10 ธันวาคม วันแห่งความเป็นมนุษย์
เคารพสิทธิมนุษยชน สร้างสันติสุขในประเทศ
ท่ามกลางความผันผวนทางการเมืองและประชาธิปไตยในรอบปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองอย่างกว้างขวาง ได้แก่ ความรุนแรงที่เกิดจาก การรัฐประหาร ล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามวิถีทางประชาธิปไตย และการฉีกรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
ความรุนแรงที่เกิดจากการฆ่า เผา ทำลายชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ตำรวจ ทหารและ การสูญหายของบุคคลโดยไม่สมัครใจในภาคใต้ ความรุนแรงในครอบครัว การค้ามนุษย์ทั้งหญิงชายและเด็ก
ตลอดจนการละเมิดสิทธิทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม ทั้งการละเมิดสิทธิในการกำหนดวิถีชีวิตตนเองในทางเศรษฐกิจสังคม และวัฒนธรรม ต่อกลุ่มชนด้อยโอกาสทางสังคม เช่น การแย่งชิงสิทธิในที่ดินภายหลังภัยสึนามิ การอพยพชาวเขาออกจากพื้นที่ป่า การเลือกปฏิบัติทางด้านแรงงาน เชื้อชาติ สุขภาพ การตัดสินใจเจรจาทางการค้าระบบทวิภาคีโดยไม่ฟังเสียงประชาชน และกรณีอื่นๆ อีกมากมาย
และเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ซึ่งประชากรทั่วโลก กำหนดให้ เป็นวันสิทธิมนุษยชนสากล ได้เวียนมาบรรจบอีกวาระหนึ่ง นับได้ว่าเป็นปีที่ 58 แล้วตั้งแต่สหประชาชาติได้ประกาศรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งได้ประกาศว่า “ปณิธานสูงสุดของสามัญชนได้แก่ความต้องการให้มนุษย์มีชีวิตอยู่ในโลกด้วยอิสรภาพในการพูด ความเชื่อถือ และอิสรภาพ พ้นจากความหวาดกลัวและความขาดแคลน”
ดังนั้นในวันนี้ มนุษย์ทุกคนในโลกจึงพึงตระหนักกันให้มั่นคงว่า มนุษย์บนโลกใบนี้ย่อมมีสิทธิ์ มีอิสรภาพ ในความเป็นคนอย่างถ้วนทั่วทุกตัวคน
เพื่อให้สังคมไทยมีพัฒนาการที่ชัดเจน ต่อการเคารพและเสริมสร้างวัฒนธรรมแห่งสิทธิมนุษยชน องค์กรประชาชน นักกฎหมาย นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตย จึงขอประกาศเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนในสังคมไทย ได้ตระหนักถึงสถานภาพความเป็นอยู่ ในฐานะของพลเมือง ว่าควรจะต้องคำนึงถึงสิ่งดังต่อไปนี้
(1) คนทุกคนมีหน้าที่ต่อประชาคม ในอันที่จะพัฒนาบุคลิกภาพของตนโดยอิสระเต็มที่
(2) ในการใช้สิทธิและเสรีภาพของตน ทุกคนตกอยู่ในบังคับของข้อจำกัดโดยกฎหมายเท่านั้น เพื่อประโยชน์ที่จะได้มาซึ่งการรับนับถือ และการเคารพสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นตามสมควร และที่จะเผชิญกับความเรียกร้องต้องการอันเที่ยงธรรมของศีลธรรม ความสงบเรียบร้อยของประชาชน และสวัสดิการทั่วไปในสังคมประชาธิปไตย
สำหรับในฐานะของรัฐบาล ผู้มีหน้าที่ในการบริหารประเทศต้องพึงตระหนักที่จะสร้างสรรค์สิ่งต่อไปนี้ให้เกิดขึ้นกับประชากร โดยรัฐบาลทุกรัฐบาลที่จะปกครองประเทศไทยต้องสร้างหลักประกันว่าจะเคารพ ปกป้องและทำให้สิทธิมนุษยชนได้รับการปฏิบัติให้เป็นจริงในสังคมไทย
รวมทั้งดำเนินการอย่างมีขั้นตอน ให้ปรากฏในแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ในการจัดทำรัฐธรรมนูญ และในการบัญญัติไว้ในกฎหมาย ถึงหลักการสำคัญของสิทธิมนุษยชน อันประกอบด้วย
1. ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (Human Dignity)
2. สิทธิมนุษยชนเป็นสากลและไม่สามารถถ่ายโอนกันได้(Universality&inalienability) หมายความว่า สิทธิมนุษยชนนั้นเป็นของคนทุกคน ไม่มีพรมแดน คนทุกคนมีสิทธิมนุษยชนต่างๆ ทั้งสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองและสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม
เพราะโดยหลักการแล้วถือว่า คนทุกคนย่อมถือว่าเป็นคน ไม่ว่าอยู่ที่ไหนในโลก ไม่ว่าจะมีเชื้อชาติ สัญชาติ เหล่ากำเนิดใดก็ตาม ย่อมมีสิทธิมนุษยชนประจำตัวทุกคนไป จึงเรียกได้ว่าสิทธิมนุษยชนเป็นของคนทุกคนไม่ว่าคนๆ นั้นจะยากจนหรือร่ำรวย เป็นคนพิการ เป็นเด็ก ผู้หญิง ก็ตาม
3. สิทธิมนุษยชนไม่สามารถแยกเป็นส่วนๆ ว่าสิทธิใดมีความสำคัญกว่าอีกสิทธิหนึ่ง (Indivisibility) กล่าวคือ สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ไม่สามารถแบ่งแยกว่ามีความสำคัญกว่าสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม สิทธิทั้งสองประการนี้ต่างมีความสำคัญเท่าเทียมกัน
ดังนั้นรัฐบาลใดจะมาอ้างว่าต้องพัฒนาประเทศให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจ หรือต้องแก้ปัญหาปากท้องก่อน แล้วจึงค่อยให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง ย่อมขัดต่อหลักการนี้
4. ความเสมอภาคและห้ามการเลือกปฏิบัติ (equality and non-discrimination) หลักการเรื่องความเสมอภาคและห้ามการเลือกปฏิบัติในสังคมไทยนั้น ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 30 ที่ว่า การเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่อง ถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้
5. การมีส่วนร่วมและการเป็นส่วนหนึ่งของสิทธินั้น (participation& inclusion) หมายความว่าประชาชนแต่ละคนและกลุ่มของประชาชน หรือประชาสังคมย่อมมีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน ในการเข้าถึงและได้รับประโยชน์จากสิทธิพลเมืองและการเมือง และสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม
6. หลักการตรวจสอบได้และหลักนิติธรรม (Accountibility&the Rule of Law) หมายถึง รัฐและองค์กรที่มีหน้าที่ในการก่อให้เกิดสิทธิมนุษยชน ต้องมีหน้าที่ตอบคำถามให้ได้ว่าสิทธิมนุษยชนได้รับการปฏิบัติให้เกิดผลจริงในประเทศของตน ส่วนสิทธิใดยังไม่ได้ดำเนินการให้เป็นไปตามหลักการสากล ก็ต้องอธิบายต่อสังคมได้ว่าจะมีขั้นตอนดำเนินการอย่างไร
โดยเฉพาะรัฐต้องมีมาตรการปกครองประเทศโดยใช้หลักนิติธรรม หรือปกครองโดยอาศัยหลักการที่ใช้กฎหมายอย่างเที่ยงธรรม ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยง่าย มีกระบวนการไม่ซับซ้อนเป็นไปตามหลักกฎหมายและมีความเท่าเทียมกันเมื่ออยู่ต่อหน้ากฎหมาย ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมายได้
ด้วยความเชื่อมั่นว่า หลักการสิทธิมนุษยชนนี้ เป็นมาตรฐานร่วมกันแห่งความสำเร็จสำหรับบรรดาประชากรและประชาชาติทั้งหลาย การได้หวนรำลึกถึงหลักการอยู่ร่วมกันบนพื้นฐานของการเคารพสิทธิมนุษยชนนี้อย่างเป็นเนืองนิจ ย่อมจะส่งผลให้เกิดสันติสุขในประเทศ และประชากรโลก และเกิดสันติภาพในโลกอย่างแน่นอน
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า
Update 11-12-51