โลกนี้ไม่มี “หญิงแรด”


 


หลายวันก่อน ผู้เขียนซึ่งเป็นหนึ่งในทีมเครือข่ายที่ทำงานผลักดันให้เกิดการเรียนการสอนเพศศึกษาในสถานศึกษามีโอกาสไปจัดกิจกรรมให้กับน้องผู้หญิงวัยรุ่นจำนวนหนึ่งที่ประสบปัญหาท้องไม่พร้อม โดยใช้กิจกรรมของโครงการ “Up To Me” หรือโครงการรณรงค์สร้างความตระหนักเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่นในสถานศึกษา แบบที่สร้างการเรียนรู้จากตัวละครบนแผ่นฟิล์ม และพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันหลังจากดูหนัง


โครงการสร้างความตระหนักเพื่อป้องกันการท้องไม่พร้อมฯ นี้เกิดขึ้นจากที่วัยรุ่นไทยประสบปัญหาท้องไม่พร้อมในอัตราที่สูงขึ้นจากสถิติขององค์การอนามัยโลกเมื่อปีที่แล้ว ประเทศไทยมี “คุณแม่วัยรุ่น” หรือแม่ที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปีถึงร้อยละ 13 (ขณะที่เกณฑ์ที่ทั่วโลกกำหนด คือร้อยละ 10)  ในจำนวนดังกล่าววัยรุ่นไทยตั้งครรภ์วันละกว่า 700 ราย และคลอด 336 ราย


จำนวนที่เหลืออาจจะหมายถึงการ “ยุติการตั้งครรภ์” กิจกรรม “Up To Me”จึงเป็นกิจกรรมที่สร้างการเรียนรู้ทั้งในเรื่องการตัดสินใจประเมินโอกาสในการมีเพศสัมพันธ์ และเห็นทางเลือกเมื่อประสบปัญหาท้องไม่พร้อม ผ่านตัวละครที่นำเสนอในแต่ละตอนของภาพยนตร์เรื่อง “ทางเลือก” (ผู้สนใจสามารถชมหนังเรื่องนี้ได้ที่www.lovecarestation.com) พร้อมพูดคุยกับพี่ๆ ที่จัดกระบวนการตลอด 3 ชั่วโมง


โครงการ “Up To Me” นี้ ทางกระทรวงศึกษาธิการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และองค์การแพธร่วมกันจัดกิจกรรมนี้ขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศ ในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา และวิทยาลัยในสังกัดอาชีวศึกษา โดยมุ่งหวังที่จะสร้างความตระหนักและป้องกันการท้องไม่พร้อมให้กับวัยรุ่นทุกคน ไม่จำกัดว่าเป็น “กลุ่มเสี่ยง” หรือไม่ เพราะทุกคนมีโอกาสเสี่ยงในการท้องไม่พร้อมเท่ากัน หากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน


แม้ว่าวัตถุประสงค์ของโครงการ “Up To Me” จะเป็นการสร้างความตระหนักและป้องกันการท้องไม่พร้อม แต่การจัดกิจกรรม “สร้างความตระหนักและป้องกัน” ให้กับน้องๆ ที่เคยประสบปัญหาเช่นนี้แล้ว ทำให้เห็นมุมมองในแบบที่ต่างออกไป


ต่างออกไปในแบบที่ทำให้ผู้เขียนรู้ว่าจริงๆ แล้วในประเทศนี้ หรือโลกนี้ “ไม่มีใครแรด”!!


วันที่ผู้เขียนไปจัดกิจกรรมกับน้องๆ ที่ประสบปัญหาท้องไม่พร้อม พวกเขาให้ความเห็นว่า “หนังเรื่องนี้ควรเอาไปให้พวกเด็กเรียนดู จะได้รู้จักป้องกัน เพราะตัวหนังนำเสนอภาพที่ยังไม่แรงพอสำหรับกลุ่มที่แรงๆ แรดๆ!!”


หนังเรื่อง “ทางเลือก” ในกิจกรรมนี้ เล่าถึงชายหนุ่มและหญิงสาวที่เป็นแฟนกัน และเผชิญกับสถานการณ์การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่พร้อมจนตั้งครรภ์ในที่สุด และหนังนำเสนอ “ทาง


เลือก” ของตัวละครที่มีอยู่หลายทาง เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ท้องไม่พร้อม แต่ไม่ได้ “ชี้ช่อง”ให้ว่าทางเลือกทางไหนเป็นทางที่ดีที่สุด


พอน้องกลุ่มนี้เสนอความเห็นเช่นนั้นมาทำให้ฉันนึกสงสัยว่า คนแบบไหนกันถึงจะเรียกว่า”แรด”??


ในเมื่อหากเป็นทัศนะของ “เด็กเรียน” ที่มองน้องผู้หญิงกลุ่มนี้ ที่เคยมีเพศสัมพันธ์และประสบปัญหาท้องไม่พร้อมอยู่ก็จะมองว่าพวกเธอแรด ขณะที่พวกเธอมองว่าเธอไม่ได้แรด ยังมีคนอีกแบบหนึ่งที่แรง และแรดกว่า!!


นั่นทำให้ฉันคิดว่า “ความแรด” คงเป็นเรื่องทัศนะของแต่ละคน ที่จะคิดและตัดสินว่าจะให้ใครหรือคนแบบไหนเป็นคนแรด เหมือนการเรียกวัยรุ่นบางประเภทว่า “กลุ่มเสี่ยง”โดยที่เราเอาไม้บรรทัดวัดจากมาตรฐานของตัวเอง ตามตัวชี้วัดที่ตัวเองมีและรับรู้มาว่าเขาอาจจะเสี่ยงจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย เสี่ยงต่อการท้องไม่พร้อม เสี่ยงต่อการเสพยาเสพติดเสี่ยงต่อพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง ฯลฯ


ทั้งที่เรื่อง “ท้องไม่พร้อม” ไม่มีใครหรือคนไหนเป็น”กลุ่มเสี่ยง” กว่ากลุ่มไหน ตราบเท่าที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันทุกคนก็มีโอกาส “ท้องไม่พร้อม” ได้เสมอกันหมด


 


 


ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ