“โจ๋ไทย” หลงควันบารากู่ อันตรายกว่าบุหรี่ 6 เท่า

สูบเป็นครั้งคราวจะเท่ากับสูบครั้งละ 2 มวน

 

“โจ๋ไทย” หลงควันบารากู่ อันตรายกว่าบุหรี่ 6 เท่า 

          ดร.ศรีรัช ลาภใหญ่ อาจารย์ประจำสาขาสื่อสารการตลาด คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงการศึกษากลยุทธ์การตลาดของยาสูบประเภท “บารากู่” และพฤติกรรมการบริโภคบารากู่ในกลุ่มเยาวชน โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า ได้ทำการศึกษาพฤติกรรมกลุ่มตัวอย่างระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย-อุดมศึกษา จำนวน 783 ราย พบว่า เยาวชน 81% รู้จักว่าบารากู่ คืออะไร โดย 34% สูบบารากู่เป็นประจำและเป็นผู้ที่เคยสูบบุหรี่มาก่อน เยาวชน 57% รู้จักบารากู่จากร้านสุรา สอดคล้องกับผลการสำรวจที่ชี้ว่า สถานที่ที่วัยรุ่นนิยมสูบบารากู่มากที่สุดคือร้านเหล้า รองลงมา คือร้านเหล้าปั่น และหอพัก นอกจากนี้ยังพบว่ากลุ่มเยาวชนที่นับถือศาสนาอิสลามมีการสูบบารากู่เช่นกัน และเริ่มสูบตั้งแต่อายุยังน้อยคือพบว่า เริ่มที่อายุ 12 ปี เยาวชนมุสลิมมีอัตราการสูบบารากู่มากขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งต้องเร่งทำความเข้าใจถึงอันตรายต่อไปกับกลุ่มเสี่ยงนี้

 

          “พบว่าบารากู่และบุหรี่ปรุงรสหาซื้อได้ง่ายแม้แต่เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีที่กฎหมายห้ามจำหน่าย กว่าครึ่งหนึ่งยังสามารถซื้อได้ โดย 90% ยอมรับว่าบารากู่เป็นสารที่วัยรุ่นชอบลอง มีเพื่อนเป็นผู้ชักชวน โดยเฉลี่ยวัยรุ่นที่สูบบารากู่จะสูบสัปดาห์ละครั้ง มี 32.3% ที่มีอุปกรณ์ประกอบการสูบ (เตาสูบ) เป็นของตนเอง สามารถหาซื้ออุปกรณ์ได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นในตลาดนัดกลางคืน แหล่งช็อปปิ้งชื่อดังหลายแห่ง แผงลอย ร้านตามตลาดนัดสุดสัปดาห์ ร้านขายส่ง และร้าน อินเตอร์เน็ต ที่น่าเป็นห่วงคือหอพักที่อยู่ใกล้สถานศึกษา จะมีบริการส่งชุดสูบบารากู่ถึงห้องพัก และยังพบว่าการขายเตาบารากู่ได้ระบาดไปถึงในห้างสรรพสินค้าประเภทดิสเคาน์สโตร์ที่เปิดแผงลอยให้ผู้ค้าภายนอกเข้ามาทำการค้าด้วย” ดร.ศรีรัช กล่าว

 

          ดร.ศรีรัช กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับบารากู่ เพราะกลุ่มตัวอย่าง 47% เห็นว่าการสูบบารากู่นั้นจะไม่ทำให้เสพติด กลุ่มตัวอย่าง 62% เชื่อว่าการสูบทำให้เกิดความสุข ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน กลุ่มตัวอย่าง 44% เชื่อว่าบารากู่เป็นสมุนไพร กลุ่มตัวอย่าง 56% เชื่อว่ามีพิษน้อยมากหากเทียบกับบุหรี่ กลุ่มตัวอย่าง 66% เชื่อว่า บารากู่เป็นวัฒนธรรมอาหรับเก่าแก่ที่ไม่มีอันตราย ที่สำคัญ คือ ผู้หญิงจะมีทัศนคติด้านบวกและไม่กลัวที่จะลองสูบ เนื่องจากมีรสผลไม้ กลิ่นหอม รสหวาน และเชื่อว่าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ รวมทั้งผู้หญิงเชื่อว่าการสูบบารากู่จะทำให้ผู้หญิงมีภาพลักษณ์ดีกว่าผู้หญิงสูบบุหรี่ ซึ่งถือเป็นความเข้าใจผิด เพราะยาสูบ บารากู่มีพิษภัยกว่าบุหรี่ถึง 6 เท่า หากสูบทุกวันจะเท่ากับสูบบุหรี่วันละ 10 มวน หากสูบเป็นครั้งคราวจะเท่ากับสูบครั้งละ 2 มวน ซึ่งบารากู่ คือ ยาสูบชนิดหนึ่งซึ่งทำให้เกิดการเสพติดได้

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง

 

 

update:02-06-53

อัพเดทเนื้อหาโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่

Shares:
QR Code :
QR Code