แพทย์ชี้คนไทยเสี่ยงเป็นโรคริดสีดวงทวารหนักมากขึ้น
ปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในหญิงมีครรภ์
นพ.ชิงเยี่ยม ปัญจปิยะกุล ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านศัลยกรรมทั่วไป โรงพยาบาลสมิติเวช เปิดเผยว่า ปัญหาโรคริดสีดวงทวารหนักเป็นโรคที่มีสิ่งผิดปกติยื่นออกมาจากร่างกาย ส่วนที่ยื่นออกมานั้นมีลักษณะเป็นติ่งเนื้อและตำแหน่งที่เกิด คือบริเวณทวารหนัก ซึ่งเป็นทางขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย
โดยสาเหตุของโรคริดสีดวงทวารหนัก เกิดจากติ่งเนื้อที่ผิดปกตินี้ เกิดจากการบวม และอักเสบของหลอดเลือดดำที่ผนังลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ซึ่งอาจเกิดขึ้นพร้อมกันหลายจุด หากเกิดกับเส้นเลือดดำที่ใต้ผิวหนังบริเวณปากทวารหนักอาจจะมองเห็นได้จากภายนอกเรียกว่า”ริดสีดวงภายนอก” แต่ถ้าเกิดกับเส้นเลือดดำที่อยู่ลึกเข้าไปด้านในของลำไส้ใหญ่ส่วนปลายเรียกว่า”ริดสีดวงภายใน”
สาเหตุของการเกิดโรคริดสีดวงทวารหนักส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมในการขับถ่ายอุจจาระที่ต้องเบ่งถ่ายอุจจาระบ่อยๆ และนานๆ ซึ่งเกิดจากอาการท้องผูก การชอบอ่านหนังสือในขณะขับถ่าย การยืนหรือนั่งท่าใดท่าหนึ่งติดต่อกันนานๆ การกลั้นอุจจาระ เป็นต้น นอกจากนี้การร่วมเพศทางทวารหนัก ท้องผูกเรื้อรัง อาการท้องเสียเรื้อรัง ชอบใช้ยาระบายหรือยาสวนทวารอย่างพร่ำเพรื่อ ก็เป็นส่วนที่ทำให้เกิดโรคริดสีดวงทวารหนักได้
ปัจจุบันหญิงมีครรภ์มักประสบปัญหาเกี่ยวกับการเป็นโรคริดสีดวงทวารหนักในระหว่างการตั้งครรภ์ เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากในช่วงที่ตั้งครรภ์ มดลูกจะมีขนาดที่ใหญ่โตขึ้น ทำให้ไปเบียดบริเวณอุ้งเชิงกราน และตามเส้นเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงบริเวณทวารหนัก ทำให้เกิดสภาวะเลือดไหลเวียนไม่สะดวก หรือภาวะเลือดไหลย้อนไปเลี้ยงบริเวณริดสีดวงน้อย
ดังนั้นหญิงมีครรภ์ จึงต้องระมัดระวัง อย่าให้เกิดอาการท้องผูก เวลาถ่ายอุจจาระ อย่าเบ่งนานเวลานอนพัก ควรนอนในท่าที่ไม่ให้มดลูกไปเอนทับหรือกดทับบริเวณอุ้งเชิงกราน นอกจากนี้ควรรับประทานผัก ผลไม้ที่มีกาก อาทิ ผักใบเขียวคะน้า ผักโขม, กวางตุ้งมะละกอ , กล้วยและส้มเป็นต้น โดยอาการโรคริดสีดวงทวารหนักของหญิงมีครรภ์ เมื่อคลอดบุตรแล้ว ก็จะกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิม
ทั้งนี้ โรคริดสีดวงทวารหนัก เป็นโรคที่พบได้บ่อย ดีที่สุดคือการป้องกันเรื่องของการขับถ่าย อย่าให้ท้องผูก ไปห้องน้ำเป็นกิจวัตร และควรถ่ายทุกวัน และเมื่อมีอาการแล้ว ควร รีบไปตรวจ โดยในปัจจุบันสามารถรับการรักษาได้ในโรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศ ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ ไม่ต้องอายแพทย์ โดยขณะทำการรักษา แพทย์จะนำผ้ามาปิดให้มิดชิด และเปิดเฉพาะในจุดที่เป็นบริเวณที่จะทำการรักษาเท่านั้น และการตรวจรักษาในปัจจุบัน ขึ้นอยู่กับระยะที่เป็นของโรค หากจำเป็นจะต้องทำการผ่าตัด
วิธีการรักษาด้วยการผ่าตัดมี 2 วิธี ได้แก่1. การผ่าตัดโดยแพทย์ ซึ่งเป็นวิธีแบบเดิมโดยศัลยแพทย์จะทำการตัดในส่วนริดสีดวงส่วนเกินออกไป และ 2. การผ่าตัดด้วยเครื่องมือตัดเย็บอัตโนมัติหรือที่เรียกว่า pph (procedure for prolapsed and hemorrhoid) ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยเจ็บน้อย และใช้ระยะเวลาในการผ่าตัดและพักฟื้นตัวน้อย ระยะเวลาการฟื้นตัวของผู้ป่วยหลังการผ่าตัดเร็ว ความต้องการในการรับประทานยาแก้ปวดของผู้ป่วยน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการผ่าตัดแบบเดิม รวมถึงผลข้างเคียงหลังการผ่าตัดไม่ก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อน ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตปกติได้ไวกว่าการผ่าตัดแบบเดิม
ที่มา: หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย
update: 19-01-53
อัพเดทเนื้อหาโดย: อาทิตย์ ด้วนเกตุ