เตือนกินเจให้ได้โภชนาดีต้องครบ 5 หมู่

สสส. เตือนกินเจให้ได้โภชนาดีต้องครบ 5 หมู่ แนะแหล่งโปรตีนชั้นดี หาได้จากถั่ว ระวังขาดวิตามินบี 12 ทำโลหิตจาง เฉื่อยชา หลีกเลี่ยงอาหารทอด เค็ม มัน ล้างผักให้สะอาดป้องกันสารปนเปื้อน สสส. พร้อมยกระดับแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ ปกป้องคนไทยกินดี ปลอดภัย


สสส. เตือนกินเจให้ได้โภชนาดีต้องครบ 5 หมู่


นายสง่า ดามาพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการอิสระ และผู้จัดการโครงการโภชนาการสมวัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงการรับประทานอาหารในช่วงเทศกาลถือศีลกินเจ ว่า ในช่วงระยะเวลา 10 วัน การรับประทานอาหารให้ถูกหลักโภชนาการถือเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม แม้เป็นระยะเวลาสั้นๆ แต่อาจส่งผลต่อสุขภาพได้ จากการสังเกตจะพบ 2 ประเด็นที่ต้องระวังที่พบบ่อยในช่วงเทศกาลถือศีล กินเจ คือ เรื่องโภชนาการ และการได้รับสารปนเปื้อน โดยเรื่องโภชนาการที่ ต้องมั่นใจว่า อาหารที่ได้รับในแต่ละวันนั้นมีคุณค่าครบ 5 หมู่ โดยหมู่ที่ต้องระวังมากที่สุดคือ โปรตีน และวิตามินบี12  ปกติร่างกายจะได้รับโปรตีนจากเนื้อสัตว์ นม ไข่ แต่ในช่วงกินเจ พืช ผัก ถือว่ามีโปรตีนน้อยหรือเกือบไม่มีเลย ทำให้ไม่เพียงพอตามปริมาณที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน จึงจำเป็นต้องเลือกทานอาหารที่ให้โปรตีนเพียงพอ 


นายสง่า ดามาพงษ์


นายสง่า กล่าวต่อว่า ควรเลือกทานโปรตีนเสริมได้จากถั่วเมล็ดแห้งที่มีอะมิโนแอซิท ซึ่งเป็นโมเลกุลของพืชให้โปรตีนเทียบเท่าเนื้อสัตว์ อาหารจำพวกถั่วมีผลิตภัณฑ์แปรรูปหลายชนิด เช่น เต้าหู้ น้ำเต้าหู้ หรือโปรตีนเกษตร ก็ถือเป็นโปรตีนชั้นดี โดยเต้าหู้แผ่น 1 แผ่น ให้ปริมาณโปรตีนเทียบเท่าเนื้อหมูราว 3-4 ชิ้น หรืออาจทานถั่วเมล็ดแห้งเป็นของหวานเสริม เช่น ถั่วเขียวต้มน้ำตาล หรือใช้ถั่วทอง หุงพร้อมข้าวเป็นข้าวธัญพืช ก็ทำให้ได้รับโปรตีนเช่นกัน ส่วนวิตามินบี 12 เป็นสารอาหารที่จำเป็น และหาไม่ได้ในพืช หากร่างกายขาดสารอาหารกลุ่มนี้ จะทำให้เกิดโลหิตจาง ปลายประสาททำงานลดลง ทำให้เกิดอาการเฉื่อยชาได้ แต่สามารถทดแทนได้จากการทานหอยนางรม แต่ไม่ควรทานในปริมาณมาก โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหลอดเลือดอุดตัน และโรคหัวใจ เพราะจะเพิ่มคอเลสเตอรอลในเลือดสูงได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ขาดวิตามินบี 12 ไม่ควรเคร่งครัดทานเจมากเกินไป เพราะอาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้ โดยอาจดื่มนมวัวทดแทนได้


“สิ่งที่ต้องระวังในช่วงเทศกาลถือศีล กินเจ คือ 1.น้ำหนักตัวที่อาจเพิ่มขึ้น โดยเกิดได้เพราะการทานเจมักจะทำให้หิวบ่อย จึงมักทานแป้งมากขึ้น ถ้าเผาผลาญไม่หมดก็จะสะสมกลายเป็นน้ำตาล และเมื่อดูจากประเภทของอาหารเจมักประกอบไปด้วยอาหารประเภท ผัด ทอด จึงต้องระวังเรื่องน้ำมันพืชที่ใช้ปรุงอาหาร 2.หันมาทานอาหารประเภท ผัด ต้ม นึ่ง อบ ยำ แทนอาหารประเภท ผัด ทอด ซึ่งรสชาดิดีไม่แพ้กัน 3.ลดอาหารประเภทเค็มจัด เพราะอาหารหลายชนิดในช่วงเจ จะทำในปริมาณมากๆ  จึงมีการใส่เกลือ ซีอิ้ว เพื่อช่วยถนอมอาหารให้อาหารอยู่ได้หลายวัน จึงทำให้อาจได้รับเกลือเกินความจำเป็น ซึ่งเป็นสาเหตุของความดันโลหิตสูง โรคไต 4.ล้างผักให้สะอาดถูกวิธี ล้างน้ำอย่างน้อย 2 ครั้ง ๆ ละ 5-10 นาที เพื่อป้องกันสิ่งปนเปื้อนโดยเฉพาะสารเคมีที่หากสะสมในร่างกายจะมีผลต่อระบบทางเดินอาหารและเกิดการทำงานผิดปกติของระบบอวัยวะต่างๆ ได้ 5.ควรออกกำลังกายเพื่อเผาผลาญพลังงานไม่ให้สะสมกลายเป็นไขมัน โดยเดินเร็ว 30 นาที หรือปั่นจักรยาน 40 นาที จะเผาผลาญพลังงานได้ 150 กิโลแคลอรี่ อย่างไรก็ตาม การถือศีล กินเจ ถือเป็นเรื่องดี เพราะนอกจากทำให้จิตใจบริสุทธิ์แล้ว ยังเป็นการสร้างพฤติกรรมที่ดีในการรับประทานผักด้วย 5” นายสง่า กล่าว


รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรรงค์สื่อสารสังคม สสส. กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. นี้เป็นต้นไป สสส. ได้ยกระดับแผนงานด้านอาหารและโภชนาการเป็น “แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ” เพื่อสร้างความร่วมมือ การสนับสนุนภาคีภาครัฐและภาคส่วนต่างๆ เตรียมพร้อมรับมือวิกฤตอาหารและสุขภาพของคนไทย เนื่องจากพบว่าการผลิต-บริโภคอาหารของคนไทย ยังมีพฤติกรรมการกินไม่ถูกต้อง ไม่ปลอดภัย ส่งผลเสียต่อสุขภาพสูงมาก ทั้งภาวะอ้วนลงพุงที่มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่วัยเด็ก โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลกินเจที่คนไทยหลายคนยังมีความเข้าใจ มีพฤติกรรมการกินที่ไม่ถูกต้อง ก่อให้เกิดโรคต่างๆ ตามมาอีกมาก จึงจำเป็นต้องเร่งให้ความรู้เรื่องโภชนาการอาหารที่ถูกต้องแก่ประชาชน


 


 



ที่มา : สำนักข่าว สสส.

Shares:
QR Code :
QR Code