2 ประสานบ้าน-รร. เปลี่ยน ‘เด็กอ้วน’
ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
ภาพประกอบจากแฟนเพจโครงการเด็กไทยดูดี มีพลานามัย
ทุกเช้าก่อนเข้าห้องเรียน ภาพที่ชินตาภายในโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย คือนักเรียนที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์หรือเด็กอ้วน จะต้องมารวมตัวกันเพื่อออกกำลังกาย ไม่ว่าจะเป็นเล่นฟุตบอล บาสเกตบอล หรือออกวิ่ง เพื่อหวังแก้ปัญหาสุขภาพให้นักเรียนกลุ่มนี้
การออกกำลังกายจะอยู่ภายใต้การควบคุม ดูแลของครูพละตามรูปแบบที่เหมาะสมในแต่ละวัน กิจกรรมที่ทำอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้นักเรียนหลายๆคน สัมผัสได้ถึงความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย และสุขภาพ
ตามโครงการ "เด็กไทยดูดี สู่ชุมชน" ที่โรงเรียนกรุงคริสเตียนวิทยาลัย นำมาใช้เป็นกลไกลดความเสี่ยงโรคอ้วนให้นักเรียน มาตั้งแต่ปี 2551 นำไปสู่การร่วมมือกันจากทุกภาคส่วนในโรงเรียนเพื่อลดปัจจัยเสี่ยง
ร้านค้าต่างๆ งดจำหน่ายขนมกรุบกรอบ น้ำอัดลม "ลดหวาน มัน เค็ม" เติมเต็มด้วยผักผลไม้ในมื้อกลางวัน
ที่ขาดไม่ได้คือผู้ปกครองได้ร่วมออกแบบเมนูอาหารว่างมีประโยชน์ให้นักเรียนและนำไปปรับใช้ที่บ้าน
"แน่นอนว่า การห้ามเด็กไม่ให้กินขนมขบเคี้ยว น้ำอัดลมนั้นห้ามยาก แต่ต้องพยายามลด และจำกัดจำนวนการกินพร้อมพยายามปลูกฝังเรื่องนี้ เพื่อทำให้เขามีสุขภาพที่ดีในอนาคต" ตัวแทนผู้ปกครองสะท้อนมุมมอง
โครงการเดียวกันนี้ โรงเรียนพญาไท อีกโรงเรียนนำร่องซึ่งที่นี่ใช้ชื่อว่า "เด็กพญาไท ดูดีมีพลานามัย" ทุกเช้านักเรียนจะออกกำลังกายหน้าเสาธง ก่อนขึ้นเรียนรวมทั้งมีตัวแทนนักเรียนแกนนำออกมารณรงค์ทำความเข้าใจข้อมูลโภชนาการที่เป็นประโยชน์
"ในการเรียนแต่ละวิชา เราสามารถสอดแทรกความรู้ให้เด็กได้คิดตาม ในเรื่องบริโภคดีมีประโยชน์ได้ตลอดเวลาอย่างการคำนวณ ก็สมมติเหตุการณ์ว่า หากแม่ให้เงินไว้ 100 บาท เด็กๆ จะเลือกกินอะไรที่มีประโยชน์ สอนให้เด็กวิเคราะห์คุณค่าโภชนาการ แล้วให้เขาลองเปรียบเทียบดู เขาก็จะสามารถคิดตามได้ทันทีว่า อะไรควรกิน อะไรไม่ควรกิน เพื่อให้คุ้มค่ากับเงินที่ต้องเสียไป" เป็นอีกเทคนิคของครูโรงเรียนพญาไท
ขณะที่ ศ.พญ.ชุติมา ศิริกุลชยานนท์ ประธานโครงการเด็กไทยดูดีมีพลานามัย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เผยว่า จากการติดตามโครงการพบว่า นักเรียนโรงเรียนเอกชน มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มากกว่าโรงเรียนรัฐ ไม่เพียงการกิน ยังรวมถึงการอยู่กับเทคโนโลยี โดยขาดกิจกรรมทางกาย
ขณะทัศนคติผู้ปกครองที่มองว่า เด็กอ้วนน่ารัก ทำให้ไม่ได้ใส่ใจปัญหาที่จะตามมาจากโรคอ้วน โดยเฉพาะโรคเบาหวาน ที่เริ่มส่งสัญญาณเตือนจากต้นคอเด็กอ้วนที่มีปื้นดำ ว่าในอนาคตกำลังเสี่ยงเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
"เด็กอ้วน จะนำไปสู่การเกิดโรคไขมันในเลือดสูง ความดันสูง อนาคตจะมีความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งขณะนี้พบผู้ป่วยโรคเหล่านี้ในช่วงอายุน้อยลง จากที่เคยเจอ อายุ 50 ปี ขณะนี้คนอายุ 30 ปี ก็เป็นได้ จึงเป็นสิ่งที่เรากังวล และพยายามหาวิธีลดปัจจัยเสี่ยงตั้งแต่ต้นทางในเด็กเพื่อแก้ไขไม่ให้นำไปสู่ปัญหาในอนาคต"