โรงเรียนเชียร์อ่าน โครงการเด็กถึงนโยบายรัฐ
“ดีใจที่ได้มาเข้าร่วมทำกิจกรรม เพราะเป็นประสบการณ์ที่ดี และได้แนวทางในการชวนพี่ๆ น้องๆ เพื่อนๆ อ่านหนังสือ ได้รับรู้แนวทางว่าการอ่านหนังสือดีอย่างไร มีประโยชน์กับตัวเราอย่างไร การอ่านหนังสือไม่น่าเบื่ออย่างที่คิด การมาร่วมกิจกรรมทำให้อยากอ่านหนังสือต่อไป และจะอ่านให้ได้ความรู้ให้มากที่สุด”
เป็นคำบอกเล่าของ น้องปุ่น น.ส.สุปภัสร์ ธนานิมิตร ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสตรีวัดมหาพฤฒารามหนึ่งในนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการโรงเรียนเชียร์อ่านปีที่ 2 ที่จัดขึ้นโดยแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อรณรงค์ให้เกิดกระแสรักการอ่านที่ยั่งยืนในโรงเรียนทั่วประเทศ
กว่า 100 ชีวิตที่เข้าร่วมสัมมนาล้วนเป็นเด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย ต่างที่มา บ้างมาจากในเมือง หลวงที่มีห้องสมุดประ จำโรงเรียน บรรจุไปด้วย หนังสือหลายพันเล่ม ขณะที่บางกลุ่มมาจากพื้นที่ห่างไกลความเจริญ ห้องสมุดมีเพียงหนังสือเก่าๆ แถมยังมีปลวกแทะ ลำพังแค่หนังสือเรียนยังต้องหมุนเวียนกันใช้มาแล้วหลายรุ่น จนอยู่ในสภาพเก่าและขาดวิ่น
การสัมมนาครั้งนี้อาจารย์และนักเรียนแลกเปลี่ยนถึงอุปสรรคที่ทำให้การอ่านหนังสือเป็นกิจกรรมที่เข้าไม่ถึงเยาวชน นอกเหนือจากขาดการปลูกฝังจากครอบครัว ค่านิยมว่าหนังสือเป็นเรื่องน่าเบื่อ ราคาหนังสือที่แพง ขาดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านในสถานศึกษา และมีสื่ออื่นๆ จูงใจมากกว่า
จากปัญหาสู่การขบคิดเพื่อสร้างสรรค์กลยุทธ์กลับไปรณรงค์สร้างกระแสรักการอ่านในโรงเรียนและชุมชนของทุกคน เพราะปัญหานี้จะมัวนั่งรอผู้ใหญ่อย่างเดียวไม่ได้ ถึงเวลาที่เด็กๆ ลงมือทำด้วยตัวเอง จึงเป็นที่มาของโครงการโรงเรียนเชียร์อ่านซึ่งทำต่อเนื่องมา 2 ปีแล้ว
เอื้อมพร พรหมนรกิจ คุณครูจากโรงเรียนจันทร์ประดิษฐารามวิทยาคม หนึ่งใน “คุณครูใจดี” ที่โครงการโรงเรียนเชียร์อ่าน เป็นปีที่ 2 แล้ว เผยว่า “วันนี้มีความยินดีเป็นอย่างมาก โครงการนี้ทำให้ได้ไอเดียหลายอย่างกลับไปเพื่อทำกิจกรรมจากโรงเรียนสู่ชุมชน และปีนี้จะต่อยอดทำไปยังบ้าน ประมาณว่าเคาะประตูบ้านรณรงค์ให้อ่านหนังสือ โดยส่วนตัวแล้วอยากที่จะสร้างสังคมให้เป็นสังคมแห่งการอ่านอยู่แล้ว และสิ่งไหนที่ทำเองได้ก็จะทำ คิดว่านักเรียนของตนเองคงจะได้ความคิดที่หลากหลายไปเติมเต็ม”
จากสถิติการอ่านหนังสือของคนไทยมีค่าเฉลี่ยเพียงปีละ 5 เล่ม ขณะที่อัตราการอ่านหนังสือของเด็กไทยอยู่ในระดับต่ำ หนังสือที่อ่านส่วนใหญ่ คือ ตำราเรียน และอัตราการอ่านลดลงตามลำดับเมื่อมีอายุสูงขึ้น ทุกกลุ่มวัยมีแนวโน้มการอ่านหนังสือลดลง
ปัจจัยหลักที่ทำให้ไม่อ่านหนังสือ เกิดจากสิ่งแวดล้อมที่หล่อหลอมตั้งแต่วัยเยาว์ ทั้งจากครอบครัว จนถึงหน่วยที่ใหญ่ที่สุด คือรัฐบาล ที่ผ่านมาการรณรงค์ปลูกฝังนิสัยรักการอ่านของสังคมไม่มีเอกภาพ และไม่มีหน่วยงานหรือองค์กรที่เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนหรือสนับสนุน
นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. ชี้ว่า โครงการโรงเรียนเชียร์อ่าน เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ รณรงค์ระดับชาติ สสส. ให้เยาวชนร่วมคิดค้นกลยุทธ์สร้างวัฒนธรรมการอ่านให้เกิดขึ้นในโรงเรียนและชุมชนของตนเอง ขณะนี้เครือข่ายครอบคลุมตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย และจะค่อยๆ ขยายแนวคิดนี้ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อให้เยาวชนมีทัศนคติที่ดีและมองเห็นคุณค่าของการอ่านว่า พัฒนาตัวเอง เปลี่ยนแปลงชีวิตให้ดีขึ้น ทำให้การอ่านเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตได้
“เรามองว่าที่ผ่านมารัฐบาลประกาศให้ประ เทศไทยเป็นทศวรรษแห่งการอ่าน แต่ยังไม่ได้ดำเนินการอย่างจริงจัง จึงอยากเห็นรัฐบาลชุดใหม่เอาจริงเอาจังในเรื่องนี้ เพราะการอ่าน คือรากฐานของการศึกษา การเรียนรู้ ใฝ่รู้ หลายพรรคการเมืองขาดการชูเรื่องการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชน และยังไม่มีพรรคการเมืองใดหยิบยกนโยบายการอ่านที่เป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ภาคีด้านการอ่านเตรียมจัดเวทีรับฟังข้อเสนอจากภาคประชาชนพร้อมเชิญตัวแทนพรรค การเมืองทุกพรรคมาแสดงวิสัยทัศน์การขับเคลื่อนนโยบายด้านการอ่านด้วย”
น.ส.สรวงธร นาวาผล ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนรักการอ่านและการเรียนรู้ บอกว่า เราได้เสนอนโยบายข้อเรียกร้องแก่ทุกพรรคการเมืองใน 2 ประเด็น คือ 1.การส่งเสริมให้หนังสือเด็กปฐมวัยมีคุณภาพ โดยจัดตั้งสถาบันวิชาการผลิตผู้สร้างสรรค์เรื่อง และภาพหนังสือเด็กปฐมวัยให้มากขึ้น พร้อมทั้งกำหนดนโยบายให้มีการสนับสนุน ส่งเสริม องค์กร ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคมให้มีศักยภาพในการผลิตหนังสือ เพื่อตอบสนองวัย พัฒนาการทางสมอง และสอดคล้องต่อวิถีชีวิตของชุมชน ท้องถิ่น สังคม และประเทศชาติ
2.การเพิ่มช่องทางการเข้าถึงหนังสือของเด็ก โดยให้ทุกครอบครัวที่มีเด็กปฐมวัยได้มีโอกาสเป็นเจ้าของหนังสืออย่างน้อยคนละ 3 เล่ม โดยเฉพาะกลุ่มผู้ด้อยโอกาส และกลุ่มเปราะบางทางสังคมในพื้นที่ต่างๆ และจัดสรรงบประมาณอย่างเพียงพอให้โรงเรียนศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดซื้อหนังสือสำหรับเด็กปฐมวัยและสร้างปัจจัย สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเข้าถึงการอ่าน
เหล่านี้เป็นความพยายามของเยาวชนที่ได้ลงมือจุดติดจิตสำนึกรักการอ่านให้เกิดขึ้นในสังคมไทย พร้อมข้อเรียกร้องที่ผ่านการศึกษาวิจัยมาอย่างจริงจัง เป็นนโยบายสำเร็จรูปพร้อมมอบให้กับทุกพรรคการเมืองคุณภาพที่จะช่วยสานต่อความฝันพาเมืองไทยเข้าสู่ทศวรรษแห่งการอ่านให้เป็นรูปธรรมขึ้นมาเสียที
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด