ใส่ใจพนักงานแบบ“อมตะกรุ๊ป”

          การดูแล “คุณภาพชีวิตของพนักงาน” เป็นเรื่องสำคัญของ “อมตะกรุ๊ป” ที่มาจากวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร ที่เล็งเห็นความสำคัญของพนักงาน ใส่ใจดูแลแบบพี่น้อง

/data/content/23894/cms/e_aefghnwx1348.jpg

         จำนวนพนักงานเพียง 700 กว่าคน แต่สามารถขับเคลื่อนงานพัฒนาที่ดินพร้อมบริการระบบสาธารณูปโภคที่จำเป็น จนก่อเกิดเป็น 3 นิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทย และอีก 3 แห่งในเวียดนามสร้างมูลค่าการลงทุนกว่า 7 แสนล้านบาท มีการจ้างงานกว่า 200,000 คน จากโรงงานกว่า 850 โรง และสิ่งที่ทำให้ อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) เดินทางมาได้ถึงขนาดนี้ คือการดูแล “คุณภาพชีวิตของพนักงาน”

         ซึ่งมาจากวิสัยทัศน์ของผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารอย่าง วิกรม กรมดิษฐ์ ที่เล็งเห็นว่าการลงทุนกับคนนั้นคือสิ่งสำคัญ ถ้าบริษัทมีคนทำงานที่มีคุณภาพ สอดคล้องไปกับนโยบายบริหารงาน องค์กรก็จะสามารถทำงานใหญ่ได้แบบมีผลกำไร และการดูแลนิคมอุตสากรรมในพื้นที่นับแสนไร่ก็ไม่ใช่เรื่องยาก

          “การดูแลพนักงานขององค์กรอย่างใกล้ชิดของอมตะกรุ๊ป มาจากคาแร็กเตอร์ของคุณวิกรม ที่ท่านได้ดูแลน้อง ๆ มาก่อน ทำให้หลักในการบริหารคนของบริษัท จึงมองเห็นพนักงานเป็นเสมือนน้องเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน ทั้งใส่ใจ ดูแลสุขภาพ และเลยไปถึงชีวิตความเป็นอยู่ เพราะคุณวิกรมบอกว่า ถึงจะมีเครื่องมือดีอย่างไร แต่บริษัทจะประสบความสำเร็จได้ก็ด้วยคน ฉะนั้น จึงต้องดูแลคนให้ดีมีความสุขในการทำงาน” สุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ ที่ปรึกษาฝ่ายทรัพยากรบุคคลและธุรการ บมจ. อมตะ คอร์ปอเรชัน แจงให้ฟังถึงที่มาพร้อมกล่าวต่อด้วยว่า

/data/content/23894/cms/e_dintvwx34568.jpg

         หลักในการดูแลคนของอมตะที่ทำมากกว่า 20 ปี เริ่มต้นจากสิ่งเล็ก ๆ อย่างการดูแลเรื่องปากท้อง เช่น มีอาการกลางวันให้พนักงานทานฟรี และมีน้ำและขนมให้ทานช่วง 4 โมงเย็น ถ้าเป็นพนักงานระดับล่าง อย่างพนักงานขับรถก็ใส่ใจดูแลไม่ทอดทิ้ง มีข้าวกล่องบริการไว้ให้กิน อีกทั้งยังมีการแจกวิตามินเพื่อให้พนักงานได้สารอาหารครบถ้วน นอกจากนี้ยังดูแลในเรื่องสวัสดิการรักษาพยาบาลและที่พักอาศัย

         ที่สำคัญคือระบบการทำงานจะเน้นความหยืดหยุ่นเป็นหลัก ที่ปรึกษาฝ่ายทรัพยากรบุคคลฯ กล่าวในเรื่องนี้ว่า ที่อมตะไม่ยึดติดแบบแผน แต่เอาผลสำเร็จเป็นตัวตั้ง ฉะนั้น พนักงานจะมีความคิดที่อิสระ สุดท้ายบริษัทก็จะได้งานที่แปลกใหม่มีประสิทธิภาพ

         “ที่พนักงานทำงานกับอมตะได้นาน ไม่ค่อยมีคนลาออก บางคนอยู่กับบริษัทมาเป็น 20-30 ปี เพราะเราใส่ใจเขาจากใจจริง บางคนเกษียณอายุไปแล้วในวัย 60 ถ้าเขาอยากทำงานต่อ ทางองค์กรก็จะหางานที่เหมาะสมไม่เป็นอันตรายให้ทำ หรือคนที่รับเข้ามาแล้วแต่ไม่ชอบงานทีท่ทำ ก็สามารถทำเรื่องขอเปลี่ยนตำแหน่งหน้าที่ได้ เพื่อให้ได้คนที่เหมาะกับงานอย่างแท้จริง นั่นเพราะเรามองว่าประสบการณ์ที่สั่งสมอยู่ในตัวคนเป็นสิ่งสำคัญ แม้แต่ช่วงวิกฤติเศรษฐิจ ปี 2540 คุณวิกรมก็ไม่เคยไล่ใครออก ถึงกับต้องกู้เงินมาจ่ายเป็นเงินเดือนพนักงานท่านก็ยอมทำ” สุรินทร์กล่าว

          ที่ปรึกษาฝ่าย HR คนเดิม ยังอธิบายต่อด้วยว่า การใส่ใจพนักงานที่มากกว่าตามที่กฎหมายแรงงานกำหนด หรือมาตรฐานกลางที่มี ผลลัพธ์ที่ได้ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ดี สภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี เอื้อต่อการใช้ชีวิตอย่างสมดุล ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้องค์กรเจริญรุดหน้าไปได้ไม่น้อย เพราะคนมีความสบายที่จะทำงานให้ ทางอมตะจึงมีสนามกีฬาและฟิทเนส ไว้ให้พนักงานได้ออกกำลังกายในช่วงเย็น และทุกปีจะร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. จัดแข่งวิ่งมินิมาราธอน เพื่อเสริมสร้างสุขภาพของพนักงงาน รวมไปถึงผู้บริหาร

         และสิ่งที่ทางอมตะกรุ๊ปกำลังวางแผนพัฒนาคนต่อไป เพื่อรับกับการเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC สุรินทร์ บอกว่า คือการให้พนักงานทุกคนสอบมาตรฐานภาษาอังกฤษให้ได้ ใครที่ไปสอบไม่ผ่าน ทางบริษัทก็จะให้ทุนไปเรียนเพิ่ม เพราะต้องการให้พนักงานรู้ภาษาได้มากกว่า 1 ภาษา เพื่อให้การขับเคลื่อนองค์กรในยุค AEC เป็นไปอย่างคล่องตัว โดยเร็ว ๆ นี้ อมตะก็จะขยายกำลังไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพิ่ม ซึ่งกำลังศึกษาถึงความเป็นไปได้ในโปรเจกต์ที่เมียนมาร์

        “นอกจากนี้ยังยากให้ สสส. เข้ามาประเมินวัดความสุขของพนักงงานในองค์กร ว่าทาง อมตะยังขาดในมิติไหนอย่างไร เพื่อปรับปรุงพัฒนาให้พนักงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากยิ่งขึ้น สอดรับไปกับการบริหารและลักษณะงานที่ทำอยู่ครับ”

         ปัจจุบันธุรกิจของอมตะแบ่งเป็น 4 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม กลุ่มสาธารณูปโภค กลุ่มให้บริการ และอื่นๆ ผ่านการบริหารของบริษัทและบริษัทย่อย โดยมีจุดมุ่งหมายสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่สมบูรณ์แบบ และเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายดังกล่าว ทางองค์กรจึงให้ความสำคัญต่อหลายเรื่องให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เช่น สิทธิของผู้ถือหุ้น ความเท่าเทียมกันของผู้ถือหุ้น บทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส หรือแม้แต่ความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR).

 

          ที่มา: เว็บไซต์ไทยโพสต์

          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code