ให้สองเรา..เท่าเทียมกัน
เพื่อโลกสดใส กายสุขสันต์
อยากรู้เหลือเกินว่าในยุคปู่ทวดของเรา ซึ่งเป็นยุคที่ “ผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้า” บริหารงานเบ็ดเสร็จทั้งในสังคมและครอบครัว ว่าผู้ชายจะต้องเป็นผู้นำและเป็นใหญ่ในบ้าน โดยกำหนดให้ผู้หญิงเป็นเพียงแม่บ้านที่จะต้องอยู่ในโอวาทของพ่อบ้านหรือผู้ชายเท่านั้น
ในยุคนั้นส่วนใหญ่ผู้หญิงจึงเป็นเสมือนประชาชนชั้นสองที่ไม่มีปาก ไม่มีเสียง ผู้ชายต้องการอย่างไร ต้องตอบสนองและรับใช้เท่านั้น มาถึงวันนี้ผู้หญิงพัฒนาตัวเองจนสามารถหลุดพ้นมาจากขนบประเพณีแต่ดั้งเดิม จนสามารถออกมายืนอยู่บนระนาบเดียวกับผู้ชาย จากผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง กลายเป็นผู้หญิงแถวหน้าเช่นเดียวกับผู้ชายเหมือนกัน
ความเสมอภาคระหว่างหญิงและชายก็ยังต้องมีการพัฒนาเพื่อสร้างความเสมอภาคต่อไป เพราะวันนี้ในหลายสังคมระหว่างหญิงและชาย ฝ่ายหญิงยังไม่ได้รับความเสมอภาคและความเป็นธรรมจากสังคมอย่างสมบูรณ์ ดังจะเห็นได้จากข้อมูลจากการสำรวจถึงเรื่องทัศนคติและความคิดเห็นของบรรดาผู้ชาย ในหัวข้อว่า “แค่เลิกคิดว่า…ชายเป็นใหญ่ สิ่งดีๆ ก็เกิดขึ้นได้”
แบบสำรวจความเห็นดังกล่าว จัดขึ้นโดย มูลนิธิเพื่อนหญิงระหว่างวันที่ 17 – 23 ตุลาคม ที่ผ่านมา โดยมีกลุ่มตัวอย่างเป็นเพศชายทั้งหมด 1,139 คน จาก 9 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ, สุรินทร์, อำนาจเจริญ, ชุมพร, สมุทรสาคร, นครปฐม, สมุทรปราการ, เชียงใหม่ และลำพูน
พบว่าทัศนคติของผู้ชายในมิติ ความเสมอภาคหญิงชายนั้นดีขึ้นกว่าอดีตมาก คือ ผู้ชายส่วนใหญ่เห็นว่า การแสดงออกถึงความเป็นชายคือการรักและรับผิดชอบครอบครัวไม่ใช่การดื่มเหล้า โดยกลุ่มตัวอย่างเห็นด้วยถึงเห็นด้วยอย่างยิ่งในประเด็นนี้กว่าร้อยละ 89.60
และเมื่อถามว่า “ผู้ชายเป็นได้ทั้งผู้นำและผู้ตามในบ้านควรรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ไม่ยึดความคิดตัวเองเป็นหลัก” พบว่า มีผู้ชายที่เห็นด้วยและเห็นด้วยอย่างยิ่งสูงถึงร้อยละ 91.90
ส่วนประเด็น “ผู้ชายที่ช่วยทำงานบ้าน เป็นการช่วยกันแบ่งเบาภาระของผู้หญิง และถือเป็นงานของครอบครัว” พบว่าผู้ชายที่เห็นด้วยและเห็นด้วยอย่างยิ่งกว่าร้อยละ 89.80
และเมื่อถามว่า “ผู้ชายรักเดียว ใจเดียว ซื่อสัตย์กับภรรยาน่ายกย่อง” มีผู้ชายมากถึงร้อยละ 86.90 ที่เห็นด้วยและเห็นด้วยอย่างยิ่ง
ส่วนคำถามว่า “ภรรยาไม่ใช่สมบัติของสามี จึงต้องให้เกียรติ ไม่ดุด่า ทุบตี บังคับหลับนอน” ปรากฏว่าเป็นที่น่าดีใจ เพราะกลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 82.60 ที่เห็นด้วยและเห็นด้วยอย่างยิ่ง
และคำถามที่ว่า “ผู้ชายต้องเข้ามามีส่วนเลี้ยงดูลูกไม่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้หญิงฝ่ายเดียว” พบว่าร้อยละ 89.40 ที่ผู้ชายเห็นด้วยและเห็นด้วยอย่างยิ่ง
มาถึงประเด็นการยอมรับความสามารถของผู้หญิง กับคำถามว่า “ความสามารถไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพศ ผู้หญิงก็มีความสามารถไม่ด้อยไปกว่าผู้ชาย” พบว่าผู้ชายกว่าร้อยละ 85.60 ที่เห็นด้วยและเห็นด้วยอย่างยิ่ง
จากข้อมูลของภาคสนามที่ได้มาดังกล่าวนี้น่าจะเป็นมิมิตหมายที่ดีในภายภาคหน้าเกี่ยวกับการส่งเสริมความเสมอภาคหญิงกับชายและการยุติปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิง เพื่อเป็นการร่วมฉลอง ในโอกาสเดือนแห่งการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก ภายใต้แคมเปญ “สองเราเท่าเทียม” เพื่อลดเจตคติชายเป็นใหญ่ รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้หญิงเข้ามามีสิทธิและบทบาทในสังคมมากขึ้น
หากวันใดฟ้ากลายเป็นสีทองผ่องอำไพ ผู้หญิงมีความเสมอภาคเท่าเทียมกับผู้ชายและสังคม มอบความเป็นธรรมของความเป็นมนุษย์ให้เท่าเทียมกัน ไม่แบ่งแยกความเป็นหญิงความเป็นชาย โลกสีน้ำเงินใบนี้คงจะเป็นโลกที่สดใสยิ่งขึ้นและน่าจะส่งผลให้ทั้งกายและใจของมนุษย์บนโลกใบนี้เต็มไปด้วยความสุขสันต์ มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความเป็นอยู่ที่ สุขกาย สบายใจ เหมือนกับว่าคำทำนายที่กล่าวกันมานับเป็นพันปีแล้วที่บอกว่า วันหนึ่งจะถึงยุคของพระศรีอารย์ ที่โลกจะเต็มไปด้วยความสงบสุข แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน
ความร่วมมือร่วมใจเพื่อสร้างให้โลกใบนี้เป็นโลกสดใสกายสุขสันต์ คงต้องอาศัยความร่วมมือของคนทั้งประเทศโดยไม่แยกว่าจะเป็นภาครัฐหรือภาคเอกชน เพราะการสร้างสรรค์สังคมใหม่ การเปลี่ยนแปลงค่านิยมและทัศนคติที่ฝังอยู่ในเจตคติของคนมาด้วยเวลาอันยาวนั้นแล้วนั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขกันได้ง่ายเหมือน เอาดินมาปั้นตุ๊กตา ที่นึกอยากจะเปลี่ยนแปลงก็สามารถยุบใหม่และทำได้ในทันที
การสร้างสังคมในฝันและการเปลี่ยนค่านิยมของมวลชนจึงเป็นเรื่องที่พลเมืองทุกคนจะต้องตั้งใจจริงและตั้งใจมั่นเพื่อให้ความคิดที่เป็นเพียงนามธรรม กลายเป็นรูปธรรมที่สามารถจับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรม
ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จย่อมอยู่ที่นั่นและอนิจจังเป็นของไม่เที่ยง คือ สิ่งที่จะเป็นกำลังใจให้คนที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงมีความหวังขึ้นมาได้ ขอเพียงต้องอดทนเพื่อรอเวลาและรอผลจากการกระทำที่มันจะปรากฏผลขึ้นมาในวันใดวันหนึ่ง
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
Update : 24-11-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : กิตติภานันทร์ ลีจันทึก