ไวรัสมันฝรั่งต้านอัลไซเมอร์
ชี้ความหวังใหม่ของผู้สูงอายุเผยชะลอได้
ผลการศึกษาของทีมนักวิทยาศาสตร์สหรัฐพบว่าไวรัสบางชนิดที่อาศัยมันฝรั่งเป็นแหล่งอาหารอาจเป็นความหวังใหม่ของวงการแพทย์โลกที่จะนำมาสกัดเป็นสารแอนติบอดีเพื่อใช้ในการชะลออาการหรือป้องกันโรคอัลไซเมอร์ในกลุ่มผู้สูงอายุ
ทีมนักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเคส เวสเทิร์น รีเสิร์ฟ รายงานว่า จากการศึกษารายละเอียดของมันฝรั่งพบว่าในมันฝรั่งมักพบไวรัสชนิดหนึ่งที่มีคุณสมบัติและลักษณะคล้ายสารแป้งอมิลอยด์ที่พบในสมองผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ ด้วยเหตุนี้ทีมนักวิทยาศาสตร์จึงเตรียมต่อยอดคอนเซ็ปต์ดังกล่าวมาพัฒนายารักษาโรคอัลไซเมอร์ในอนาคต
ทั้งนี้ ในห้องปฏิบัติการนักวิทยาศาสตร์ได้สกัดสารแป้งจากไวรัสที่อาศัยอยู่ในมันฝรั่งแล้วนำสารที่ได้มาผลิตเป็นแอนติบอดีชื่อ pvy จากนั้นนำแอนติบอดีชนิดดังกล่าวฉีดลงไปในหนูทดลองที่มีอาการของโรคอัลไซเมอร์ติดต่อกันเป็นเวลา 4 เดือน เดือนละ 1 เข็ม แล้วติดตามผล ผลที่ออกมาพบว่าในร่างกายของหนูหลังได้รับแอนติบอดีมีระดับการผลิตภูมิคุ้มกันซึ่งสามารถดูดซับสารแป้งอมิลอยด์ที่เป็นต้นเหตุของโรคอัลไซเมอร์ได้ในระดับสูงขึ้น ส่งผลให้หนูมีอาการของโรคร้ายที่ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาให้หายลดลง
นอกจากนี้จากการทดลองครั้งเดียวกันยังพบด้วยว่าแอนติบอดีที่ฉีดเข้าไปทำให้พัฒนาการของโรคอัลไซเมอร์ช้าลง ขณะที่ระบบความจำของสมองได้รับการฟื้นฟูอย่างช้าๆ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเหตุที่ผู้ป่วยกลับมามีความจำที่ดีอีกครั้งน่าจะเป็นผลมาจากแอนติบอดีที่ฉีดเข้าไปได้ทำลายคราบแป้งอมิลอยด์ในสมอง อย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์ยืนยันว่ายังจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม ก่อนจะนำวัคซีนชนิดนี้มาใช้จริงกับมนุษย์ต่อไป
ที่มา : หนังสือพิมพ์โลกวันนี้
update : 19-08-51