ล่ามภาษามือวิกฤตหนัก ไม่เพียงพอต่อคนหูหนวก

ผอ.สถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ เปิดข้อมูลล่ามภาษามือวิกฤตหนัก ไม่เพียงพอต่อคนหูหนวกกว่า 3 แสนคน แนะครอบครัวหมั่นสังเกตบุตรหลานว่าพิการทางการได้ยินหรือไม่ จะได้ส่งเข้ารับการรักษาได้ทัน เตือนการเลี้ยงลูกที่พิการทางการได้ยินแบบพิเศษเป็นการผลักเด็กให้ออกจากสังคม แนะรัฐปรับระบบให้ร.ร.เรียนร่วมมีประสิทธิภาพในการดูแลเด็กพิการมากขึ้น พร้อมเสนอให้ปรับระยะการลางานของพ่อแม่ที่มีลูกพิการให้เป็น 2 ปีครึ่งเพื่ออยู่ดูแลลูก

ล่ามภาษามือวิกฤตหนัก ไม่เพียงพอต่อคนหูหนวก

ในงานสนทนาหัวข้อ “วิกฤตล่ามภาษามือ และการรับมือของพ่อแม่เมื่อมีลูกพิการทางการได้ยิน” โดยได้เชิญ พญ.วัชรา ริ้วไพบูลย์ ผู้อำนวยการสถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ (สสพ.) นายไพรวัลย์ แสงสุนทร นายกสมาคมล่ามภาษามือแห่งประเทศไทยเข้าร่วมเป็นวิทยากรในการสนทนา โดยการสนทนาในครั้งนี้มีเนื้อหาที่น่าสนใจถึงสถานการณ์ของล่ามภาษามือเป็นอย่างมาก

พญ.วัชรา ริ้วไพบูลย์ พญ.วัชรากล่าวว่า วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นกับล่ามภาษามือนั้น คือจำนวนล่ามที่มีอยู่เพียงน้อยนิด ซึ่งไม่เพียงพอกับผู้พิการทางการได้ยินที่มีมากถึงสามแสนคน หรือนับเป็นอันดับสองของความพิการทุกประเภท ปัญหาที่ผู้พิการทางการได้ยินพบเจอมากที่สุดคือปัญหาที่เกิดจากทั้งครอบครัวของผู้พิการเองและปัญหาที่เกิดจากสังคม

โดยปัญหาแรกจากครอบครัวนั้นคือ พ่อแม่มักจะพบความผิดปกติทางการทางการได้ยินของลูกช้า จึงส่งผลให้การรักษาและฟื้นฟูเพื่อให้เด็กมีพัฒนาการทางภาษาได้ในระยะเวลาที่เหมาะสมทำได้ยากมากขึ้น เพราะโดยปรกติแล้วสมองและการรับรู้ของเด็กๆ จะพัฒนาดีมากในช่วง 0-3 ขวบ ซึ่งถ้าหากช้าไปกว่านี้แล้วการรักษาและการพัฒนาเด็กให้เรียนรู้และพัฒนาภาษาในการสื่อสารทำได้ยาก

อย่างไรก็ตามครอบครัวที่มีลูกซึ่งเป็นผู้พิการทางการได้ยิน มักมีความเข้าใจและมีทัศนคติในการเลี้ยงลูกที่ผิด คือปล่อยให้เด็กพัฒนาเรียนรู้ไปแบบตามมีตามเกิด หรือไม่ก็เลี้ยงเด็กให้มีความพิเศษมากกว่าคนอื่น การเลี้ยงดูเด็กแบบนี้ยิ่งจะทำให้กีดกันเด็กๆ ออกจากการเรียนรู้ในสังคมและเมื่อเด็กเหล่านี้โตขึ้นก็จะประสบปัญหาการปรับตัวให้เข้าสังคม ขณะเดียวกันคนในสังคมก็ไม่มีโอกาสเรียนรุ้ที่จะอยู่ร่วมกับคนพิการ

ล่ามภาษามือวิกฤตหนัก ไม่เพียงพอต่อคนหูหนวก

ผู้อำนวยการสถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการกล่าวอีกว่า ในส่วนของสังคมหรือสิ่งแวดล้อมที่เด็กต้องพบเจอโดยหลักๆ แล้วคือโรงเรียนและมหาวิทยาลัย เรายังพบว่าศูนย์เด็กเล็กและสถานศึกษาจำนวนมากยังไม่พร้อมที่จะรับเด็กพิการทางการได้ยินไปเรียนร่วม ครูหลายท่านไม่สามารถสื่อสารกับเด็กได้เพราะไม่เข้าใจในเรื่องของภาษามือ ผู้ปกครองจึงจะต้องส่งลูกเข้าไปเรียนที่โรงเรียนเฉพาะทางคือโรงเรียนโสตศึกษาส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนประจำ และไม่มีในทุกจังหวัด ซึ่งเมื่อเด็กๆ ถูกแยกให้ออกไปอยู่ในร.ร.เฉพาะแบบนี้ ก็จะยิ่งทำให้โอกาสในการเรียนรู้แคบและน้อยลง ที่สำคัญการเรียนรู้และเข้าใจกันระหว่างเด็กกับผู้ปกครองหรือพี่น้องที่เป็นคนหูดีจะแทบไม่มีเลย ในที่สุดก็อาจเป็นการทำลายความสัมพันธ์ในครอบครัวไปโดยไม่รู้ตัว

ล่ามภาษามือวิกฤตหนัก ไม่เพียงพอต่อคนหูหนวกพญ.วัชรากล่าวว่า ในกรณีแบบนี้สสพ.เราได้พยายามเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหา โดยการสร้างโมเดลต้นแบบที่จังหวัดนครพนม โดยร่วมกับสมาคมคนพิการจังหวัดนครพนม นำเด็กซึ่งพิการทางการได้ยิน 9-10 คนมาเตรียมความพร้อมก่อนประสานส่งไปเรียนร่วมกับเด็กๆ ในโรงเรียนระบบปรกติ ซึ่งในครั้งแรกของการเรียนนั้นเด็กและครูผู้สอนพร้อมทั้งเพื่อนๆ ในโรงเรียนเองก็พบเจอปัญหาเรื่องการสื่อสารที่ไม่สามารถพูดคุยกันได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปเด็ก ๆ ซึ่งเป็นผู้พิการทางการได้ยิน 9-10 คนนั้นก็มีเพื่อนมากขึ้น เด็กที่ไม่พิการทางการได้ยินก็เริ่มเรียนรู้ภาษามือเพื่อที่จะมาคุยกับเพื่อนเขา คุณครูเองก็ไปเรียนรู้ภาษามือเพื่อที่จะมาสอนให้กับลูกศิษย์ของตนเองได้ ตนจึงขอยืนยันว่าเด็ก พิการทางการได้ยินสามารถเรียนและใช้ชีวิตในสังคมเหมือนคนทั่วไปได้หากทุกฝ่ายเปิดใจอย่างแท้จริง

สิ่งสำคัญที่สุดคือเราอยากให้หน่วยงานภาครัฐ คือองค์กรที่เกี่ยวข้องหรือประชาชนทั่วไปเอง ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้เรื่องภาษามือให้เหมือนกับการเรียนรู้ในเรื่องของภาษาเกาหลี ภาษาญี่ปุ่น หรือภาษาต่างประเทศอื่นๆ เราขอให้เรียนรู้เรื่องนี้สัก 25 เปอร์เซ็นต์ก็พอ เพราะการเรียนรู้ในเรื่องภาษามือนั้น นอกจากจะช่วยในการเปิดโลกแห่งการสื่อสารของผู้พิการทางได้ยินกับเราแล้ว เมื่อเราแก่ตัวไปการได้ยินของเราอาจจะถดถอยลงไป เราก็สามารถใช้ภาษามือในการสื่อสารกันได้ หรือแม้กระทั่งเราอาจไม่สามารถพูดได้ด้วยเหตุใดก็ตาม เราก็ยังใช้ภาษามือที่เราไปเรียนมานั้นช่วยในการสื่อสารแทนได้ด้วย

ล่ามภาษามือวิกฤตหนัก ไม่เพียงพอต่อคนหูหนวกนอกจากนี้แล้วพ่อแม่ของเด็กๆ ซึ่งเป็นผู้พิการทางการได้ยินต้องคอยหมั่นสังเกตลูกของตนเองให้ดี และเมื่อรู้สึกผิดสังเกตว่าลูกเราอาจมีความผิดปกติทางการได้ยิน ก็ต้องพยายามฝึกที่จะมีวิธีสื่อสารกับลูกเพื่อให้เขาได้พัฒนาภาษาและเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง ไม่สะดุดหยุดลง ซึ่งอาจจำเป็นต้องเรียนรู้การใช้ภาษามือ ในระยะที่ยังใช้ภาษามือไม่ได้มากก็ต้องใช้ภาษากายร่วมกับการพูดตามปกติในการดูแลสื่อสารกับลูกให้มากขึ้น เราต้องกอดลูก หรือสัมผัสลูก ต้องเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้เขาฟัง ถึงแม้ว่าเราไม่ได้ศึกษาในเรื่องของภาษามือแต่ก็ใช้รูปแบบในการสื่อสารของเราเองก็ได้” ผู้อำนวยการสถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ (สสพ.)กล่าว

พร้อมทั้งยังเสนอแนวทางในการปฏิบัติต่อรัฐบาลให้ดำเนินนโยบายเรื่องของผู้ปกครองของคนพิการทางการได้ยินให้ลางานได้ 2 ปีครึ่งเพื่อมาดูแลลูกและช่วยลูกในการปรับสภาวะทางการรับรู้ และเรียนรู้เพื่อพัฒนาทั้งทางภาษาและพัฒนาการด้านอื่นๆ ให้เหมือนกับที่ต่างประเทศได้ดำเนินการกันไปแล้อย่างไรก็ตามสำหรับคนหูหนวกที่ผ่านช่วงพัฒนาการทางภาษาแล้ว และจำเป็นต้องใช้ภาษามือ การบริการล่ามภาษามือก็จำเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะเมื่อคนไทยส่วนใหญ่ใช้ภาษามือไม่ได้และอาจไม่รู้จักภาษามือด้วยซ้ำ

นายไพรวัลย์ แสงสุนทร ทางด้านนายไพวัลย์กล่าวว่า มีสถานศึกษาหลายแห่งเข้าใจว่าล่ามภาษามือนั้น เป็นภาระในการจัดการศึกษาสำหรับเด็ก แต่ในความเป็นจริงแล้วล่ามภาษามือเป็นสิทธิที่คนพิการทางการได้ยินควรได้รับและต้องเข้าถึง แต่คนพิการทางการได้ยินอีกเป็นจำนวนมากไม่รู้ถึงสิทธิที่ตนเองจะต้องได้รับ สิ่งที่สำคัญคือเราต้องให้ความรู้ให้กับคนพิการให้เขาทราบถึงสิทธิและต้องประชาสัมพันธ์ให้เขาได้ใช้สิทธิของตนเองอย่างเต็มที่ มีมหาวิทยาลัยบางแห่งที่เปิดให้เด็กๆ ได้เรียนร่วมก็จะมีบริการจัดล่ามให้วิชาละ 1 คน แต่ในความเป็นจริงแล้วบางวิชาสอนยาวถึง 4 ชั่วโมงล่าม 1 คนก็ต้องทำงานทั้ง 4 ชั่วโมงซึ่งมันจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของล่ามนั้นๆ และจะส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็กด้วย ดังนั้นหากรัฐบาลบอกว่าจะให้เด็กๆ ทุกคนได้ศึกษาอย่างเท่าเทียมกันรัฐก็ต้องแก้ไขวิกฤตการณ์ของล่ามภาษามือที่เกิดขึ้นนี้ เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งให้กับเด็กๆ ที่พิการทางการได้ยินเข้าถึงการศึกษาให้ได้มากขึ้นด้วย

ที่มา: สถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ 

                                                

Shares:
QR Code :
QR Code