า จังจรรจา ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ นโยบาย และตอบคำถามจากเสียงสะท้อนของคนกรุงเทพฯ ถึงปัญหาสำคัญ ที่ควรเร่งแก้ไข เพื่อเปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่เจริญอย่างยั่งยืน ก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 11 ม.ค.52
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ หมายเลข 2 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า กทม.ควรจัดพื้นที่สร้างสรรค์ให้กับเด็กและเยาวชน โดยจัดหาลานกีฬา ลานกิจกรรมให้มีเพิ่มขึ้น ควบคู่กับการส่งเสริมให้เยาวชนเกิดความตระหนัก และภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรมที่ดีงามของเกาะรัตนโกสินทร์ และเกิดจิตสาธารณะ จิตอาสาในการที่จะอุทิศประโยชน์ให้กับสังคมส่วนรวม นอกจากนี้จะเปิดเว็บไซด์เฉพาะสำหรับเยาวชน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิด ข้อเสนอแนะให้กับผู้ว่าฯ โดยตรง เป็นการเปิดโอกาสให้กับเยาวชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนากรุงเทพฯ อย่างแท้จริง
“ส่วนในเรื่องของการจัดพื้นที่ทางวัฒนธรรม ต้องมีการปลูกฝังให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาและพัฒนาให้มีความเหมาะสม ไม่เพียงแต่อาคาร สถานที่เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการอนุรักษ์มรดกทางด้านวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนและชุมชนอีกด้วย” ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าว
นายยุรนันท์ ภมรมนตรี ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.หมายเลข 10 สังกัดพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ปริมาณขยะมูลฝอยในกรุงเทพฯ มีมากถึงวันละหนึ่งหมื่นตัน ซึ่งกว่า 30 เปอร์เซ็นต์สามารถเปลี่ยนเป็นเงินได้ โดยในเบื้องต้นจะมีการรณรงค์สร้างจิตสำนึกให้ประชาชนรู้จักแยกขยะเป็นประเภทต่างๆ และทาง กทม. จะจัดถุงแยกขยะให้กับทุกครัวเรือน และจัดรถรับซื้อขยะรีไซเคิลถึงบ้าน ส่วนปริมาณของขยะอีกประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์จะนำไปทิ้งในสถานที่ที่เป็นระบบปิด และย่อยสลายขยะด้วยน้ำยาชีวภาพ เพื่อลดกลิ่นเหม็น ป้องกันไม่ให้เกิดโรค และนำขยะไปทำปุ๋ยและก๊าซหุงต้มได้
ด้านม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.หมายเลข 8 ไม่สังกัดพรรคการเมือง กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำกันในสังคม และปัญหาคนที่ไม่มีทะเบียนบ้านนั้น กทม.ต้องประสานงานกับการเคหะแห่งชาติจัดหาพื้นที่ที่จะนำประชาชนเข้าไปอาศัยอยู่ในแฟลตของการเคหะแห่งชาติอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนผู้ที่พักอาศัยในพื้นที่ที่ไม่ได้อยู่ในอาณัติของ กทม. เช่น การรถไฟ กรมธนารักษ์ฯลฯ กทม.จะต้องเป็นคนกลางเข้าไปประสานงาน เมื่อคนมีที่อยู่ที่ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ปัญหาในเรื่องของผู้ที่ไม่มีทะเบียนบ้านก็จะหมดไป
“ในเรื่องการสร้างรายได้ให้กับประชาชนก็เป็นเรื่องหลักที่ต้องทำภายใน 3 เดือนแรกหากได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. โดยจะจัดตลาดนัดแรงงานเพื่อช่วยหาอาชีพให้กับผู้ที่ตกงาน หากยังหางานไม่ได้จะจัดส่งไปที่ศูนย์ฝึกวิชาชีพของ กทม. เป็นการสร้างรายได้ให้กับผู้ที่ตกงานอีกทางหนึ่ง” ม.ล.ณัฏฐกรณ์กล่าว
ด้านนายแก้วสรร อติโพธิ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.หมายเลข 12 สังกัดกลุ่มกรุงเทพใหม่ กล่าวว่า เสียงรบกวนจากการขึ้นลงของเครื่องบินรอบๆ สนามบินสุวรรณภูมิเป็นปัญหาที่สำคัญมาก หากมีโครงการที่จะสร้างสนามบินนานาชาติ รัฐบาลควรจะออกประกาศกำหนดไว้แล้วว่า พื้นที่ในแถบนี้เป็นทางขึ้นลงของเครื่องบิน หากเข้ามาอยู่อาศัยอาจเกิดปัญหาด้านสุขภาพตามมาได้ ฉะนั้น ผู้นำที่ได้รับเลือกเข้ามาควรจะต้องเร่งพัฒนาและวางผังเมืองอย่างจริงจัง
นางลีน่า จังจรรจา ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.หมายเลข 3 ไม่สังกัดพรรคการเมือง กล่าวว่า ในกรุงเทพฯ มีตึกร้างและพื้นที่รกร้างที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ หากได้เป็นผู้ว่าฯ จะเข้าไปเช่าพื้นที่เหล่านี้มาสร้างให้เกิดประโยชน์ เกิดรายได้ โดยจะเปิดเป็นที่จอดรถ หรือศูนย์การค้าให้กับนักศึกษา หรือผู้ที่ตกงานโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ เพื่อสร้างรายได้ให้เกิดขึ้น นอกจากนี้ยังมีจะทำโครงการบัตรอัจฉริยะ 88 บาท สามารถขึ้นรถไฟฟ้า รถประจำทาง หรือเรือโดยสารได้ 8 ครั้ง เป็นการช่วยประหยัดเวลาในการต่อแถวซื้อตั๋วเดินทาง เพื่อให้คนกรุงเทพฯ ได้กลับไปใช้เวลาอยู่กับครอบครัวเร็วขึ้น
เรื่องโดย : พิจิตรา โล้วิชากรติกุล team content www.thaihealth.or.th
update : 14-01-52