‘ไร้บ้าน’ ไม่ไร้ “หวัง” แค่ให้โอกาส
ที่มา: ข่าวสด
แฟ้มภาพ
ปัจจุบันมีการส่งเสริมศักยภาพผู้สูงอายุผ่าน ปักแหล่ง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะไร้สิ้นซึ่งความหวัง เขาต่างต้องการมีที่อยู่แน่นอน มีครอบครัวที่ดี มีอาชีพการงานที่มีรายได้ดูแลตนเองได้
เมื่อไม่นานมานี้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายได้ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาวะคนไร้บ้าน ที่ศูนย์ประสานงานกลุ่มเพื่อนคนไร้บ้าน อ.เมือง จ.ขอนแก่น
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า คนไร้บ้านไม่ใช่แค่ไร้บ้าน แต่เขาไร้ทุกอย่าง ไร้สิทธิ ไร้ที่อยู่อาศัย ไร้อาชีพ ทุกคนในผืนแผ่นดินไทยมีขีดความสามารถที่แตกต่างกัน หลายคนได้รับโอกาสทางสังคม มีความเป็นอยู่ที่สมบูรณ์ กับบางกลุ่มที่ขาดโอกาสเกือบทุกอย่างในชีวิตด้วยปัจจัยทางครอบครัว หรือสิ่งแวดล้อม ทำให้ต้องอพยพตนเองเข้ามาในเขตชุมชนเมืองเพื่อหารายได้ แต่เมื่อไม่เป็นอย่างที่หวัง ไม่มีเงินแม้กระทั่งจะกลับบ้านเดิมตนเอง บางคนมีปัญหาสุขภาพจิตหลงจากบ้านออกมา ติดสุรา ติดยาเสพติด สุดท้ายกลายเป็นคนไร้บ้าน ซึ่งบุคคลเหล่านี้มีมากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมไทย ซึ่งคนไร้บ้านเหล่านี้ไม่ใช่บุคคลอันตรายเพียงแต่ขาดการเข้าถึงสุขภาวะที่ดี ไม่มีรายได้ที่มั่นคง ซึ่งโจทย์ของ สสส. คือการพัฒนาส่งเสริมสุขภาวะคนไร้บ้าน ซึ่งปัจจุบันในกรุงเทพฯ มีคนไร้บ้านประมาณ 1,307 คน ขอนแก่น 136 คน เชียงใหม่ 75 คน ที่ต้องได้รับการพัฒนาเครือข่าย พัฒนาแกนนาคนไร้บ้าน สร้างองค์ความรู้ ส่งเสริมให้เกิดอาชีพ และมีการสื่อสารรณรงค์เพื่อกระตุ้นให้เกิดการตระหนักเข้าใจและร่วมกันแก้ไขปัญหาคนไร้บ้าน
"นอกจากนี้ทิศทางการดำเนินการสร้างเสริมสุขภาวะคนไร้บ้านในระยะต่อไปคือ 1. สำรวจสถานการณ์คนไร้บ้านทั้งเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพ 2. เสริมศักยภาพแกนนำคนไร้บ้านและเครือข่ายคนไร้บ้านให้รู้จักดูแลตนเอง โดยใช้แนวคิดการจัดตั้งทางความคิด ด้วยการจัดประชุมสร้างจุดรวม ประสานงานฝ่ายแกนนำคนไร้บ้านให้มีบทบาทในการขับเคลื่อนช่วยเหลือคนไร้บ้านด้วยกันเอง 3. ขับเคลื่อนนโยบาย "โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มคนไร้บ้าน ตั้งแต่ พ.ศ. 2559-2560 ตามมติ ครม.วันที่ 8 มีนาคม 2559 ด้วยการสื่อสารผ่านสื่อสาธารณะ 4. พัฒนาระบบบริหารจัดการศูนย์พักคนไร้บ้าน โดยเน้นการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการของคนไร้บ้าน เช่น สอนวิธีการปลูกผัก เลี้ยงปลา มีอาหารที่ปลอดภัยไว้กิน การป้องกันโรค 5. เปิดพื้นที่ให้เข้าถึงบริการต่างๆ ด้วยการจัดตั้งจุดลงทะเบียน 1. ผู้ที่ทำบัตรประชาชนหาย 2. ผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพเข้าใช้บริการทางการแพทย์ไม่ได้ 3. ผู้ที่ต้องการมีอาชีพ ด้วยกระบวนการทั้งหมดจะหนุนเสริมให้คนไร้บ้านมีศักยภาพดูแลตนเองได้ไม่กลับมาเป็นคนไร้บ้าน และลดจำนวนคนไร้บ้านหน้าใหม่ไม่ให้เกิดขึ้นอีก" ดร.สุปรีดา กล่าว
ด้าน นพ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองประธานกรรมการกองทุน สสส. กล่าวว่า ส่วนใหญ่คนไร้บ้านจะอยู่ในเขตอำเภอเมือง ซึ่งคนเหล่านี้มีความหวาดกลัวมีความหวาดระแวงว่าจะถูกทำร้าย หรือถูกขโมยทรัพย์สินที่อาจจะเหลือแค่ชิ้นสุดท้าย ดังนั้นในการลงพื้นที่สำรวจจะค่อนข้างยาก เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ไม่ไว้ใจไคร ดังนั้นจึงใช้วิธีการเดินกาแฟ คือการเดินสร้างความคุ้นเคยพูดคุยผูกมิตรกับคนไร้บ้าน จากนั้นคนไร้บ้านจะเริ่มไว้ใจกล้าที่จะบอกความเป็นมาบอกประวัติของตนเอง ซึ่งได้ สสส. เข้ามาสนับสนุน ประเมินภาพรวมปัญหาสถานการณ์ และร่วมแก้ไข และทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) รวมถึงภาคีเครือข่าย เข้ามาช่วย อาจใช้วิธีการฉายหนังเร่ เพื่อให้เกิดการรวมตัวกัน และสอดแทรกความรู้ให้สอดคล้องกับนโยบายและมาตรการ และยังเน้นให้เกิดแรงกระตุ้นที่อยากจะพัฒนาตนเอง อยากกลับบ้าน ก็จะเตรียมทีมจัดส่งกลับบ้าน ให้ค่ารถ ค่าอาหารให้กลุ่มคนไร้บ้านคืนสู่ถิ่นฐาน ตามแนวคิด "บอลลูนโมเดล" ดูแลคนไร้บ้าน ส่งกลับสังคมอย่างมีศักดิ์ศรี และอีกส่วนที่ได้รับการพัฒนาสร้างอาชีพ เพื่อคืนสู่สังคมอย่างมีคุณภาพต่อไป
เสียงจากคนไร้บ้านอย่าง นายเอ นามสมมติ ที่ตั้งใจเข้ามาทำงานในเมือง แต่กลับไม่เป็นอย่างใจหวัง เล่าทั้งน้ำตาว่า ตนกับภรรยา เข้ามาทำงานตั้งแต่อายุ 18 ปี แต่สุดท้ายช่วงเศรษฐกิจตกต่ำก็ถูกเลิกจ้าง เราไม่ได้เรียนหนังสือไม่มีเงินติดตัวแม้แต่จะกลับบ้าน อาศัยนอนริมฟุตบาท ผ่านความหนาวเหน็บจากฤดูหนาวด้วยการใช้หนังสือพิมพ์มาห่อตัว นอนไม่เคยหลับสนิท บางครั้งคิดท้อใจถึงขั้นอยากฆ่าตัวตาย อาหารก็ไม่มีกินต้องรอกินของเหลือจากคนอื่นมาใช้ประทังชีวิตทั้งคู่ จนมีกลุ่มคนที่มาเดินกาแฟได้เข้ามาสอบถามชื่อและประวัติของตน หลังจากนั้นจึงได้รับความช่วยเหลือและได้เข้ามาอยู่ในศูนย์พักคนไร้บ้าน ขอนแก่น มีนักวิชาการจาก สสส. มาให้ความรู้ สอนปลูกผัก เลี้ยงปลา สอนกระบวนการใช้สิทธิประโยชน์ การกินอาหารที่สะอาด ปลอดภัย การป้องกันโรคต่างๆ มีงานรับจ้างที่ไหน คนก็จะมาจ้าง มีรายได้เพิ่มขึ้น เริ่มมีเงินออม เพราะในบั้นปลายอยากมีบ้าน และลงทุนสร้างอาชีพของตนเอง เช่น เปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยว ซึ่งในศูนย์คนไร้บ้าน คนที่เขาอยู่มาก่อนหลายคน เก็บเงินได้ และออกไปสร้างกิจการเป็นของตนเอง เห็นแบบนี้ตนและภรรยายิ่งเกิดกำลังใจในการสร้างอนาคตของตนเองอีกครั้ง
ในการทำงานช่วยเหลือคนไร้บ้าน จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ และมุ่งไปที่นโยบายสุขภาพ เพื่อให้คนไร้บ้านเหล่านี้มีพื้นฐานสุขภาวะที่ดี พร้อมที่จะกลับสู่สังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่ย้อนกลับมาเป็นคนไร้บ้านอีกต่อไป