โรคกระดูกพรุนพุ่ง 10% ภัยเงียบผู้สูงอายุ

หมอรามาฯ ชี้ ภาวะกระดูกพรุน เป็นภัยเงียบของผู้สูงอายุ เชื่อ “พันธุกรรม” มีอิทธิพลต่อโรคสูงกว่าวิถีชีวิต พบไทยมีผู้ป่วยสูงขึ้น 10% ใช้ยาต้านภาวะกระดูกพรุนได้ผลลดอัตราการตาย ขณะที่กินแคลเซียมยังน้อยเฉลี่ยต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน แนะออกกำลังกาย ดื่มนม ลดปัจจัยเสี่ยง

รศ.นพ.วิวัฒน์ วจนะวิศิษฐ์ หัวหน้าภาควิชาออร์โธปิดิคส์ กองอายุรกรรมโรคข้อและกระดูก รพ.รามาธิบดีกล่าวถึงสถานการณ์ของโรคกระดูกพรุนในประเทศไทย และอันตรายของกระดูกข้อสะโพกหัก ซึ่งเป็นภัยเงียบของผู้สูงอายุว่า ขณะนี้ประเทศไทย ตรวจพบผู้ป่วยที่เป็นโรคกระดูกพรุนเพิ่มสูงขึ้น และเป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากตัวเลขทางสถิติขององค์การอนามัยโลก (who) พบว่าโรคกระดูกพรุนเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่มีความสำคัญต่อประชากรผู้สูงอายุมากที่สุด โดยผู้หญิงมีโอกาสกระดูกหักจากโรคนี้มากถึง 30-40%

ในขณะที่ผู้ชายมีโอกาสกระดูก 13% หรือเทียบเท่ากับประชากรผู้ป่วย 1 ใน 5 อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคกระดูกพรุนให้หายขาด เช่น การผ่าตัด แต่ปรากฏว่า จะมีอัตราตายหลังผ่าตัดถึง 20% ขณะที่ผู้รอดชีวิต 80% มีถึง 40% ที่หลังผ่าตัดแล้วเดินไม่ได้ ซึ่งการเสียชีวิตส่วนใหญ่มาจากโรคแทรกซ้อน อาทิ ปอดบวม ติดเชื้อ แผลจากการกดทับ เครียดจนอาเจียนเป็นเลือด ซึ่งมีการใช้ยาต้านภาวะกระดูกพรุน โดยเป็นกลุ่มยา bisphosphonate มี 2 ชนิด แบบยากิน และยาฉีด โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 18,000-20,000 ต่อปี แต่พบว่าการใช้ยาลดอัตราการตายของผู้ป่วยได้ดีกว่าการผ่าตัด แต่การให้ยานั้น แพทย์จำเป็นต้องตรวจคัดกรองผู้ป่วย เพื่อพิจารณาให้ยาตามความจำเป็น จึงแนะนำให้ผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปมาตรวจภาวะกระดูกพรุน

“จากข้อมูลพบการอุบัติการณ์ของโรคนี้ในประเทศไทยอย่างชัดเจนว่า ที่ จ.ลำปาง เมื่อปี 2540 มีผู้ป่วยจากสะโพกหักเพราะภาวะกระดูกพรุน 195 รายต่อแสนประชากร ขณะที่ปี 2549 เพิ่มเป็นกว่า 400 รายต่อแสนประชากร หรือสรุปได้ว่ามีอัตราการเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10 ซึ่งกำลังเป็นปัญหาในประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งยังขาดความรู้ว่า อาการหลังโกง หรือตัวเตี้ยลงนั้นเป็นโรคกระดูกพรุน และโรคนี้ไม่มีอาการเจ็บ จึงเป็นภัยเงียบเพราะคนไข้จะไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคนี้” รศ.นพ.วิวัฒน์ ระบุ

รศ.นพ.วิวัฒน์ กล่าวว่า ผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือน เป็นผู้ที่มีความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุนมาก เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนจะลดลง ทำให้มวลกระดูกของผู้หญิงในกลุ่มวัยนี้ลดลงถึงร้อยละ 3-5 ต่อปี ขณะที่มวลกระดูกของผู้ชายจะลดลง 0.8% ดังนั้น แนะนำให้ผู้หญิงที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป เสริมการรับประทานแคลเซียม ที่ได้จากอาหารและนม ออกกำลังกายกลางแจ้ง เพื่อรับวิตามินดี ซึ่งโดยทั่วไป ควรได้รับแคลเซียม วันละ 800 มิลลิกรัม แต่ข้อมูลจากการศึกษากลับพบว่า คนไทยได้รับแคลเซียมเพียงวันละ 361 มิลลิกรัมต่อวันเท่านั้น

นอกจากนี้ที่สำคัญโรคกระดูกพรุนมีปัจจัยสำคัญมากจากพันธุกรรม ดังนั้น ผู้หญิงที่มีประวัติครอบครัวทางสายแม่เป็น ก็ควรได้รับการตรวจภาวะกระดูกพรุน รวมถึงผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงอื่น เช่นการสูบบุหรี่จัด การรับประทานยากลุ่มสเตียรอยด์ติดต่อกันเป็นเวลานาน

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ