สสส.ผนึก อปท. 116 แห่ง จัดสัมมนา“ตลาดนัดความรู้ อปท:หัวใจการสร้างสุขชุมชน”
สสส.ผนึก อปท. 116 แห่ง จัดสัมมนา “ตลาดนัดความรู้ อปท : หัวใจการสร้างสุขชุมชน” หวังขยายผลทั่วประเทศ หลังผลตอบรับเยี่ยม ท้องถิ่นสนใจงานสร้างเสริมสุขภาวะ
เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2555 เวลา 09.30 น.ที่โรงแรมริชมอนด์ ถ.รัตนาธิเบศร์ จ.นนทบุรี โครงการพัฒนาทักษะการบริหารงานสร้างเสริมสุขภาพให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ภายใต้การสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดงานสัมมนา ตลาดนัดความรู้ “อปท.: หัวใจการสร้างสุขชุมชน” มีผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ และทีมสร้างเสริมสุขภาพองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าร่วมกว่า 550 คน
ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)กว่า 116 แห่ง ที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาทักษะการบริหารงานสร้างเสริมสุขภาพให้แก่ อปท. ทำให้เกิดการพัฒนาและองค์ความรู้มากมายทั้งประเทศ จึงได้มีการจัดสัมมนาครั้งนี้เกิดขึ้น เพื่อนำความรู้มาแลกเปลี่ยน ต่อยอด ขยายผล และเชิญชวนให้ อปท.หน้าใหม่เข้าร่วม เพื่อร่วมสร้างสุขให้ชุมชน ซึ่งมีประชาชนเป้าหมายได้รับประโยชน์โดยตรงจากโครงการมากกว่า 30,000 คน ก่อให้เกิดความเข้าใจในประเด็นสุขภาวะองค์รวมด้านเสริมสร้างสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพ โดยในปี 2555 มี อปท.สนใจเพิ่มขึ้น และเข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 65 แห่ง ซึ่งการต่อยอดของโครงการฯ จะเกิดเป้าหมาย อปท. หน้าใหม่ให้ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาค หวังอย่างยิ่งว่า การสัมมนาฯ ครั้งนี้จะเป็นการจุดประกายให้ อปท. เข้าสู่กระบวนการพัฒนากลไกการทำงานสร้างเสริมสุขภาพเพิ่มมากขึ้น
“ในปีที่ผ่านมา มีพื้นที่ที่โดดเด่น เช่น เทศบาลตำบลเมืองแก อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ สนับสนุนให้เทศบาลมีนโยบายเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ โดยให้ประชาชนในพื้นที่ใส่ใจและเข้าใจเรื่องสุขภาพองค์รวม ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยทางถนน เป็นต้น โดยเน้นให้ประชาชนเป็นเจ้าของงาน เชื่อว่า การพัฒนาทักษะการบริหารงานสร้างเสริมสุขภาพแก่ อปท. จะขยายพื้นที่ไปสู่ทั่วทุกภูมิภาคได้อย่างแน่นอน เพราะเป็นการสร้างความเข้มแข็งในชุมชน ตามความต้องการของคนในพื้นที่ที่สามารถนำไปใช้งานได้จริง”ผู้จัดการ สสส.กล่าว
ด้าน นายสุรพล เหลี่ยมสูงเนิน หัวหน้าโครงการพัฒนาทักษะการบริหารงานสร้างเสริมสุขภาพให้แก่ อปท. กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้ เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการบริหารงานสร้างเสริมสุขภาพให้แก่บุคลากรของ อปท. และช่วยก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพระหว่างคนทำงานใน อปท.ที่ผ่านกระบวนการพัฒนาทักษะการบริหารงานสร้างเสริมสุขภาพฯ นอกจากนี้ ยังเป็นการจุดประกายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สนใจ เข้าสู่กระบวนการพัฒนากลไกการทำงานสร้างเสริมสุขภาพกับ สสส.
นายสุรพล กล่าวด้วยว่า ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ดำเนินโครงการมา พบว่า อบต.ที่เข้าร่วมโครงการ มีการลงทุนงบประมาณด้านการสร้างเสริมสุขภาพมากขึ้น จากที่เริ่มต้นในปีแรกๆ ใช้งบประมาณของตนเองเพียง 30 เปอร์เซ็นต์ แต่ปัจจุบันพบว่าเพิ่มมากขึ้น เป็น 50 เปอร์เซ็นต์ และบาง อปท. เพิ่มเป็น 65 -70 เปอร์เซ็นต์ ในการบริหารโครงการเกี่ยวกับงานด้านสร้างเสริมสุขภาพ เป็นปรากฏการณ์ ที่ถือว่าองค์ความรู้ต่างๆ ที่ได้นำไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ทุกแห่งตอบรับเป็นอย่างดี แม้ว่าขณะนี้ยังไม่ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ แต่เชื่อว่าความรู้เหล่านี้จะกระจายส่งต่อกันไปเรื่อยๆ
ที่มา:สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุภาพ