‘3ต้นแบบ’ สนามเด็กเล่นสุดครีเอทีฟ
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
สนามเด็กเล่นเป็นโลกอีกใบของเด็กๆ เป็นพื้นที่ที่ทำให้เกิดมิตรภาพ รอยยิ้ม ความสนุกสนานผ่อนคลายจากการเรียน โดยเฉพาะสนามที่มีเครื่องเล่นต่างๆ จะช่วยให้น้องๆ ได้ออกกำลังกาย พร้อมกับเสริมสร้างพัฒนาการต่างๆ ไปในตัว
แต่ปัจจุบันสนามเด็กเล่นบางแห่งกลับเป็นลานกว้างที่ว่างเปล่า หรือมีเพียงสไลเดอร์ ชิงช้า ม้าหมุน ตั้งอยู่ไม่กี่ตัวเท่านั้น ที่สำคัญคือ ไม่มีน้องๆ มาเล่นกันอย่างคึกคัก เหตุผลหนึ่งมาจากเด็กๆ ไม่มีเวลา เพราะพ่อแม่ ผู้ปกครองมุ่งให้ลูกเรียนเพียงอย่างเดียว ไม่ยอมให้ออกไปเล่นนอกบ้านตามลำพัง นอกจากนี้ยังมีอีกหลายๆ เหตุผลที่ทำให้เด็กบางคน ไม่มีโอกาสได้สัมผัสกับเครื่องเล่นในสนามเด็กเล่น
ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) จึงได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ออกแบบ "สนามเด็กเล่นสุดครีเอทีฟ" ที่มี 3 ต้นแบบสนามเด็กเล่น ได้แก่ โคเพลย์อิ้ง เพลย์กราวด์ (Co-Playing Playground), แอคทีฟเลิร์นนิ่งเพลย์กราวด์ (Active Learning Playground) และเฮาส์โฮลด์แฮ็ก (Household Hack) ภายในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2561 โดย 3 นวัตกรรมดังกล่าวถูกออกแบบเพื่อต่อยอดโครงการแอคทีฟ เพลย์ ของ สสส. ที่เน้นการกระตุ้นการเรียนรู้และการพัฒนาสมรรถภาพด้านร่างกายในเด็กวัย 6-14 ปีในพื้นที่สำคัญ ได้แก่ ชุมชน โรงเรียน และที่บ้าน โดยเริ่มนำร่องทดสอบในย่านสร้างสรรค์เจริญกรุง เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาต่อไป
3 ต้นแบบสนามเด็กเล่น แต่ละแบบจะมีความแตกต่างกัน อย่างสนามโคเพลย์อิ้ง เพลย์กราวด์ เป็นการปรับปรุงสนามเด็กเล่นให้เอื้อต่อการเล่นร่วมกันของเด็กและเยาวชนในชุมชน, แอคทีฟเลิร์นนิ่งเพลย์กราวด์ เป็นการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ของครูผู้สอนที่เหมาะสมในแต่ละวิชา โดยเน้นการเรียนรู้ในในรูปแบบ Active Learning และเฮาส์โฮลด์แฮ็ก หมายถึงการประยุกต์ใช้อุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้าน ที่ทำให้เรื่องงานบ้านกลายเป็นการเล่นที่สนุกสนาน
กิตติรัตน์ ปิติพานิช รักษาการผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ กล่าวว่า ปัจจุบันเด็กติดอยู่กับโซเชียลใช้เวลานาน อาจจะทำให้มีผลกระทบต่อการพัฒนาการเติบโต โครงการนี้จึงเหมือนการสร้างแรงกระตุ้นให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูได้เห็นถึงประโยชน์ของสนามเด็กเล่น และการเล่นเครื่องเล่น จะสร้างการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กๆ กับเพื่อน อีกทั้งยังเป็นการออกกำลังกาย เด็กๆ จะได้เจริญเติบโตอย่างแข็งแรงและมีศักยภาพ นอกจากนี้โครงการดังกล่าวยังเป็นการทดลองเพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดขยายไปสู่พื้นที่อื่นๆ ต่อไป
ดลพร ชนะชัย หนึ่งในทีมออกแบบโครงการแอคทีฟ เพลย์ กล่าวว่า จากโจทย์ที่ได้รับในการออกแบบเครื่องเล่นเพื่อให้เด็กได้เคลื่อนไหว มีพัฒนาการจากการเล่นมากขึ้นในพื้นที่บ้าน โรงเรียน และชุมชน ซึ่งมีความต้องการแตกต่างกัน สำหรับการออกแบบสนามเด็กเล่นในบ้าน เป็นการประยุกต์จากอุปกรณ์ทำความสะอาด อย่างถังขยะ ไม้กวาด ที่ตักผง อุปกรณ์ที่เห็นเป็นประจำ มาออกแบบให้เป็นเครื่องเล่นที่ใช้พื้นที่ไม่มากนัก เช่น การออกแบบถังขยะให้เป็นถังขยะซูเปอร์ชู้ต ไม้กวาดไดรฟ์กอล์ฟ ที่จะกระตุ้นกล้ามเนื้อแขนผ่านการกวาดลูกกอล์ฟให้ลงหลุมบนที่ตักขยะ ผู้ปกครองยังมีส่วนร่วมได้ด้วย
ในส่วนของโรงเรียน ที่แม้ว่าจะมีสนามเด็กเล่นอยู่แล้ว แต่เด็กบางคนอาจจะไม่ได้เล่นหรือเล่นได้ไม่เต็มที่ ด้วยเวลาพักที่มีจำกัด ดังนั้นจึงได้ออกแบบอุปกรณ์การเล่นที่ใช้ห้องเรียนเป็นสนามเด็กเล่น ช่วยให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้อย่างสนุก เช่น การเล่นสายรัดข้อมือแก้โจทย์คณิตคิดเร็ว ที่ออกแบบให้มีช่องพลาสติกใสสำหรับใส่คำตอบ หรือโจทย์คำนวณ ที่มาพร้อมกับสีสันสดใสและไม่ระคายผิว และอีกมากมาย
สำหรับชุมชน มีชุมชนมัสยิดฮารูณเป็นตัวอย่างในการออกแบบ เพราะบางชุมชนมีพื้นที่เป็นลานกว้างๆ ให้เด็กเล่นเท่านั้น เช่น สามารถเล่นฟุตบอลได้ แต่ก็จะมีทั้งเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปีและมากกว่า 14 ปี ดังนั้นจึงได้ออกแบบโดยใช้ระบบยูนิตที่เห็นแล้วเกิดความรู้สึกอยากเล่น อยากขยับตัว อยากออกแรง อย่างบ้านไม้ของเล่นที่ถูกแบ่งออกเป็นโซนต่างๆ อาทิ โซนวิ่งออกกำลังแบบวงล้อเพื่อกระตุ้นกล้ามเนื้อขาและการทรงตัวที่รองรับการเล่นทั้งสำหรับเด็กโตและเด็กเล็ก มีทั้งโซนเด็กเล็กและเด็กโต นอกจากนี้ยังมีการเล่นที่ใช้การคำนวณ เพราะนอกจากสนุกแล้วเด็กยังได้คิด ได้ความรู้ด้วย
ด้าน นางชนิดา สุวีรานนท์ จากเพจเรไรรายวัน กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นแม่ที่มีลูกเล่นโซเชียล เช่น การดูยูทูบ แต่ไม่ถึงขั้นที่ติดมาก เพราะตนได้พาลูกออกไปทำกิจกรรมออกกำลังกาย ไปสนามเด็กเล่น แต่ที่น่าเสียดายคือมีน้อย บางที่ดูไม่ปลอดภัย ยิ่งหากใครที่มีลูกหลายคน การดูแลก็จะยิ่งยาก ในการดูแลเวลาเล่นเครื่องเล่นต่างๆ ทำให้การเล่นที่สนามเด็กเล่นนั้นลดน้อยลง แต่หากมีสนามเด็กเล่นแบบที่โครงการแอคทีฟ เพลย์ ขยายไปยังพื้นที่ต่างๆ ก็จะเป็นสิ่งที่ดีในการเสริมพัฒนาให้กับเด็ก และอีกอย่างคือ ทุกแห่งต้องมีสไลเดอร์ ชิงช้า ห่วงปีน และลูกบอล นี่คือเครื่องเล่น 4 ชนิดที่เด็กๆ จะวิ่งเข้าหา ซึ่งอาจจะนำมาผสมผสานกับเครื่องเล่นที่ทางโครงการได้ออกแบบก็จะดีมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม สนามเด็กเล่นสุดครีเอทีฟทั้ง 3 ต้นแบบ มีการติดตั้ง ณ ชุมชนมัสยิดฮารูณ ซอยเจริญกรุง 36 กรุงเทพฯ ถึงแค่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2561 แต่ผู้สนใจสามารถเข้าไป เยี่ยมชมดูรายละเอียดของผลงานได้ที่ www.bangkokdesignweek.com