เตือนเลี่ยงอาหารลวกจิ้ม-ปีนี้อาหารเป็นพิษร่วม 2 หมื่น
สธ. แนะ เลี่ยงเมนูอาหารทะเลลวกจิ้มพร้อมกิน เนื้อปู-หอยแกะ ส้มตำปูดอง ลาบ ยำสุกๆ ดิบๆ ขนมเอแคลร์ ขนมจีน พบเป็นตัวการก่อโรคอาหารเป็นพิษมากเกือบร้อยละ 90 ปีนี้พบผู้ป่วยแล้วเกือบ 2 หมื่นราย
ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)กล่าวว่า ในด้านสุขภาพของประชาชนในช่วงฤดูร้อนพบว่า มีความเสี่ยงป่วยจากอาหารและน้ำที่ไม่สะอาดได้ง่ายกว่าฤดูอื่นๆ อาจทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษได้ เชื้อโรคที่ก่อพิษในหน้าร้อนมักเป็นเชื้อแบคทีเรีย อากาศยิ่งร้อน เชื้อยิ่งฟักตัวแพร่พันธุ์เร็ว ทั้งนี้ ในรอบ 2เดือนในปีนี้ สำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข รายงานพบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษทั่วประเทศรวม 19,148ราย ยังไม่มีรายงานเสียชีวิต
ดร.พรรณสิริกล่าวว่า ในการป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ มีวิธีการประกอบกัน 3ส่วน ส่วนแรกคือด้านอนามัยของประชาชนเอง แนะนำให้ตัดเล็บมือให้สั้น และดูความสะอาด ล้างมือทุกครั้งหลังจากเข้าห้องน้ำและก่อนรับประทานอาหาร ส่วนที่ 2 คือการเลือกอาหาร ควรเลือกอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ขอให้หลีกเลี่ยงเมนูดังต่อไปนี้คือ ส้มตำปูดอง ส้มตำปูม้าสด อาหารที่มีกะทิเป็นส่วนผสม หอยแมลงภู่/หอยแครงลวก เนื้อปูแกะสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน ขนมเอแคลร์ ขนมจีน ยำต่างๆ และอาหารสุกๆ ดิบๆ ทุกชนิด เช่น กุ้งพล่า ลาบก้อย เนื่องจากอาหารเหล่านี้จะเสียง่ายเพราะมีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่ ส่วนที่ 3 คือ การเก็บรักษาอาหาร ต้องเก็บไว้ในที่เย็น เช่น ตู้เย็น เพื่อชะลอการเติบโตเชื้อโรค หากเป็นอาหารข้ามมื้อเกิน 4ชั่วโมงหลังปรุงเสร็จต้องอุ่นให้ร้อนหรือเดือดก่อนรับประทาน เพื่อให้ความร้อนฆ่าเชื้อโรค
ดร.พรรณสิริกล่าวอีกว่า ถ้าต้องเดินทางและสั่งอาหารกล่อง จะต้องเลือกจากร้านที่เชื่อถือได้ และกำชับให้ผู้ปรุงอย่าปรุงล่วงหน้านาน เลือกเมนูที่ไม่บูดหรือเสียง่าย เช่น ไข่ต้ม หมูทอด ไก่ทอด ไม่ควรเป็นเมนูกะทิ ยำ เป็นต้น เพราะจากการสอบสวนโรคในกลุ่มผู้ป่วยอาหารเป็นพิษ พบเมนูดังกล่าวข้างต้นเป็นสาเหตุกว่าร้อยละ 90
ด้าน นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคอาหารเป็นพิษมักพบหลังจากที่กินอาหารที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนไปแล้วภายใน 2 – 4ชั่วโมง พบได้ทุกวัย มักพบประชาชนและพื้นที่เสี่ยง ได้แก่ เด็กในโรงเรียนกลุ่มงานเลี้ยงสังสรรค์ การชุมนุม กลุ่มทัศนาจรและกลุ่มที่อยู่ในชุมชนแออัดและมีแรงงานต่างด้าวอาศัญอยู่ ที่เกี่ยวข้องชัดเจนคือ การกินอาหารและน้ำที่ไม่สะอาด สุขอนามัยส่วนบุคคลและสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี อาการของโรคนี้ได้แก่ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ ปวดมวนท้องรุนแรง อาจมีคลื่นไส้ อาเจียน เป็นไข้ และปวดศรีษะร่วมด้วยบ้างครั้งมีอาการถ่ายอุจจาระปนเลือด หรือเป็นมูกคล้ายเป็นบิด
นพ.มานิตกล่าวต่อว่า เมื่อมีสมาชิกในบ้านอุจจาระร่วง เบื้องต้นควรให้ดื่นสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ หรือโออาร์เอส หากไม่มีสามารถใช้น้ำสไปร์ทใส่เกลือเล็กน้อยแทนได้ให้ผู้ป่วยดื่มทีละน้อยๆ แต่บ่อย หลังดื่มแล้ว 8 – 12ชั่วโมง หากอาการไม่ดีขึ้นต้องรีบไปรับการรักษาที่สถานบริการสาธารณสุขหรือโรงพยาบาลทันที
ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก