โพลล์’สสส.’ชี้บุหรี่แพงผลักเด็กเลิกสูบ
หลังพบ 53% อยากลอง
สสส.เผยผลสำรวจ พฤติกรรมการสูบบุหรี่ของนัก ศึกษามหาวิทยาลัย พบ 53% อยากลอง ระบุรอบปีที่ผ่านมา กลุ่มตัวอย่างกว่า 59% อยาก เลิกสูบ เหตุบุหรี่ราคาแพง พร้อมหนุนมหา‘ลัยเป็นเขตปลอดบุหรี่ 100%
เมื่อวันที่ 5 พ.ย. เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) จัดแถลงข่าว “พิธีมอบรางวัลศิลปิน ดารา และ สื่อสารมวลชนเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่” ครั้งที่ 2 ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 19 พ.ย. ที่ห้องประชุมสยามมกุฎราชกุมาร อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ปี (ซอยศูนย์วิจัย)
ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าวว่า พฤติกรรมการลอกเลียนแบบการสูบบุหรี่ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แต่ที่สำคัญคือ พื้นฐานครอบครัว โรงเรียน สิ่งแวดล้อม ซึ่งทุกคนต้องช่วยกันสร้างตัวอย่างที่ดี โดยเริ่มที่ครอบครัว ครู อาจารย์ บุคคลตัวอย่างในสังคม เพราะการเห็นพฤติกรรมซ้ำๆ จากผู้ปกครอง คนใกล้ชิด เพื่อน ทั้งการสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์ จะทำให้เกิดความอยากลอง โดยเฉพาะเด็กที่พื้นฐานคนในครอบครัวสูบบุหรี่ มักมีแนวโน้มอยากทดลองสูบบุหรี่ได้ง่ายเมื่อถูกเพื่อนชักชวนหรือเห็นเพื่อนสูบ
“การมอบรางวัลกับบุคคล ที่เป็นที่ชื่นชอบในสังคมถือเป็น การสร้างตัวอย่างที่ดี วัยเด็กและเยาวชนมักมีดารานักร้องเป็นต้นแบบ และจะสามารถชักชวนและ สร้างทัศนคติให้เด็กและเยาวชนไม่อยากทดลองสูบบุหรี่ได้” ประ ธานเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่กล่าว
นางสุปรีดา อดุลยานนท์รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส.ร่วมกับเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ สำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของนักศึกษามหา วิทยาลัย ระดับปริญญาตรีปีที่ 1-4 ตั้งแต่เดือน มิ.ย.-ส.ค.52 จำนวน 1,000 คน พบว่ามีกลุ่มตัวอย่างสูบบุหรี่ 320 คน หรือ 32% เป็นเพศชาย 265 คน เพศหญิง 55 คน ส่วนมากเริ่มสูบบุหรี่ที่อายุ 18 ปี สาเหตุที่เริ่มสูบมากที่สุดคือ อยากลอง 53.8% ทำตามเพื่อน 23.4% เข้าสังคม 9.4% คลายเครียด 4.1% ความเท่ โก้เก๋ 3.8% ทำตามคนในบ้าน 2.8% อยากเด่นในสายตาเพื่อน 1.6% และแสดงความเป็นผู้ใหญ่ 1.2%
“รอบปีที่ผ่านมามีกลุ่มตัวอย่างอยากเลิกบุหรี่ถึง 59.1% โดยสาเหตุที่กลุ่มตัวอย่างชายอยากเลิกสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่ราคาแพง 8.5% ส่วนกลุ่มตัวอย่างหญิงอยากเลิก เพราะคนใกล้ชิดแนะนำ 1.8% ดังนั้น ในมหาวิทยาลัยควรมีหน่วยงานช่วยเหลือให้คำแนะนำนักศึกษาที่อยากเลิกสูบบุหรี่ เพื่อให้คำแนะนำแนวการเลิกบุหรี่ที่ถูกต้อง ซึ่งกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คือ 88% ทราบถึงอันตรายการได้รับควันบุหรี่มือสอง อีกกว่าครึ่งคือ 68.4% เห็นด้วยว่าควรให้มหาวิทยาลัยเป็นเขตปลอดบุหรี่ 100%” รองผู้จัดการ สสส.กล่าว.
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
update:06-11-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่