โรคกรดไหลย้อน ทรมานชีวิตคนทำงาน
แนะเลี่ยงสูบบุหรี่ ดื่มสุรา น้ำชา กาแฟ น้ำอัดลม
โรคกรดไหลย้อนจากกระเพาะสู่หลอดอาหารหรือโรคกรดไหลย้อน เป็นภาวะที่น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร โดยของที่ไหลย้อนส่วนใหญ่เป็นกรดในกระเพาะอาหาร ส่วนน้อยอาจเป็นด่างหรือน้ำย่อยจากลำไส้เล็ก โดยอาจมีหรือไม่มีภาวะหลอดอาหารอักเสบก็ได้ โรคนี้มีความสำคัญคือ ผู้ป่วยจะมีอาการแสบยอดอก หรือมีภาวะเรอเปรี้ยวร่วมด้วย ภาวะนี้อาจทำให้เกิดหลอดอาหารอักเสบ ถ้าเป็นมากจนเกิดแผลรุนแรงอาจทำให้หลอดอาหารส่วนปลายตีบ หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงเซลล์ของเยื่อบุหลอดอาหาร ในบางรายอาจรุนแรงถึงขั้นเป็นมะเร็งหลอดอาหารได้
นอกจากนี้ในผู้ป่วยบางรายอาจมาด้วยอาการของโรคทางระบบหู คอ จมูก หรืออาจมาด้วยอาการทางระบบหายใจ
จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคกรดไหลย้อน
อาการสำคัญคือ อาการแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ แล้วลามมาที่บริเวณหน้าอกหรือคอ อาการนี้จะเป็นมากขึ้นหลังรับประทานอาหารมื้อหนัก การโน้มตัวไปข้างหน้า การยกของหนัก หรือการนอนหงาย อาการสำคัญอีกประการคือ อาการเรอเปรี้ยว คือมีกรดซึ่งเป็นน้ำรสเปรี้ยวหรือรสขมไหลย้อนขึ้นมาในปาก โดยคนไข้อาจมีทั้ง 2 อาการ หรืออาการใดอาการหนึ่งก็ได้ ในคนไทยที่เป็นโรคนี้บางครั้งอาจพบอาการนี้ไม่ชัดเจนอย่างคนไข้ในแถบตะวันตกหรืออเมริกา อาการอื่นๆที่อาจพบได้ อาทิ ท้องอืด แน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียน หรือกลืนลำบากในบางรายที่เป็นมาก บางรายอาจมาด้วยอาการที่ไม่ใช่อาการของหลอดอาหาร อาทิ เจ็บหน้าอก จุกที่คอ มีอาการคล้ายมีอะไรติดอยู่บริเวณลำคอ เสียงแหบ เจ็บคอเรื้อรัง หอบหืด หรือปากมีกลิ่นโดยหาสาเหตุไม่ได้
โดยปรกติแล้วแพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้จากอาการดังที่กล่าวมา โดยผู้ป่วยที่มีอาการทั้งแสบยอดอก หรือเรอเปรี้ยว แพทย์สามารถวินิจฉัยได้เลยว่าผู้ป่วยมีภาวะกรดไหลย้อน และให้การรักษาเบื้องต้นได้เลย โดยจะติดตามดูอาการของผู้ป่วย ในบางรายอาจมีความจำเป็นต้องได้รับการตรวจค้นพิเศษเพิ่มเติม เช่น การส่องกล้องทางเดินอาหาร การกลืนแป้ง การตรวจวัดการบีบตัวของหลอดอาหาร และการตรวจวัดความเป็นกรด-ด่างในหลอดอาหาร ซึ่งพบว่าได้ผลแม่นยำและดีที่สุดในปัจจุบัน
จะปฏิบัติตัวอย่างไรถ้าเป็นโรคนี้
โดยทั่วไปเป้าหมายของการรักษาแพทย์จะมุ่งเน้นให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้น รักษาอาการอักเสบของแผลในหลอดอาหารและป้องกันผลแทรกซ้อน การรักษาประกอบด้วย การเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต การให้ยา การส่องกล้องรักษา และการผ่าตัด โดยวิธีที่ง่ายที่สุดคือ การเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ซึ่งสามารถทำได้ดังต่อไปนี้
–หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา
–หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำชา กาแฟ น้ำอัดลม น้ำผลไม้ หรืออาหารที่มีรสเปรี้ยวจัด เผ็ดจัด อาหารไขมันสูง ช็อกโกแลต
–ระวังไม่ให้น้ำหนักตัวมากหรืออ้วนเกินไป
–ระวังอาหารมื้อเย็น ไม่รับประทานปริมาณมาก และไม่ควรนอนทันทีหลังรับประทานอาหารอย่างน้อย 3 ชั่วโมง
–ควรรับประทานอาหารปริมาณน้อยๆแต่บ่อยครั้ง
–ไม่ใส่เสื้อรัดรูปเกินไป
–ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
–นอนตะแคงซ้าย และนอนหนุนหัวเตียงให้สูงอย่างน้อย 6 นิ้ว
เมื่อปฏิบัติตัวเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เพื่อหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสม
ที่มา : หนังสือพิมพ์โลกวันนี้
update : 02-07-51