11 ประเทศผนึกกำลังควบคุมโรคไม่ติดต่อ (NCDs)
ที่มา : มติชน
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
11 ประเทศ ผนึกกำลังควบคุมโรคไม่ติดต่อ(NCDs) ภายใต้บริบทของการพัฒนาอย่างยั่งยืน
โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs (NonCommunicable Diseases) เป็นโรคที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค ไม่สามารถติดต่อได้ผ่านการสัมผัส คลุกคลี หรือติดต่อผ่านตัวนำโรค (พาหะ) หรือสารคัดหลั่งต่างๆ หากแต่เกิดจากปัจจัยต่างๆ ภายในร่างกาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากไลฟ์สไตล์วิธีการใช้ชีวิตที่มีพฤติกรรมเสี่ยงอย่างเหล้า บุหรี่ ขาดการออกกำลังกาย อาหารหวานมันเค็มจัด และมีความเครียด
โรคไม่ติดต่อเรื้อรังมักจะค่อยๆ มีอาการและรุนแรงขึ้นทีละน้อยหากไม่ได้มีการรักษาควบคุม ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) เล็งเห็นว่ากลุ่มโรค NCDs นั้นถือเป็นปัญหาใหญ่ที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และพบมากในประชากรของประเทศที่กำลังพัฒนา ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการจัดประชุมระดับภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก เพื่อการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อภายใต้บริบทของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (WHOSEAR Regional Forum to Accelerate NCDs Prevention and Control in the Context of SDGs) เมื่อ 16 ล้านคน/ปีทั่วโลกต้องเผชิญปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) พบชุดมาตรการคุ้มทุนเพื่อป้องกัน NCDs ที่เหมาะสมกับบริบทแต่ละประเทศ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-11 ตุลาคม 2560 ณ โรงแรมสามพราน ริเวอร์ไซด์ จ.นครปฐม โดยมี ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข และรองประธานกรรมการ สสส.คนที่ 1 เป็นประธานเปิดงาน ร่วมด้วย Dr.Daniel Kertesz ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกระดับภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออก, ดร.ทักษพล ธรรมรังสี ผู้แทนจากองค์การอนามัยโลกระดับภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออก และผู้เข้าร่วมประชุมจาก 11 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ, ภูฏาน, เกาหลีใต้, อินเดีย, อินโดนีเซีย, มัลดีฟส์, เมียนมา, ศรีลังกา, ติมอร์-เลสเต และไทย พร้อมกันนี้ยังได้รับเกียรติการบรรยายพิเศษในหัวข้อ "มาตรการลงทุนอย่างไรให้คุ้มค่าที่สามารถป้องกันและควบคุม NCDs อย่างเพิ่มผล" โดย Professor K Srinath Reddy, President, Public Health Foundation of India (ประธานมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติอินเดีย) และการลงทุนที่ยั่งยืนในการจัดการ NCDs โดย Dr.Luis Vinyals Torres, Health Financing Regional Adviser, WHO-SEARO (ที่ปรึกษาด้านการเงินการคลังเพื่อสุขภาพ, องค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก) และ Ms.Triin Habicht, Adviser, Ministy of Social Affairs, Estonia (ที่ปรึกษา รมว.กิจการสังคม, ประเทศเอสโตเนีย)
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้เกิดขึ้นจากทาง กระทรวงสาธารณสุขจับมือองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก, สสส., สปสช. ชวน 11 ประเทศในภูมิภาคมาพัฒนามาตรการคุ้มทุน "Best Buys" ลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
"องค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก (WHO-SEARO) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก เพื่อการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ ภายใต้บริบทของการพัฒนาอย่างยั่งยืน มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 130 คน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างเสริมสุขภาพและลดปัจจัยเสี่ยงหลักที่นำไปสู่ปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ผ่านชุดมาตรการที่คุ้มทุนและเหมาะสมกับบริบทแต่ละประเทศ รวมถึงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของเครือข่ายด้านการจัดการ NCDs ระหว่างประเทศต่างๆ ในภูมิภาค"
นพ.ปิยะสกล กล่าวอีกว่า กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) นับเป็นวิกฤตที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนทั้งระดับประเทศและนานาชาติ ในแต่ละปีมีประชากรมากถึง 16 ล้านคนทั่วโลกที่ต้องเสียชีวิตก่อนวัยอันควร จากโรคหัวใจ ปอด โรคหลอดเลือดในสมอง โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน ซึ่ง 80% มาจากประชากรในประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง อย่างประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก จึงเป็นที่มาของการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตให้ได้ 1 ใน 3 ภายในปี 2573 ซึ่งการป้องกันและควบคุม NCDs ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันในทุกระดับ ตั้งแต่นโยบายไปจนถึงประชาชน การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนทั้งในและนอกภาคสาธารณสุข โดยเน้นมาตรการที่คุ้มทุนและมีประสิทธิผล หรือที่เรียกว่า "Best Buys" รวมถึงการมีกลไกสนับสนุนให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน ได้แก่ ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า และกลไกทางการเงินรูปแบบใหม่ เพื่อสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
นพ.ปิยะสกล กล่าวเสริมว่า ความท้าทายที่สำคัญในภูมิภาคนี้คือ การขาดศักยภาพในการนำมาตรการ Best Buys มาปรับใช้อย่างสมเหตุสมผลและสอดประสานในประเทศ ซึ่งการประชุมนี้จะช่วยให้ประเทศต่างๆ ได้แลกเปลี่ยนมาตรการ Best Buys ที่เหมาะสมต่อบริบทเฉพาะของแต่ละประเทศ รวมถึงแนวทางการพัฒนาศักยภาพที่จำเป็นต่อการดำเนินมาตรการเหล่านั้นอย่างยั่งยืน ทั้งนี้มาตรการเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันใน 3 ระดับ คือ 1.ระดับนโยบาย นำโดยกระทรวงสาธารณสุขและองค์กรสุขภาพ ต้องเป็นผู้นำในการ บูรณาการนโยบายสาธารณะให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน 2.ระบบสุขภาพ โดยยกระดับการให้บริการของระบบสาธารณสุขมูลฐาน ลดความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพ และการมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ยั่งยืน และ 3.ระดับสังคม โดยการสร้างเสริมศักยภาพของชุมชนและสังคมอย่างจริงจัง เพื่อสร้างความตระหนักรู้และการให้ความรู้และทักษะด้านสุขภาวะแก่ประชาชน จึงต้องเฟ้นหาและพัฒนาศักยภาพของผู้นำ หรือแชมเปี้ยนด้าน NCDs เพื่อเป็นพลังสร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วประเทศ
ขณะที่ ดร.พูนาม เคตราปาล ซิงห์ ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกตระหนักว่า การจัดการปัญหากลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังจำเป็นต้องอาศัยการดำเนินงานของหลากหลายภาคส่วนในและนอกภาคสาธารณสุข การประชุมนี้จึงได้มีผู้แทนจากกระทรวงต่างๆ ทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง กระทรวง ทบวง กรม ด้านการวางแผน ตลอดจนองค์กรด้านการพัฒนา มหาวิทยาลัย และองค์กรภาคประชาสังคมเข้าร่วม ซึ่งองค์การอนามัยโลกต้องขอขอบคุณสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำหรับการร่วมเป็นเจ้าภาพในการประชุม และขอชื่นชม สสส. และ สปสช.ที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันงานด้าน NCDs อย่างเข้มแข็งในประเทศไทย
"NCDs เป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญมาก โดยคาดการณ์ได้ว่าในภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออกมีประชากรราว 8.8 ล้านราย หรือเฉลี่ยวันละ 24,000 ราย ที่ต้องเสียชีวิตจาก NCDs ในแต่ละปี และ NCDs ยังเป็นนักฆ่าอันดับ 1 ในทุกๆ ประเทศสมาชิกด้วย ทั้งนี้โอกาสในการเสียชีวิตจาก 1 ใน 4 NCDs สำคัญในกลุ่มประชากรในภูมิภาคที่มีอายุ 30-70 ปี อยู่ที่ร้อยละ 25 สูงที่สุดในบรรดาภูมิภาคต่างๆ (แบ่งตามกลุ่มของ WHO) นอกจากนี้ NCDs ยังเป็นความท้าทายที่สำคัญต่อการพัฒนา เนื่องจาก NCDs เป็นตัวถ่วงต่อการมีสุขภาวะที่ดีของประชากร และส่งผลต่อการพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์
ปฏิญญาทางการเมืองของการประชุมระดับสูงของสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยเรื่อง NCDs ในปี 2554 ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ในการตอบสนองต่อปัญหาดังกล่าวของทั่วโลก และสะท้อนความมุ่งมั่นขององค์การอนามัยโลกในการทำหน้าที่เป็นผู้นำเพื่อพัฒนาแผนปฏิบัติการโลกด้าน NCDs ตลอดจนกรอบการติดตามและประเมินผล รวมถึงตัวชี้วัดและเป้าหมายแบบสมัครใจต่างๆ นอกจากนี้ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติได้รับรองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 3.4 ที่มุ่งลดอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจาก NCDs ลง 1 ใน 3 ภายในปี 2573 ด้วย โดยที่ผ่านมาพัฒนาการในการแก้ไขปัญหา NCDs ของภูมิภาคนับว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ รัฐบาลของประเทศสมาชิกมีการดำเนินการในหลายด้านเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตกลงไว้ในเวทีระดับโลก ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี เมื่อปีที่แล้วรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจาก 11 ประเทศได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออก สมัยที่ 69 ณ กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา และได้รับรองปฏิญญาโคลัมโบที่มุ่งยกระดับคุณภาพของระบบการให้บริการสาธารณสุขมูลฐาน เพื่อเร่งรัดแก้ไขปัญหา NCDs ซึ่งในรายงานความก้าวหน้าในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาพบว่า ทุกประเทศมีพัฒนาการที่ดี ซึ่งเราน่าจะใช้โอกาสนี้ในการผลักดันและสานต่องานด้านการป้องกันและควบคุม NCDs ให้รุดหน้ายิ่งขึ้นต่อไปด้วย"
ดร.พูนาม กล่าวทิ้งท้ายว่า NCDs เกิดจากปัจจัยด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่มีความซับซ้อน ส่งผลต่อพฤติกรรมและการเปลี่ยนแปลงด้านสรีรวิทยาของผู้คน ดังนั้นการควบคุมโรคและปัจจัยเสี่ยงจึงต้องอาศัยการดำเนินการของทุกๆ ภาคส่วนอย่างบูรณาการ อีกทั้งนโยบายและการดำเนินมาตรการในทุกระดับจะต้องสอดรับกัน ทั้งนี้ ความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนซึ่งกันและกัน คือหัวใจของการควบคุม NCDs เพราะปัจจัยเสี่ยงส่วนใหญ่อยู่นอกภาคสาธารณสุข ซึ่งภูมิภาคของเรามีวิสัยทัศน์ร่วมกันในการลดความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงบริการสุขภาพด้วยการยกระดับให้ระบบสาธารณสุขมูลฐานเป็นแกนกลางของระบบการให้บริการ
ขณะนี้แม้จะมีความคืบหน้าไปบ้าง แต่ประชากรอย่างน้อย 130 ล้านคนในภูมิภาคก็ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการที่จำเป็นได้ ขณะที่จำนวนผู้ป่วย NCDs ที่ไม่ได้รับการดูแลรักษาคาดว่าน่าจะสูงกว่านี้มาก เราไม่สามารถทอดทิ้งคนเหล่านี้ได้ ดังที่ Dr.Tedros Adhanom Ghebreyesus ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกได้กล่าวไว้ว่า "All roads lead to universal health coverage" – ถนนทุกสายมีจุดหมายเดียวกัน กล่าวคือ ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า นี่คือประเด็นสุขภาพหลักที่ภูมิภาคเราให้ความสำคัญ ถ้าเราไม่จัดการกับ NCDs อย่างจริงจัง เป้าหมายเรื่องระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็คงบรรลุได้ยาก ดังนั้น ระบบบริการในสถานบริการระดับปฐมภูมิที่เข้มแข็ง และการเลือกใช้มาตรการที่คุ้มทุนอย่างเหมาะสม จะช่วยให้เราจัดการกับ NCDs และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ได้
สิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญ คือ การยกระดับศักยภาพของสถานบริการระดับปฐมภูมิในการตรวจ รักษา และติดตามอาการของ ผู้ป่วย NCDs ทั้งนี้ การใช้ระบบสาธารณสุขมูลฐานเป็นกลไกขับเคลื่อนการจัดการปัญหา NCDs จะช่วยให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายการเข้าถึงยาและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่จำเป็นต่อ NCDs ครอบคลุมร้อยละ 80 และการเข้าถึงยาและการให้คำปรึกษาสำหรับผู้ที่เสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดครอบคลุมร้อยละ 50 ไปในปี 2568 อย่างแน่นอน