26 ล้านคนทั่วโลกเสี่ยงอัลไซเมอร์

แพทย์ชี้วัย 65 ขึ้นไป 3 ใน 10 คนป่วย

 

26 ล้านคนทั่วโลกเสี่ยงอัลไซเมอร์

 

 

          นพ.ยุทธ โพธารามิก ประธานมูลนิธิอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย เปิดเผยในงานแถลงข่าวจัดงานสร้างสรรค์สังคมไทย ห่างไกลโรคอัลไซเมอร์ ครั้งที่ 3 ว่า โรคอัลไซเมอร์เป็นแล้วรักษาไม่หาย มีหนทางเดียวคือประคับประคองด้วยยา ซึ่งอาจจะอยู่ได้ 9-10 ปีและอาจเสียชีวิตด้วยโรคแทรกซ้อน ดังนั้นหนทางเดียวคือ ป้องกันก่อนเกิดโรคด้วย 5 วิธีได้แก่ 1.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ให้ร่างกายแข็งแรง 2.บริโภคอาหารที่มีโอเมก้า 3 เช่น ปลาทะเลและกินผักผลไม้ 3.พยายามหากิจกรรมผ่อนคลายไม่ให้เกิดความเครียดสะสม 4.ฝึกความจำ จากการเล่นไพ่นกกระจอก หมากรุกให้เป็นเกมฝึกสมองที่ไม่ใช่การพนัน และ 5.การมีเพศสัมพันธ์ที่สมหวังอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะทำให้ร่างกายหลั่งสารแห่งความสุข

 

          ศ.พญ.นันทิการ ทวิชาชาติ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยระบาดวิทยาการทางจิตเวชศาสตร์และสุขภาพจิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โรคสมองเสื่อม หรือ อัลไซเมอร์ เกิดจากเซลล์สมองเสื่อมหรือตาย หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า สมองฝ่อ เป็นโรคผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ทำให้สูญเสียความทรงจำ หากเป็นแล้วไม่รักษาจะพัฒนาไปสู่โรคอัลไซเมอร์ขั้นรุนแรง พบได้ประมาณร้อยละ 70 ของผู้ป่วยสมองเสื่อมทั้งหมด สำหรับในคนไทยผลสำรวจข้อมูลที่ได้ในการคัดกรองผู้สูงอายุในกรุงเทพฯ 2,685 ราย พบว่าเป็นโรคสมองเสื่อม (dementia) ถึงร้อยละ 31.2 และมีอาการบกพร่องด้านความจำเล็กน้อย (mci-mild cognitive impairment) ที่ สามารถพัฒนากลายเป็นโรคสมองเสื่อมได้ถึงร้อยละ 34 และ ร้อยละ 34.8 เป็นกลุ่มปกติ

 

          ถ้าผู้สูงอายุเดินมา 10 คน ประมาณ 6 คนน่าจะมีความจำบกพร่อง และ 3 คน เป็นโรคสมองเสื่อม ซึ่งที่สหรัฐอเมริกา พบว่าคนอายุ 65 ปีขึ้นไป ป่วยด้วยโรคความจำถดถอยรุนแรงกว่า 10 ล้านคน และกลายเป็นโรคอัลไซเมอร์ ร้อยละ 10-15 ต่อปี โดยจะพบผู้ป่วยรายใหม่สูงขึ้นเป็น 2 เท่า ในทุกๆ 5 ปี ในผู้ที่อายุ 65 และ 90 ปี ล่าสุดคาดว่าทั่วโลกจะมีผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ประมาณ 26 ล้านคน” ศ.พญ.นันทิการกล่าวและว่า พันธุกรรมยังเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้คนที่อายุน้อย หรือวัยทำงานเป็นโรคดังกล่าวได้ ส่วนพ่อแม่หรือเครือญาติที่เป็นโรคดังกล่าว ก็อาจมีความเสี่ยง หรือกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดัน ฯลฯ ก็มีความเสี่ยงทั้งสิ้นอย่างไรก็ตาม สัญญาณที่บ่งบอกว่ามีความเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์จะมีอาการเกี่ยวข้องกับเรื่องความจำชัดเจน เช่น หลงลืม, วางของแล้วลืมวางผิดที่, นึกชื่อคนหรือสิ่งของไม่ออกบ่อยครั้ง, บุคลิกเปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยร่าเริงอาจมีการซึมเศร้า

 

          ทั้งนี้ มูลนิธิได้ร่วมกับกรุงเทพมหานครจุฬาฯ และศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย (ทีเซลล์) จัดกิจกรรมสร้างสรรค์สังคมไทย ห่างไกลโรคอัลไซเมอร์ครั้งที่ 3 ภายใต้แนวคิด “ใช้สมองของคุณ หรือจะให้มันเสื่อมไป” (user it or it) ที่สวนลุมพินี ในวันที่ 9 มกราคมนี้ ผู้สนใจรับบริการตรวจคัดกรองโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ พร้อมคำปรึกษาที่ถูกต้องโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่เวลา 08.30-18.00 น.

 

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน  

 

 

 

 

update : 30-12-53

อัพเดทเนื้อหาโดย : สุนันทา สุขสุมิตร

 

Shares:
QR Code :
QR Code