พบวัยรุ่นเสี่ยงบาดเจ็บ
ดื่มเหล้า-ไม่สวมหมวกกันน็อค
เมื่อเร็วๆ นี้ นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่า ในปี 2548-2552 สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้สำรวจกลุ่มนักเรียนอาชีวศึกษาปีที่ 2 และกลุ่มนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 2 และปีที่ 5 ใน 24 จังหวัด อายุเฉลี่ย 16-17 ปี จำนวน 234,483 ราย พบว่า วัยรุ่นมีพฤติกรรมเสี่ยงบาดเจ็บ พิการ และเสียชีวิตก่อนวัยอันควร โดยพฤติกรรมเสี่ยงที่พบสูงอันดับ 1 ได้แก่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 50 อันดับ 2 ทะเลาะวิวาท ร้อยละ 23 อันดับ 3 ใช้สารเสพติด เช่น กัญชากระท่อม ยาบ้า ร้อยละ 19 อันดับ 4 ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนขับขี่รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 14 ซึ่งถือเป็นพฤติกรรมการขับขี่ที่นับว่าน่าเป็นห่วงมาก
นอกจากนี้ ยังมีผลสำรวจของศูนย์อุบัติเหตุแห่งประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ระบุอีกว่า ในปี 2552 พบว่าอายุยิ่งน้อย ยิ่งไม่สวมหมวกนิรภัย และยิ่งดึกก็ยิ่งไม่สวมเช่นกัน โดยจะสวมหมวกนิรภัยในช่วงเดินทางไปทำงาน หากเดินทางในระยะใกล้ๆ จะไม่สวม จากข้อมูลการเฝ้าระวังการบาดเจ็บในกลุ่มผู้บาดเจ็บรุนแรงอายุ 15 ปีขึ้นไป ที่รับไว้รักษาในโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลขนาดใหญ่ 30 แห่งทั่วประเทศ พบว่า ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ไม่สวมหมวกนิรภัยจะเสี่ยงเสียชีวิต ร้อยละ 93 คนซ้อนท้ายเสี่ยงเสียชีวิต ร้อยละ97 โดยในกลุ่มที่บาดเจ็บดังกล่าว บาดเจ็บที่ศีรษะมากถึงร้อยละ 81 ค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้บาดเจ็บที่ไม่ได้สวมหมวกนิรภัยรายละ 15,992 บาท ซึ่งสูงเป็น 3 เท่าของผู้บาดเจ็บที่สวมหมวกนิรภัย
ดังนั้น ในการลดการบาดเจ็บรุนแรงหรือเสียชีวิตในกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ทั้งผู้ขับและคนซ้อนท้าย ต้องสวมหมวกนิรภัยและคาดสายรัดคางทุกครั้ง เพราะจะช่วยปกป้องอันตรายที่ศีรษะและลดการบาดเจ็บรุนแรงที่สมองได้ ซึ่งปีนี้ รัฐบาลได้ประกาศให้เป็นปีรณรงค์สวมหมวกนิรภัย 100%
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน
update : 05-01-54
อัพเดทเนื้อหาโดย : สุนันทา สุขสุมิตร