‘ใจสู่ใจ’สร้างพลังบวกสู่ผู้ต้องขังหญิง
การเยียวยาทั้งจิตใจ และสร้างแรงบันดาลใจในการตั้งต้นชีวิตใหม่ให้กับบรรดาผู้ต้องขังในทัณฑสถาน ถือเป็นเป้าหมายสำคัญประการหนึ่งในการคืนความสุขให้กับสังคม เพราะเมื่อคนกลุ่มนี้ได้มีโอกาสกลับไปใช้ชีวิตนอกรั้วห้องขัง และสังคมเปิดโอกาส รวมทั้งให้การยอมรับ เขาพวกเขาเหล่านี้พร้อมจะ กลับตัวกลับใจเป็นคนดี แน่นอนว่าสังคมในภาพรวมย่อมจะมีความสงบสุข และพัฒนาต่อไปได้อย่างไม่มีสะดุด
สำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ร่วมกับ ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล จัดกิจกรรม "จากใจสู่ใจ: คุณค่า ความสุข และพลังภายในที่แท้จริง" เปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังหญิงในทัณฑสถาน ได้มี โอกาสพบปะกับญาติพี่น้อง บุตรหลานอย่างใกล้ชิด
ผู้ต้องขังจำนวน 34 คน ได้ใช้เวลา 1 วันเต็มร่วมกับสมาชิกในครอบครัว พูดคุยรับประทานอาหาร ถ่ายภาพร่วมกัน และยังพาคนในครอบครัวชมงานศิลปะของตนเองซึ่งเป็นการใช้เวลาในห้องขังเพื่อเรียนรู้สติ รู้จักจิตใจ และทบทวนความรู้สึกตนเองโดยการวาดภาพ และประดิษฐ์งานฝีมือต่างๆ
ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุน สุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุน การสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงกิจกรรมนี้ซึ่งดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง โดยระบุว่าตนมีความมุ่งหวังและพยายามทำให้เกิดเป็นโครงการภายในทัณฑสถาน และสร้างผู้เชี่ยวชาญที่สามารถถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้ต้องขังได้ รวมถึงการจัดทำกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งและความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว โรงเรียน วัด และเป็นการลดปัญหาความสัมพันธ์ภายในสังคมด้วย
ในขณะเดียวกัน มิติของจิตใจก็เป็นเรื่องที่ต้องดูแลและเยียวยา เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับบรรดาผู้ต้องขังหญิง การเชิญ บุคคลใกล้ชิดในครอบครัวมาร่วมงาน ถือเป็นการเติมความฝันให้กับพวกเธอเหล่านี้ ให้มีกำลังใจ มีความหวัง และพร้อมออกไป ใช้ชีวิตใหม่
"10 ปีแล้ว ที่ผมไม่ได้กอดแม่เลย ทำได้เพียงแค่เจอกันปีละ 1 ครั้ง และไม่สามารถถูกเนื้อตัวกันได้ เจอกันครั้งนี้แม่มีใบหน้าสดใสมาก แต่ก่อนแม่จะใส่แว่นตา แต่คราวนี้ไม่ใส่แล้ว ผมดีใจ ที่เห็นแม่แข็งแรง" ลูกชายคุณ ยายเขียว ทรหด (นามสมมติ) บอกอย่างปลื้มใจ
ในขณะที่คุณยายเขียว ทรหด ผู้เข้าร่วมโครงการใจสู่ใจ บอกว่า กิจกรรมที่มีวันนี้ นับว่าเป็นของขวัญที่ดีที่สุดสำหรับตนที่ได้เจอกับลูกชาย ทำให้ตนมีจิตใจที่เข้มแข็ง มีความหวังและมีแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตปัจจุบันได้อย่างมีความสุข
น.ส.อวยพร สุธนธัญญากร หัวหน้าโครงการจากใจสู่ใจ เล่าให้ฟังว่า กิจกรรมนี้จัดต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 8 เดือนๆ ละ 4 วัน โดยเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2556 ที่ผ่านมา กิจกรรมที่ทำ ร่วมกันมี 4 หลักความคิดคือ 1.การเรียนรู้จากตัวเองและผู้อื่น 2.การรู้จักสังคม ทั้งเรื่องเพศ ระบบการตลาด ด้านคุณค่าของ ความเป็นมนุษย์ 3.การมีสติ รู้เนื้อรู้ตัว การภาวนา และ 4.ความสัมพันธ์ เชื่อมโยงของแต่ละคน
โดย 3 เดือนแรกจะพูดคุยเรื่องการเรียนรู้สติ รู้จักตนเอง เดือนที่ 4-5 จะเรียนรู้สังคมและเพศ เดือนที่ 6 จะเกี่ยวกับเพศวิถี เข้าสู่เดือนที่ 7 จะเรียนรู้เกี่ยวกับระบบตลาด การบริโภคนิยม และเดือนที่ 8 จะให้ความสำคัญเกี่ยวกับการรักและเห็นคุณค่าของตนเอง ซึ่งจะเรียนรู้ผ่านงานศิลปะ บทกวี และดนตรี โดยเกือบ 30 เปอร์เซ็นต์ จะใช้การวาดภาพ ระบายสี เพื่อเรียนรู้สติ รู้จักจิตใจ และทบทวนความรู้สึกตนเอง
กิจกรรมดีๆ เช่นนี้ จะยังคงเดินหน้าต่อไป เพื่อสร้างคุณค่าทางจิตใจและเป็นอีกพลังหนึ่งที่ทำให้พวกเขาสร้างคุณค่า ศรัทธาในตัวเองและพร้อมจะก้าวไปสู่วันข้างหน้าได้อย่างมีความสุข
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ