โจ๋ไทยจ่ายมือถือรองค่าอาหาร

เล็งเปลี่ยนเครื่องรุ่นใหม่ใน6ด. ฮิตใช้เน็ตอ่านข่าว-ส่ง”อี-เมล”

 

 

โจ๋ไทยจ่ายมือถือรองค่าอาหาร          เทเลนอร์เปิดผลสำรวจพฤติกรรมเยาวชนไทย มองโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นสิ่งสำคัญในชีวิตอย่างมาก เชื่อว่าจะทำให้ชีวิตง่ายขึ้น ชอบคุยทางเสียงมากกว่าส่ง เอสเอ็มเอส ควักกระเป๋าจ่ายค่าฮัลโหลอันดับ 2 รองจากค่าอาหาร มากกว่าค่าเดินทาง พบเรื่องแฟชั่นเป็นปัจจัยหลักเลือกซื้อเครื่องใหม่ เฉลี่ยอายุการใช้งานอยู่ที่ 1.52 ปี

 

         นายเยนส์ โอลาฟ บยอร์นสัน กรรมการผู้จัดการ ศูนย์การวิจัยและคิดค้นนวัตกรรมของเทเลนอร์แห่งเอเชียแปซิฟิค (tricap) เปิดเผยผลการสำรวจพฤติกรรมการสื่อสารแบบเคลื่อนที่และแบบดิจิตอลของเยาวชนไทยอายุระหว่าง 15-29 ปี จำนวน 1,148 คนในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี 2549 ว่า เยาวชนไทยให้ความสำคัญกับโทรศัพท์เคลื่อนที่เพราะถือเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตอย่างมาก ทั้งเพื่อการสื่อสารและความบันเทิง พบว่า 78% เชื่อว่าเทคโนโลยีช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้น 67% เชื่อว่าเทคโนโลยีเป็นส่วนสำคัญของชีวิต

 

         ทั้งนี้ ผู้ตอบแบบสอบถาม 93% ชอบที่จะคุยทางโทรศัพท์มากกว่าการส่งข้อความสั้น (เอสเอ็มเอส) เฉลี่ย 3 ข้อความต่อวัน ขณะที่ประเทศบังกลาเทศอยู่ที่ 5 ข้อความต่อวัน มาเลเซีย 18 ข้อความต่อวัน และปากีสถาน 6 ข้อความต่อวัน  เฉลี่ยค่าใช้จ่ายโทรศัพท์มือถือคิดเป็นสัดส่วนถึง 15.07% ของรายได้ต่อเดือน เป็นอันดับ 2 รองจากค่าอาหาร อยู่ที่ 32.67% และมากกว่าค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายเพื่อความบันเทิง และค่าใช้จ่ายอื่นๆ

 

         อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจยังพบว่า ด้านแฟชั่นถือเป็นปัจจัยที่คนไทยรุ่นใหม่ให้ความสำคัญอย่างมากในการเลือกซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดย 50% มีความคิดจะเปลี่ยนโทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่นที่ดีขึ้นภายใน 6 เดือน และเฉลี่ยใช้เครื่องปัจจุบัน 1.52 ปี มีเหตุผลหลักในการเปลี่ยนโทรศัพท์เครื่องใหม่ คือ เครื่องเก่าล้าสมัย คิดเป็นสัดส่วนถึง 49%

  

         นายบยอร์นสันกล่าวว่า สำหรับพฤติกรรมการใช้อินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยีออนไลน์ พบว่าเกือบ 50% ใช้งานอินเตอร์เน็ตเป็นประจำ เฉลี่ย 20 วันต่อเดือน  การใช้งานอันดับแรก ได้แก่ การติดตามข่าว รับส่งอี-เมล ท่องเว็บไซต์ เล่นเกมส์ออนไลน์ และดาวน์โหลดเพลง

          การศึกษาระดับภูมิภาค คนไทยวัยหนุ่มสาวจัดอยู่ในกลุ่มที่ก้าวหน้ามากที่สุดในการรับเทคโนโลยีใหม่ โดยคนไทยรุ่นใหม่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในด้านอื่นๆ ที่มากกว่าแค่เพื่อการสื่อสาร 52% ใช้เพื่อเล่นเกม 29% เพื่อฟังเพลง 55% เพื่อการแบ่งปันข้อมูลผ่านเทคโนโลยีบลูทูธ และ 16% เพื่อสื่อสารกับรายการโทรทัศน์ เช่น การโหวตรายการเรียลิตี้โชว์”

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน

 

 

 

update 21-01-52

 

Shares:
QR Code :
QR Code