การควบคุมและความหมายของการพนัน
หลายคนอาจจะยังไม่กระจ่างว่า การละเล่นต่อรองแบบใดที่ถือว่าผิดกฎหมาย เรามีมาไขความกระจ่างเรื่องนี้ให้ฟังค่ะ
กฎหมายที่ใช้ควบคุมการเล่นการพนันของประเทศไทยในปัจจุบัน คือ พระราชบัญญัติ การพนัน พุทธศักราช 2478 กฎกระทรวงและระเบียบที่ออกตามความในพระราชบัญญัติการพนัน ฯ รวมทั้งบทบัญญัติในมาตรา 853 มาตรา 854 และ มาตรา 855 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ความหมายของ “การพนัน” พระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478 มิได้มีบทวิเคราะห์ศัพท์ไว้โดยตรง แต่สามารถหาความหมายหรือคำจำกัดความของการพนันได้ดังนี้
(1) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 การพนัน หมายถึงการเล่นเอาเงิน หรือสิ่งอื่นโดยอาศัยความฉลาด ความชำนาญ เล่ห์เหลี่ยม ไหวพริบและฝีมือรวมทั้งโชคด้วย
(2) บทบัญญัติบางมาตราของพระราชบัญญัติการพนัน ฯ ได้กล่าวถึงลักษณะการพนันเอาไว้ ได้แก่ มาตรา 4 ทวิ วรรคสอง บัญญัติว่า “คำว่า “การเล่น” ให้หมายความรวมตลอดถึงการทายและการทำนายด้วย” ซึ่งแสดงว่าการพนันในกฎหมายนี้รวมถึงการขันต่อด้วย และในมาตรา 5 บัญญัติว่า “ผู้ใดจัดให้มีการเล่นซึ่งตามปกติย่อมจะพนันเอาเงินหรือทรัพย์สินอย่างอื่นแก่กัน” หรือมาตรา 9 บัญญัติว่า “การเล่นอย่างใดที่เสี่ยงโชคให้เงินหรือประโยชน์อย่างอื่นแก่ผู้เล่น” แสดงความหมายของการพนันว่าจะต้องมีการเล่นที่มีลักษณะได้หรือเสียเงินหรือทรัพย์สินกันในตัว
(3) ศาลฎีกาได้วินิจฉัยการเล่นที่เป็นการพนันไว้ว่าจะต้องมีลักษณะที่ผู้เล่นเสี่ยงต่อการได้และเสีย
(4) คณะกรรมการกฤษฎีกา กรรมการร่างกฎหมาย กองที่ 3 ได้ให้ความเห็นถึงลักษณะของการพนันเอาไว้สรุปความได้ว่า จะถือว่าเป็นการพนันได้ผู้เล่นจะต้องเสี่ยงต่อการเสียประโยชน์
(5) คำนิยามจากนักวิชาการด้านกฎหมายเช่น รุ่งโรจน์ รื่นเริงวงศ์ “การพนัน คือ สัญญาที่ก่อให้เกิดการเสียเงินหรือทรัพย์สิน โดยคู่สัญญาถือเอาผลแห่งเหตุการณ์ในอนาคตอันไม่แน่นอน ซึ่งคู่สัญญาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นเครื่องชี้ขาด” ชุมพล โลหะชาละ “การพนัน คือ การเข้าเล่นเสี่ยงโชค ซึ่งต้องใช้ไหวพริบและฝีมือมาพนันเอาทรัพย์สินกันโดยชอบหรือมิชอบด้วยกฎหมายก็ตาม เช่น การเล่นไพ่ตอง บิลเลียดรู และตีผี เป็นต้น”
การเล่นตามพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478 แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
การเล่นการพนัน ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478 ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
(1) การพนันประเภทห้ามเด็ดขาดได้แก่ การเล่นตามบัญชี ก. ท้ายพระราชบัญญัติ การพนัน พุทธศักราช 2478 ซึ่งมี 28 ชนิด คือ 1.หวย ก.ข. 2.โปปั่น 3.โปกำ 4.ถั่ว 5.แปดเก้า 6.จับยี่กี 7.ต่อแต้ม 8.เบี้ยโบกหรือคู่คี่หรืออีโจ้ง 9.ไพ่สามใบ 10.ไม้สามอัน 11.ช้างงาหรือป๊อก 12.ไม้ดำไม้แดงหรือปลาดำปลาแดงหรืออีดำอีแดง 13.อีโปงครอบ 14.กำตัด 15.ไม้หมุนหรือล้อหมุนทุกๆ อย่าง 16.หัวโตหรือทายภาพ 17.การเล่นซึ่งมีการทรมานสัตว์ เช่น เอามีดหรือหนามผูกหรือวางยาเบื่อยาเมา ให้สัตว์ชนหรือต่อสู้กัน หรือสุมไฟบนหลังเต่าให้วิ่งแข่งขันหรือการเล่นอื่นๆ ซึ่งเป็นการทรมานสัตว์อันมีลักษณะคล้ายกับที่ว่ามานี้ 18.บิลเลียดรู ตีผี 19.โยนจิ่ม 20.สี่เหงาลัก 21.ขลุกขลิก 22.น้ำเต้าทุกๆ อย่าง 23. ไฮโลว์ 24.อีก้อย 25.ปั่นแปะ 26. อีโปงซัด 27.บาการา 28.สล๊อตแมชิน
การเล่นอันระบุไว้ในบัญชี ก. ประเภทนี้ ห้ามมิให้อนุญาตจัดให้มีหรือเข้าเล่น หรือเข้าพนันในการเล่นโดยเด็ดขาด เว้นแต่ในกรณีที่รัฐบาลพิจารณาเห็นว่า ณ สถานที่ใดสมควรจะอนุญาตภายใต้บังคับเงื่อนไขใดๆ ให้มีการเล่นชนิดใดก็อนุญาตได้โดยออกพระราชกฤษฎีกา ตามมาตรา 4 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการพนัน ฯ ซึ่งจะเห็นได้ว่า การอนุญาตกระทำได้ยาก จึงมีผลเท่ากับไม่อนุญาตให้จัดให้มีการเล่นในตัว
(2) การพนันประเภทอนุญาตได้แก่ การเล่นตามบัญชี ข. ท้ายพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478 ซึ่งมี 28 ชนิด คือ 1.การเล่นต่างๆ ที่ให้สัตว์ต่อสู้หรือแข่งขัน เช่น ชนโค ชนไก่ กัดปลา แข่งม้า ฯลฯ นอกจากที่กล่าวมาในอันดับ 17 แห่งบัญชี ก. 2.วิ่งวัวคน 3.ชกมวย มวยปล้ำ 4.แข่งเรือพุ่ง แข่งเรือล้อ 5.ชี้รูป 6.โยนห่วง 7.โยนสตางค์หรือวัตถุใดๆ ลงในภาชนะต่างๆ 8.ตกเบ็ด 9.จับสลากโดยวิธีใดๆ 10.ยิงเป้า 11.ปาหน้าคน ปาสัตว์หรือสิ่งใดๆ 12.เต๋าข้ามด่าน 13.หมากแกว 14.หมากหัวแดง 15.บิงโก 16.สลากกินแบ่ง สลากกินรวบ หรือการเล่นอย่างใดที่เสี่ยงโชคให้เงิน หรือประโยชน์อย่างอื่นแก่ผู้เล่นคนใดคนหนึ่ง 17.โตแตไลเซเตอร์สำหรับการเล่นอย่างใดอย่างหนึ่ง 18.สวีปสำหรับการเล่นอย่างใดอย่างหนึ่ง 19.บุ๊กเมกิ้งสำหรับการเล่นอย่างใดอย่างหนึ่ง 20.ขายสลากกินแบ่ง สลากกินรวบหรือสวีปซึ่งไม่ใช่ออก ในประเทศไทย แต่ได้จัดให้มีขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายของประเทศที่จัดนั้น 21.ไพ่นกกระจอก ไพ่ต่อแต้ม ไพ่ต่างๆ 22.ดวด 23.บิลเลียด 24.ข้องอ้อย 25.สะบ้าทอย 26.สะบ้าชุด 27.ฟุตบอลโต๊ะ 28.เครื่องเล่น ซึ่งใช้เครื่องกล พลังไฟฟ้า พลังแสงสว่าง หรือพลังอื่นใดที่ใช้เล่นโดยวิธีสัมผัส เลื่อน กด ดีด ดึง ดัน ยิง โยน โยก หมุน หรือวิธีอื่นใด ซึ่งสามารถทำให้แพ้ชนะกันได้ไม่ว่าจะโดยมีการนับแต้มหรือเครื่องหมายใดๆ หรือไม่ ก็ตาม
ที่มา :สุชาติ นพวรรณ รักษาการในตำแหน่ง ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกฎหมาย