สานพลังฮักชุมชน คืนคนไทยสู่สุขภาวะดีที่ยั่งยืน
เรื่องโดย : พงศ์ศุลี จีระวัฒนรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจาก : “งานประชุมถอดบทเรียนการดำเนินงานของสมาคมฮักชุมชนในหัวข้อ“สามเหลี่ยมขับเคลื่อนการดูแลผู้มีปัญหาสุราและสุขภาวะโดยชุมชน” ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ
ภาพโดย ฐิติชญา สัมปุรณะพันธุ์ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 ระบุว่า สถานการณ์การดื่มของคนไทยในปัจจุบันมีแนวโน้มที่ดีขึ้น พบผู้ที่เคยดื่มหนักในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา 5.7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 10 ซึ่งมีแนวโน้มลดลงมาโดยตลอดจากร้อยละ 14 ในปี 2557
“…ในขณะที่ข้อมูลรายงานผลการดำเนินงานคัดกรองและการบำบัดผู้มีปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กระทรวงสาธารณสุข ปี 2566 พบผู้มีปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้รับการบำบัดในสถานพยาบาล ร้อยละ 65 ซึ่งยังมีผู้ที่เข้าไม่ถึงบริการบำบัดรักษาหรือไม่พร้อมจะเดินเข้าสู่ระบบสุขภาพอีกจำนวนมาก…”
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก (สสส.) กล่าวหลังเอ่ยทักทายในการเปิดเวทีการประชุมถอดบทเรียนการดำเนินงานโครงการขับเคลื่อนการดูแลผู้มีปัญหาสุราและสุขภาวะโดยชุมชน โดยสมาคมฮักชุมชน “สามประสาน เพื่อสุขภาวะ…ทำได้อย่างไรในชุมชน” เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2566 ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต
งานนี้เป็นการสานพลังร่วมมือระหว่าง สสส. และ สมาคมฮักชุมชน ในการพัฒนานวัตกรรมการดูแลผู้มีปัญหาสุราให้เหมาะกับบริบทของสังคมไทย และสร้างเสริมศักยภาพผู้นำชุมชนให้เป็นกลไกขับเคลื่อนงาน อย่างมีรูปธรรม บนพื้นฐานข้อมูล และหลักวิชาการ โดยทำงานภายใต้กระบวนการค้นหา สำรวจข้อมูล และการคัดกรองระดับการดื่มสุรา ด้วยความเชื่อ “ชุมชนมีศักยภาพ หากได้รับการสนับสนุนที่เหมาะสม”
“…สสส. ได้ขยายการทำงานสานพลังภาคีเครือข่าย ผ่านสมาคมฮักชุมชน ในโครงการขับเคลื่อนการดูแลผู้มีปัญหาสุราและสุขภาวะโดยชุมชน เพื่อเพิ่มช่องทางการเข้าสู่กระบวนการ ลด ละ เลิก การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเน้นการทำงานผ่าน ชุมชน และ วัด เป็นสำคัญ เนื่องจากใกล้ชิดกลุ่มเป้าหมายและการป้องกันแก้ไขปัญหาในชุมชนร่วมกัน
“นอกจากนี้ยังเป็นการเตรียมรณรงค์ให้ประชาชน ลด ละ เลิก ในวันช่วงเข้าพรรษา โดยใช้ชื่อว่า ปีนี้ใคร ๆ ก็งดเหล้าเข้าพรรษา เชื่อว่าหลายคนจะถือเอาช่วงเวลาเข้าพรรษา 3 เดือน เป็นจุดเริ่มต้นตั้งใจจะที่จะเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” นางสาวรุ่งอรุณ กล่าวกล่าวถึงการดำเนินการเชิงรุกร่วมกับภาคีเครือข่ายในการเข้าถึงผู้ติดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์…” นางสาวรุ่งอรุณ กล่าว
นางสาวรักชนก จินดาคำ นายกสมาคมฮักชุมชน กล่าวว่า สมาคมฮักชุมชน ได้ริเริ่มโครงการขับเคลื่อนการดูแลผู้มีปัญหาสุราและสุขภาวะโดยชุมชน 26 พื้นที่ จาก 10 จังหวัด ในรูปแบบให้ชุมชนสามารถปฏิบัติในพื้นที่ได้ 2 รูปแบบ คือ รูปแบบธรรมนำทาง และ รูปแบบกลุ่มฮักครอบครัว ด้วยเป้าหมายต้องการให้ชุมชนมีความรู้สามารถใช้เครื่องมือนวัตกรรมเข้าบำบัดผู้มีปัญหาสุราได้ และเป้าหมายสำคัญ คือ ให้ผู้บำบัด สามารถลด ละ เลิก สุราได้
การดำเนินงานใช้รูปแบบธรรมนำทาง ได้แก่ กิจกรรมอยู่วัด รู้ธรรม 7 วัน 6 คืน และกิจกรรมติดตาม นำ หนุน ใจ เป็นการทำงานแบบ 3 ประสาน ที่มีพระสงฆ์เป็นผู้นำมอบหลักธรรม หนุนเสริมปัญญาควบคู่ไปกับบุคลากรสุขภาพ ที่ให้ความรู้ผลกระทบจากสุรา โดยมีผู้นำชุมชน และ อสม.ช่วยสร้างแรงจูงใจขณะร่วมกิจกรรม
ส่วนรูปแบบกลุ่มฮักครอบครัว มีกิจกรรมหลัก ได้แก่กลุ่มแลกเปลี่ยนประสบการณ์ชุดทักษะความรู้ 8 ครั้ง 8 สัปดาห์ และกิจกรรมติดตาม นำ หนุน ใจ โดยให้ผู้มีปัญหาสุราและสมาชิกในครอบครัวจะต้องมีส่วนร่วมในการเข้าร่วมกิจกรรมทุกครั้ง ในลักษณะ 3 ประสาน ที่ให้คนในครอบครัวของผู้เข้ารับการบำบัดเป็นผู้นำสร้างกำลังใจ เสริมด้วยความรู้เกี่ยวกับผลกระทบจากสุราจากบุคลากรสุขภาพ ตบท้ายด้วยผู้นำชุมชน และ อสม. ในการชักชวนผู้มีปัญหามาเข้าร่วมกิจกรรม
“แต่ละชุมชนจะมีการวิเคราะห์เลือกเองจากความเหมาะสม หลังจากเข้าร่วมกิจกรรม จะมีการติดตาม นำ หนุน ใจ ที่บ้านแบบลักษณะกลุ่ม และมีการฝึกพัฒนาทักษะ ให้อาชีพ สร้างรายได้ เพื่อให้การเลิกสุราเกิดความยั่งยืน ไม่กลับมาดื่มซ้ำ” นางสาวรักชนก กล่าว
ยกกล่าวถึงกรณีตัวอย่างของการเข้ารับการบำบัด พบกับ พระจีรศักดิ์ ภูสะพาน ผู้เข้าร่วมกิจกรรมธรรมนำทาง จากวัดบูรพาหนองบัว อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม ท่านได้บอกเล่าประสบการณ์ในการบำบัดว่า…
“รู้จักโครงการจากการประชาสัมพันธ์ในหมู่บ้าน จึงชวนเพื่อนในวงเหล้าไปเข้าบำบัดด้วยกัน มีระยะเวลา 7 วัน มีการถือศีล 8 และใช้ชีวิตเหมือนพระตลอดการบำบัด เมื่อพ้น 7 วันไป ได้รับความเมตตาจากเจ้าอาวาสวัดเสนอจะบวชให้ มาถึงปัจจุบันได้อยู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์แล้วกว่า 8 เดือน มีความสุขที่เลิกสุราได้ ท่านกลับมามีสุขภาพที่แข็งแรงขึ้น” พระจีรศักดิ์ กล่าวด้วยความยินดี
ด้าน นายชุมพล นวลอ่อน ผู้เข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มฮักครอบครัว บ้านสันทราย อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่ เล่าถึงประสบการณ์จากการเลิกสุราว่า…
“…เริ่มดื่มช่วงอายุ 20 ปี ตอนเรียนเมื่อเลิกเรียนก็ตั้งวงดื่มสุรา และตามมาด้วยการทะเลาะวิวาท ยกพวกตีกัน จนเรียนจบได้ทำงานช่วยดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลไชยปราการ ตอนนั้นพ่อเกิดอุบัติเหตุจากการดื่มแล้วกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงนาน 7-8 ปี จึงมีความคิดอยากบวชให้พ่อ ตัดสินใจบวช 1 พรรษา ลาสิกขามาแล้วตั้งใจเลิกดื่มสุราและเลิกบุหรี่ จึงเข้าร่วมโครงการกลุ่มฮักครอบครัว ร่วมกิจกรรมครบ 8 ครั้ง เลิกได้สำเร็จ”
“ฝากถึงคนที่อยากเลิก ให้คิดถึงตัวเองเป็นอันดับแรก คิดถึงคนในครอบครัว และลองพิจารณาถึงข้อเสียของการดื่ม ดีอย่างไร ไม่ดีอย่างไรบ้าง ก็จะเห็นภาพชัดว่าต้องเลิกดื่มได้ แล้วไปเชิญชวนคนรอบตัว คนในชุมชน ให้ลดละเลิก เพราะเราเคยเห็นผลกระทบจากการดื่มมาแล้ว เพื่อขยายกลุ่มไปให้ทั่วพื้นที่ หมู่บ้าน ชุมชน ใกล้เคียง เพื่อให้ทุกคนเลิกสุราได้สำเร็จ” นายชุมพล กล่าว
จากการถอดบทเรียนการปฏิบัติงานสานพลังระหว่าง สสส. และ สมาคมฮักชุมชน พบว่า นอกจากความตั้งใจของผู้ต้องการเลิกสุราเองแล้ว คนที่อยู่รอบตัวต้องคอยเป็นกำลังใจให้กับผู้เข้ารับการบำบัดด้วย
สสส. มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างองค์ความรู้ เพื่อให้บุคลากรทุกภาคส่วน มีความเข้าใจเกี่ยวกับกลุ่มคนผู้มีพฤติกรรมเสี่ยง และเปิดใจรับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นของคนเหล่านี้ และสร้างทัศนคติที่ดีในการร่วมด้วยช่วยกันแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง ยั่งยืน และเพื่อไม่ให้มีใครต้องถูกทิ้งให้อยู่กับปัญหาที่รุมเร้าเพียงลำพังอีกต่อไป