ในปี 2573 จะมีคนตายเพราะบุหรี่ 8 ล้านคน
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
องค์การอนามัยโลกได้เปิดเผยข้อมูลว่า มีผู้เสียชีวิตจากบุหรี่ประมาณ 6 ล้านคนของประชากรโลก และมีการ คาดการณ์ว่าจะมีจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 8 ล้านคน ในปี 2573
สำหรับสถิติผู้เสียชีวิตจากบุหรี่ ในประเทศไทย ปี 2559 ที่ผ่านมา มีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงถึง 52,000 คน หรือวันละ 142 คน เฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คน ถือได้ว่า การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุอันดับ 2 ที่คร่าชีวิตประชากรในประเทศ
ด้วยเหตุนี้เอง สำนักงานกองทุน สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้ตระหนักถึงความสำคัญของสถานการณ์ ปัญหาสุขภาพดังกล่าว ด้วยการผนึกความ ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เครือข่าย หมออนามัย ชมรมอาสาสมัครสาธารณสุข แห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ดำเนินโครงการ "3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน" ขึ้น
โครงการดังกล่าวนอกจากมีเป้าหมายเชิญชวนให้ประชาชนเลิกสูบบุหรี่ให้ได้จำนวน 3 ล้านคน ในระยะเวลา 3 ปี เพื่อการมีสุขภาวะที่ดีแล้ว ยังเป็นการร่วมถวายเป็นพระราชกุศลและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชด้วย
ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาลรองผู้จัดการกองทุน สสส. หนึ่งในภาคีเครือข่ายหลัก กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการยิ่งใหญ่ ที่ดึงความร่วมมือจากหลายภาคส่วนเข้ามาหนุนเสริม แม้ว่าการตั้งเป้าหมายลดจำนวนนักสูบให้ได้ 3 ล้านคน ภายใน 3 ปี จะเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย แต่ สสส. เชื่อมั่นว่าโครงการนี้จะสามารถลดสถานการณ์การสูบบุหรี่และการเจ็บป่วย ของประชาชนได้อย่างมาก เพราะการสูบบุหรี่ ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด สมอง โรคถุงลมโป่งพอง โดยผู้สูบบุหรี่จะอายุสั้นลงเฉลี่ย 12 ปี และจะป่วยหนักทรมานประมาณ 2 ปี ก่อนเสียชีวิต ทั้งนี้บุหรี่เป็นภัยสุขภาพที่สามารถป้องกันได้ และในวันนี้โครงการฯ ได้ก้าวสู่ปีที่ 2 ของการขับเคลื่อน จึงอยากเชิญชวนให้ประชาชนเข้าร่วมโครงการนี้กันมากๆ
จากการที่โครงการนี้ได้ดำเนินมาแล้วครบหนึ่งปีพบว่า ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตัวผู้สูบ ครอบครัว คนรอบข้าง สังคม รวมถึงภาคสาธารณสุขและเศรษฐกิจ โดยมีผู้สมัครร่วมโครงการถึง 503,779 คน และพบว่า มีผู้ที่สามารถเลิกบุหรี่ได้ระยะเวลา 1 เดือน จำนวน 191,534 คน ระยะเวลา 3 เดือน จำนวน 104,314 คน และระยะเวลา 6 เดือน จำนวน 70,956 คน ทั้งหมดนี้สามารถคิดเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อบุหรี่เป็นมูลค่ากว่า 393 ล้านบาท ซึ่งในกระบวนการเลิกสูบบุหรี่นั้นมิได้อาศัยความร่วมมือจากตัวผู้สูบเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าหน้าที่ อสม. ผู้นำชุมชน ในการให้คำแนะนำและวิธีการเลิกอย่างถูกวิธีควบคู่ไปด้วยกันด้วย
สำนักงานสาธารณสุข (สสจ.) จ.บุรีรัมย์ เป็น สสจ. ดีเด่นที่ได้รับรางวัลระดับชาติในการเชิญชวนผู้เลิกสูบร่วมโครงการ ที่ได้รับความสำเร็จอย่างสูง นพ.วิทิก สฤษฎีชัยกุล นายแพทย์ สาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุข จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า ในจังหวัดมีผู้สูบบุหรี่ร้อยละ 12 ของประชากรทั้งหมด 1 ล้าน 4 แสนคน ในโครงการนี้มีผู้ร่วมโครงการประมาณ 320,000 คน ทางหน่วยงานเข้าร่วมจากชมรมหมออนามัย แม้ก่อนหน้านี้ทางจังหวัดจะผลักดันลดจำนวนนักสูบลงมาโดยตลอด แต่เมื่อเข้าร่วมโครงการนี้สามารถเห็นผลการทำงานได้อย่างเป็นรูปธรรม เพราะจุดเด่นของโครงการมีการบันทึกข้อมูลที่ชัดเจน เป็นการเก็บข้อมูล เชิงคุณภาพที่ทำให้รู้ว่าใครเข้าร่วม ใครเลิกได้ และใช้ระยะเวลาเท่าไหร่ ในการดำเนินงาน สสส. เข้ามาสนับสนุนทำให้กระบวนการขับเคลื่อนไปได้ดี ทั้งการจัดการประชุม หรือประสานงานกับเครือข่ายต่างๆ และในปีที่ 2 ยังมีเป้าหมายในการลดนักสูบหน้าใหม่ ที่เข้มข้นมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันในพื้นที่มีจำนวนนักสูบหน้าใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
โครงการ "3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน" ไม่เพียงแค่การเป็นผู้นำในการกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกให้เกิดการเลิกสูบบุหรี่เพียงอย่างเดียว แต่ยังคิดค้นเทคนิคช่วยเลิกบุหรี่จากเพื่อนหน่วยงานต่างๆ อีกด้วย เช่น ทำสัญญาใจกับลูก เพราะลูกเปรียบเสมือนหัวใจของพ่อ-แม่ ให้เขามาอ้อนพ่อ-แม่ให้เลิกบุหรี่ หรือช่วยจดบันทึกรายจ่ายของผู้ปกครอง เมื่อลูกเห็นว่าแต่ละวันพ่อ-แม่เสียเงินไปกับบุหรี่มากเขาก็จะช่วยห้ามในแบบของเขา มีบริการนวดกดจุดสะท้อนเท้า รวมถึงตรวจเยี่ยม ให้กำลังใจ เฝ้าติดตาม นอกจากนี้ยังมีสายด่วน ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ 1600 ที่ สสส.ร่วมสนับสนุน เป็นช่องทางสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านเข้าถึงบริการคำแนะนำ ได้ฟรี สะดวกต่อการอยากเลิกมากขึ้น
การเลิกสูบบุหรี่ไม่ได้อาศัยกำลังใจจากตัวผู้สูบเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องอาศัยกำลังใจจากครอบครัว คนรอบข้าง คนในสังคม รวมถึงความเข้าใจและความเชื่อใจเป็นอย่างมาก เพื่อที่พวกเขาจะได้นำกำลังใจเหล่านั้นมาเติมเต็มไฟแห่งความหนักแน่นให้ลุกโชย มากกว่าไฟจากมวนบุหรี่ที่อยู่เพียงปลายมือ