ไทยสัมมนา “อ้วนซัมมิท” หวังรักษาโรคลงพุง
แนวทางสุขภาพที่ดีของคนทั่งโลก
ไทยเจ้าภาพจัดสัมมนา “อ้วนซัมมิท” ต้นกุมภาฯ หวังเป็นศูนย์กลางวิชาการรักษาผู้ป่วยภาวะ “อ้วน-ลงพุง” ที่ถูกต้อง เผยในรอบ 8 ปีเด็กน้ำหนักเกินพุ่งขึ้น 3 เท่า โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันคุกคาม เหตุบริโภคแป้ง น้ำตาลเกินความจำเป็น
นพ.ฆนัท ครุธกุล ผู้จัดการศูนย์หัวใจ หลอดเลือด และเมทแทบอลิซึม โรงพยาบาลรามาธิบดี และกรรมการเครือข่ายคนไทยไร้พุง เปิดเผยว่า จากการเปิดคลีนิครักษาและป้องกันปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดของโรงพยาบาลรามาธิบดี ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มีข้อมูลที่ค่อนข้างน่าวิตกคือ สถิติของเด็กวัยเรียน อายุระหว่าง 9-14 ปี ที่มีน้ำหนักเกิน หรือโรคอ้วน เข้ามารักษามากขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมที่เคยสำรวจพบว่า มีเด็กอ้วน หรือเด็กที่มีน้ำหนักเกินแค่ 5-10% ในปี 2544 แต่ปัจจุบันผ่านมา 8 ปี ได้เพิ่มเป็น 30% ถือว่าสูงขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง นอกจากนี้ยังพบว่า 80% เด็กที่มีปัญหาน้ำหนักเกินนั้นเลี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ โรคความดัน และเบาหวาน
“สาเหตุการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัวเด็กเกิดจากพฤติกรรม สภาพแวดล้อม และสังคมที่เปลี่ยนไป จากเดิมสมัยก่อนเด็กๆ จะมีกิจกรรมยามว่าง คือ วิ่งเล่นกับเพื่อนๆ ถือเป็นการออกกำลังกายไปในตัว แต่ปัจจุบันกิจกรรมของเด็กจะเปลี่ยนเป็นการเล่นเกมคอมพิวเตอร์ หรือเกมออนไลน์ ซึ่งจะนั่งอยู่กับที่ และระหว่างเล่นจะมีของขบเคี้ยวที่มีส่วนประกอบหลักคือแป้ง และน้ำตาล ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ เมื่อปี 2544 สำรวจพบว่า คนไทยกินน้ำตาลเฉลี่ยคนละ 16 ช้อนชา ต่อวัน แต่ช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา พบว่า คนไทยกินน้ำตาลมากกว่า 16 ช้อนชาต่อคนต่อวัน ในขณะแพทย์แนะนำว่าควรจะบริโภคไม่เกิน 2 ช้อนชาต่อมื้อ หรือไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน แต่ปัจจุบัน คาดว่าปริมาณดังกล่าวน่าจะสูงขึ้นมาแล้ว เพราะแนวโน้มการบริโภคอาหารหวานมีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในเด้ก” นพ.ฆนัทกล่าว
นพ.ฆนัทกล่าวว่า จากการพูดคุยกับเด็กและผู้ปกครองที่นำเด็กมารักษาโรคอ้วนในคลีนิคมักจะพบว่า เด็กจะชอบกินอาหารขบเคี้ยว และเบเกอรี่ ส่วนใหญ่จะกินไม่เป็นมื้อ คืออยากกินเมื่อไหร่ก็กินได้ทันที ที่น่าเป็นห่วงคือ อาหารประเภทเบเกอรี่ ปัจจุบันมีการขยายตลาดออกไปในต่างจังหวัด ทั้งในรูปแบบของแฟรนไชส์ และขายกันในตลาดนัด จากการตรวจสอบพบว่า เบเกอรี่จะใช้ไขมันที่เป็นพวกเนยเทียม และครีมเทียมเป็นหลัก เพื่อลดต้นทุนการผลิต มีราคาค่อนข้างถูก ทำให้ทุกครัวเรือนสามารถซื้อมาบริโภคได้
“สถิติการเพิ่มขึ้นของเด็กอ้วนหรือเด็กที่มีน้ำหนักเกินที่เข้ามารับการรักษาในปี 2552 มากกว่าในปี 2551 ถึง 2 เท่า และยังพบว่ามีเด็กที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน และโรคไขมันในเลือดผิดปกติเพิ่มมากขึ้นด้วย แต่มองอีกแง่หนึ่งถือว่า เป็นเรื่องดีที่พ่อแม่ผู้ปกครองเอาใจใส่ในสุขภาพของลูกมากขึ้น จึงนำมารักษาแต่เนิ่นๆ” นพ.ฆนัทกล่าว
ด้านนพ.สุรัตน์ โคมินทร์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนวิทยาคลีนิก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โรงพพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันฝึกอบรมแพทย์ต่างๆ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนและสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จะจัดการประชุมทางวิชาการระดับนานาชาติ “อ้วนซัมมิท” หรือ “obesity summit thailand 2010″ ระหว่างวันที่ 4-6 กุมภาพันธ์ 2553 ทั้งนี้เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางในด้านวิชาการการดูแลรักษาผู้ป่วยภาวะอ้วนและอ้วนลงพุงที่ถูกต้อง จะมีแพทย์ และนักโภชนาการจากทุกภูมิภาคทั่วโลก มาร่วมประชุม ซึ่งจะช่วยยกระดับและเพิ่มทักษะของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ให้มีความรู้ในการดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคอ้วนและภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้มาตรฐานคลีนิคลดน้ำหนักในประเทศไทยดีขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งให้ความรู้แก่ภาคอุตสาหกรรมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและควบคุมน้ำหนักอย่างถูกต้องอีกด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นักวิชาการจากเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ร่วมกับกรมอนามัยศึกษาพฤติกรรมการบริโภคขนมและเครื่องดื่มของเด็กใน 24 ชั่วโมง จากเด็ก 5,764 คน ใน 143 โรงเรียน และศูนย์เด็กเล็ก 9 แห่ง ใน 24 จังหวัดพบว่า เด็กบริโภคขนม เครื่องดื่ม ทั้งสิ้น 27,771 รายการเมื่อนับตามบรรจุภัณฑ์ที่บริโภคสูงสุดคือ เครื่องดื่ม 84% รองลงมาคือ ขนมกรุบกรอบ 48% และลูกกวาด 35% ตามลำดับ
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน
update: 18-01-53
อัพเดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร