แบคทีเรีย..ดื้อยา!

ปัญหาท้าทายโลก

 

 แบคทีเรีย..ดื้อยา!

 

            เชื้อโรคดื้อยา” กำลังจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ของโลก เมื่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สมัยที่ 63 หยิบยกประเด็นนี้เป็นหัวข้อใหญ่ในการประชุม

 

            การดื้อยาของเชื้อโรค มีสาเหตุหลักมาจากการใช้ยาผิด ใช้ยาในระยะเวลาที่ไม่เหมาะสม ไม่ครบตามเวลาที่ควรใช้ยานั้น และบางทีก็เกิดจากการใช้ยาในปริมาณที่น้อยเกินไป หรือใช้ยาไม่ถูกกับโรค” นายแพทย์สำลี เปลี่ยนบางช้าง ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดประเด็น

สอดคล้องกับทรรศนะของ นพ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่ว่า ที่ผ่านมาวงการแพทย์ได้มีการพัฒนายาปฏิชีวนะขึ้นมาใช้รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียมากมายหลากหลายชนิด และสามารถปราบเชื้อแบคทีเรียได้เป็นอย่างดี แต่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ มีข้อมูลใหม่ว่า เชื้อแบคทีเรียบางตัวได้มีพัฒนาการ สามารถต่อต้านยาปฏิชีวนะ หรือที่เรียกว่า ดื้อต่อยาปฏิชีวนะได้มากขึ้น จนถึงขั้นวิกฤต ข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพแห่ง ชาติ และเครือข่ายโรงพยาบาลอีก 60 แห่งทั่วประเทศ พบว่า เชื้อแบคทีเรียในประเทศไทย ดื้อยามากกว่าประเทศที่มีการควบคุมการใช้ยาอย่างเข้มงวด

 

เชื้อโรคหลายชนิดมีอัตราการดื้อยาสูงขึ้น เช่น เชื้อสเตรปโตค็อกคัส นิวโมนิอี้ (streptococcus pneumoniae) ที่ทำให้เกิดโรคปอดอักเสบ พบได้ในเด็กอายุไม่เกิน 5 ขวบ มีการดื้อยาสูงถึง 61% ในปี 2550 สาเหตุของการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรีย ส่วนหนึ่งเกิดจากการใช้ยาในปริมาณมาก และใช้กันอย่างแพร่หลายมากเกินไป

 

ทุกครั้งที่มีการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรีย ยาจะไปออกฤทธิ์ที่ตัวแบคทีเรีย ทำให้แบคทีเรียถูกยับยั้งการเจริญเติบโตหรือตายไป แต่ตามธรรมชาติมักมีการผ่าเหล่า ทำให้มีเชื้อแบคทีเรียบางตัวทนต่อยา ดื้อยา และรอดชีวิต แม้ว่าอาจจะเกิดขึ้นได้ 1 ในล้านตัว แต่เชื้อแบคทีเรียที่รอดตายจะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนขยายเผ่าพันธุ์การดื้อยามากขึ้นเป็นทวีคูณ ทำให้เกิดเผ่าพันธุ์ของเชื้อโรคที่ดื้อต่อยาเป็นล้านๆ ตัว”

 

ในการประชุมคณะกรรมการบริหาร องค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการพูดถึงผลกระทบของการดื้อยาว่า เป็นเรื่องที่รุนแรงมาก ทั้งในแง่ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพความเป็นอยู่ และการดำเนินชีวิตของมนุษย์ เพราะ “การดื้อยา” หมายถึง การที่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษา พูดแบบภาษาชาวบ้านก็คือ ไม่มียาตัวไหนที่จะรักษาหรือฆ่าเชื้อโรคได้อีกต่อไป!

 

ยาปฏิชีวนะที่มีการใช้มากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ก็เช่น กลุ่มเพนิซิลิน, อีริ-โธมัยซิน, เตตราซัยคลิน, คลอแรมเฟนิคอล, สเตรปโตมัยซิน รวมถึง ยาประเภทซัลโฟนาไมด์ ที่สังเคราะห์ขึ้นตามกระบวนการทางเคมีด้วย

 

“ยา” ที่เข้าข่ายทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์สูงสุด 25 อันดับแรก เป็นยาปฏิชีวนะถึง 15 รายการ โดยยาปฏิชีวนะ 5 ชนิดแรก ที่พบว่าทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์และนำไปสู่การดื้อยา เป็นยาแก้อักเสบที่ชาวบ้านใช้อยู่เป็นประจำ คือ เซฟไตรอะโซน (ceftriaxone) อะม็อกซี่ซิลิน (amoxicillin) ไอบูโปรเฟน (ibuprofen) ซัลฟาเมทธอกซาโซล และไตรเมทโธพริม (sulfamethoxazole+trimethorprim) ซึ่งขณะนี้มีการ “ดื้อยา” เกือบทั้งหมด!

 

ที่น่าสนใจและต้องเฝ้าระวังมากที่สุดก็คือ ยาพื้นๆ ที่เคยใช้ฆ่าเชื้อได้ผลดี อย่าง เพนิซิลิน และอีริโธมัยซิน  ซึ่งในอดีตใช้เป็นยารักษาโรคปอดบวมได้ผลนั้น เริ่มเกิดอาการดื้อยามานานกว่า 10 ปีแล้ว โดยในปี 2541-2550 พบการดื้อยาเพนิซิลินจาก 47% เป็น 61% และดื้อยาอีริโธมัยซินจาก 27% เป็น 54%

 

คุณหมอจักรธรรม บอกว่า หลังจากที่ยาทั้งสองตัวเริ่มดื้อยา ก็ได้มีการพัฒนายาใหม่ๆ เพื่อทดแทนเพนนิซิลินและอีริโธมัยซิน โดยพัฒนามาตั้งแต่ปี 2544 ในช่วง 5 ปีแรก ที่มีการนำยาใหม่มาใช้ ยอมรับว่าไม่พบการดื้อยาของยากลุ่มใหม่ ล่าสุดมีรายงานว่า ยาใหม่ๆ ที่พัฒนาขึ้นมาก็เริ่มมีการดื้อยาเพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการติดเชื้อที่เป็นปัญหาใหญ่ของการรักษาทางการแพทย์ทั่วโลก ส่งผลให้ความต้องการยาปฏิชีวนะชนิดใหม่ๆเพื่อต่อสู้กับเชื้อดื้อยามีมากขึ้น

 

แต่แนวโน้มการคิดค้นยาปฏิชีวนะชนิดใหม่กลับลดลง เนื่องจาก บริษัทยา ผู้ผลิตรายใหญ่ๆ เห็นว่า ยาปฏิชีวนะเป็นกลุ่มยาที่อาจไม่คุ้มค่าในการลงทุนศึกษาวิจัย ไม่เหมือนตลาดของยากลุ่มที่รักษาโรคเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือยามะเร็ง ที่คงประสิทธิภาพการรักษาและอยู่ในตลาดได้เป็นเวลานาน ที่น่ากลัวอีกอย่างหนึ่งก็คือ การเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลที่น่าจะเป็นโอกาสและทางรอดของผู้ป่วย แต่บางครั้งกลับพบว่า ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อซึ่งมีการดื้อยาและจนถึงขั้นที่รักษาไม่ได้ ซ้ำร้ายไปกว่านั้นยังพบว่า มีการติดเชื้อดื้อยาบางชนิด สามารถติดเชื้อข้ามกลุ่มกับเชื้อแบคทีเรียดื้อยาอย่างรุนแรงได้อีกด้วย ตัวเลขยืนยัน พบผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลกว่า 50% ติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาจนเสียชีวิต!

 

นพ.ปฐม  สวรรค์ปัญญาเลิศ ผอ.สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้รายละเอียดที่น่าตกใจว่า สิ่งที่วงการแพทย์และสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยตกใจและเป็นกังวลมากที่สุดในขณะนี้ก็คือ การดื้อยาของเชื้อใน กลุ่มเอซินีโทแบคเตอร์ (acinetobacter) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล ที่มักฉวยโอกาสก่อโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจผ่านเครื่องช่วยหายใจของผู้ป่วยไอซียู พบว่า เชื้อดังกล่าวกำลังมีแนวโน้มดื้อต่อยาที่ดีที่สุดที่ใช้สำหรับการรักษาอาการติดเชื้อนี้ในโรงพยาบาล ทำให้ไม่มียาตัวใดรักษาโรคดังกล่าวได้อีกเพราะที่ผ่านมาเชื้อเหล่านี้ดื้อต่อยาทุกตัวอยู่แล้ว

 

การต่อสู้กับปัญหาเชื้อดื้อยาที่เกิดขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยความร่วมมือและความรับผิดชอบของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และจำเป็นต้องเรียนรู้ตัวอย่างที่ดีจากต่างประเทศ รวมทั้ง ต้องร่วมมือกับหน่วยงานอื่นทั้งภายในและภายนอกประเทศในการต่อสู้กับปัญหานี้ด้วย เพราะปัญหาเชื้อดื้อยาไม่ใช่ปัญหาของประเทศใดประเทศหนึ่งอีกต่อไป

 

ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผอ.สำนักสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะและลดปัจจัยเสี่ยงรอง สสส. เสริมว่า จากการสำรวจพฤติกรรมการใช้ยาปฏิชีวนะของประเทศไทย พบว่า ประชาชนมีการใช้ยาปฏิชีวนะในโรคที่ไม่จำเป็น          เช่น โรคหวัด ประมาณ 40-60% ในระดับภูมิภาค และ 70-80% ในกรุงเทพมหานคร ผลที่ตามมาหลังจากเกิดภาวะดื้อยาก็คือ ผู้บริโภคต้องใช้ยาที่แพงขึ้น และต้องใช้เวลาฟื้นตัวที่ยาวนานขึ้น เนื่องจาก การดื้อยาทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาลดลง

 

มีข้อมูลระบุชัดเจนว่า การกินยาเกินขนาด กินยาโดยไม่จำเป็นของคนวัย 31-45 ปี ในประเทศไทยทำให้เกิดการ “ดื้อยา” มากที่สุดถึงร้อยละ 24.6 และเกิดความเสียหายปีละกว่า 20,000 ล้านบาท สอดคล้องกับข้อมูลในต่าง ประเทศ ที่พบว่า สหรัฐอเมริกาสูญเสียเงินปีละ 4-5 พันล้านดอลลาร์ จากปัญหาการดื้อยา เช่น เดียวกับยุโรปที่สูญเสียปีละ 9 พันล้านยูโร ขณะที่ตัวเลขของ อย.ระบุว่า ประเทศไทยผลิตและนำเข้ากลุ่มยาฆ่าเชื้อ  รวมถึง ยาปฏิชีวนะสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของการผลิตและนำเข้ายาทั้งหมด โดยในปี 2550 การผลิตและนำเข้ายากลุ่มปฏิชีวนะมีมูลค่ารวมประมาณ 20,000 ล้านบาท หรือประมาณ 20% ของมูลค่ายาทั้งหมดของประเทศ

 

ถึงวันนี้ ปัญหาแบคทีเรียดื้อยา ไม่ใช่ปัญหาของแพทย์หรือบุคลากรในโรงพยาบาลเท่านั้น แต่กำลังเป็นปัญหาของทุกคนในโลก ที่ต้องช่วยกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เหมาะสมในการใช้ยา ที่ผ่านมา มนุษย์มุ่งแต่จะหา “ยา” ที่ดีที่สุดเพื่อเอาชนะเชื้อโรค โดยลืมคิดไปว่า เชื้อโรคก็เป็นสิ่งมีชีวิตเหมือนกับเราที่พร้อมจะต่อสู้ดิ้นรน และเอาชนะต่อยาที่มนุษย์คิดค้นขึ้น และดูเหมือนว่าวันนี้การต่อสู้ในเกมนี้ มนุษย์กำลังจะพ่ายแพ้อย่างสิ้นเชิงเสียด้วย

 

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

 

 

update: 30-09-53

อัพเดทเนื้อหาโดย: ศิรินทิพย์ อิสาสะวิน

 

Shares:
QR Code :
QR Code