โลกจะสดใสยิ่งขึ้น เมื่อมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม
สังคมโลกยิ่งมีการพัฒนามากขึ้น ความซับซ้อนในวิถีแห่งสังคมก็ยิ่งมีมากขึ่น จนหลายสิ่งหลายอย่างไม่อาจจะแก้ไขได้ด้วยตนเอง แต่ต้องอาศัยการรวมพลัง รวมมันสมอง เข้าด้วยกันเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน ซึ่งยากต่อการจะใช้พลังจากคนเพียงคนเดียวให้เกิดความสำเร็จในการแก้ไข
และเช่นเดียวกัน หากจะสร้างความสำเร็จในการพัฒนาสิ่งต่างๆ การร่วมมือ ร่วมใจกันอย่างเป็นกลุ่มก้อนย่อมมีสมรรถภาพมากกว่าจะคิดเองทำเอง เพียงคนเดียว ถ้าจะบอกว่า สังคมโลกวันนี้ ไม่ใช่สังคมของคนเดียวคนเดียว แต่เป็น สังคมของการรวมกลุ่ม ช่วยกันคิดช่วยกันทำ ก็น่าจะถูกต้องที่สุด
ศ.นพ.ประเวศ วะสี ประธานกรรมการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติกล่าวไว้ในงานเปิดนิทรรศการผลงานนักศึกษา เครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม ภายใต้โครงการเสริมสร้างพลังเยาวชนสร้างสรรค์สื่อเพื่อสังคมที่น่าอยู่ โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิสยามกัมมาจล มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และภาคประชาสังคม ว่า “…การรวมตัวกันของกลุ่มคนเล็กๆ แต่ทำเรื่องยิ่งใหญ่ในวันนี้ ถือเป็นกุญแจสำหรับแก้ปัญหาประเทศไทยที่นับวันยิ่งมีความซับซ้อน…เครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคมจะเป็นตัวกระตุ้น และดึงพลังเหล่านี้ออกมาเพื่อใช้ในการแก้วิกฤติชาติ”
ในการจัดงานครั้งนี้ ผู้จัดมีความมุ่งหวังที่จะให้มหาวิทยาลัยจัดการเรียนการสอนที่ทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงของสังคมไทย จนเกิดการขับเคลื่อนสู่การเป็นพลเมืองตื่นรู้และสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งนี้เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงของสังคมนั่นเอง
ภายในงานวันนั้นจะพบเห็นว่า มีผลงานนักศึกษาเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม ที่มาจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ11 แห่ง ได้สะท้อนผลงานออกมาเป็น 6 โจทย์สังคมไทย คือ 1.ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม 2.ที่ทำกิน 3.เกษตรกรรม 4.เยาวชน 5.คนพิการ และ6.แรงงานและกลุ่มชาติพันธ์
คุณวิกรม วงษ์สุวรรณ์ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษา ผลงานเรื่อง “ ฉัน (ไม่) พิการ” ของนิสิตที่เข้าร่วมโครงการฯ บอกว่า การได้พานิสิตเข้าร่วมโครงการฯ ครั้งนี้ ต่างจากการสอนในห้องเรียนตรงที่ว่าทำให้พวกเขาได้สัมผัสกับปัญหาที่เกิดขึ้นจริง ได้เห็น ได้พูดคุย และได้ฟังคนอื่นมากขึ้น และสิ่งเหล่านี้ได้นำมาซึ่งแรงบันดาลใจที่ทำให้พวกเขาอยากลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยเหลือสังคมต่อไป
อาจารย์วิกรม ขยายความต่อไปด้วยว่า ข้อดีที่เห็นได้ชัดเจนคือเรื่องของทัศนคติ จากเดิมในการเรียนการสอนบางรายวิชาก็อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับชุมชนหรือสังคมโดยตรง แต่จริงๆ เราก็สามารถปรับให้เหมาะสมกับเหตุการณ์ที่เปลี่ยนไปได้ ในอนาคตปัญหาต่างๆ ก็อาจจะซับซ้อนมากขึ้น ดังนั้นในการเรียนการสอนทุกวิชาเราสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อช่วยเหลือชุมชน ช่วยเหลือสังคมกันได้หมด
เช่นเดียวกับแนวคิดของ คุณสันติ ตันสุขะ อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรม ภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม สาขาวิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เห็นด้วยว่า ในการเรียนการสอนของภาควิชาการออกแบบนั้น ส่วนใหญ่นิสิตจะไม่ค่อยมีโอกาสได้ออกไปทำงานจากโจทย์จริงหรือปัญหาที่เกิดขึ้นจริง แต่ในการเข้าร่วมโครงการฯ นี้ ทำให้พวกเขาได้มีโอกาสออกไปศึกษาเรียนรู้นอกห้องเรียน และพบว่ายังมีเรื่องราวใหม่ ที่บางอย่างมันก็เป็นเรื่องที่ดี บางอย่างก็เป็นปัญหาของสังคม และสิ่งไหนที่เป็นปัญหา ในฐานะที่เป็นนักออกแบบและเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ เขาก็จะสามารถนำเอาความคิด เหล่านั้นมาช่วยมองปัญหาในมิติต่างๆ และช่วยกันหาทางออกว่าจะช่วยกันแก้ปัญหาได้ว่าควรทำอย่างไร
ในส่วนนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการฯ ทุกเสียงมีความเห็นตรงกันว่า การลงพื้นที่ไปทำงานที่ชุมชนทำให้เราได้มากกว่าการทำโปรเจ็กต์แค่ในสถาบัน เพราะเป็นการได้ออกไปช่วยเหลือสังคมจริงๆ ได้เห็น ได้ใช้ชีวิต และเรียนรู้วิถีชีวิต ได้เข้าใจว่าทำไมชาวบ้านต้องต่อสู่กับปัญหาเหล่านี้ ทำให้เราเห็นภาพชัดมากกว่าเห็นจากในข่าวหรือข้อมูลจากแต่ละฝ่าย
ใครที่อยากเห็น หรือ อยากรู้รายละเอียดเพิ่มเติมผลงานทั้งหมดของนักศึกษาสามารถติดตามได้ที่ Facebook : ThailandAcitveCitiZen Facebook : University Network for Change : UNC Facebook : มูลนิธิสยามกัมมาจล และ www.scbfoundation.com
โลกวันนี้จะสดใสได้โดยง่าย หากทุกสถาบันการศึกษาสามารถพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนที่นำเอาปัญหาสังคมมาเป็นโจทย์และส่งเสริมให้นักศึกษาได้มีโอกาสได้เรียนรู้และเข้าใจผู้คนมากขึ้นก็จะเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนที่จะช่วยคลี่คลายปัญหาหรือสร้างสรรค์สังคมไทยให้น่าอยู่มากขึ้นได้
ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้า