แบคทีเรียอื้อผ้าขี้ริ้วเช็ดครัวพบ 89%

แค่ซักพึ่งลมไม่พอ แพทย์แนะ! ต้องต้ม 5-10 นาที

 แบคทีเรียอื้อผ้าขี้ริ้วเช็ดครัวพบ 89%

          “ผ้าขี้ริ้วเช็ดครัว”อันตรายกว่าที่คิด สำรวจ 7 ประเทศ พบ 89% แบคทีเรียอื้อ นำสารพัดโรคท้องร่วง อาหารเป็นพิษ แนะต้ม 5-10 นาที ฆ่า เชื้อโรค ซักพึ่งลมเชื้อโรคไม่ถูกทำลาย

 

          ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา เปิดเผยภายหลังการเข้าร่วมประชุมสภาด้านสุขอนามัยแห่งเอเชีย ที่ประเทศมาเลเซียว่าสภาด้านสุขอนามัย(the hygiene council) ได้เก็บสำลีตัวอย่างเชื้อแบคทีเรียจำนวน 1,200 ตัวอย่าง จากพื้นผิววัสดุของ 120 บ้านใน 7 ประเทศ ได้แก่ จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ ไทย และ เวียดนาม เพื่อการศึกษาระดับสากลด้านสุขอนามัยในครัวเรือน พบว่าสิ่งที่เหมือนกันในทุกประเทศคือท้องครัวเป็นสถานที่รวมเชื้อแบคทีเรียอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผ้าเช็คครัว 89% พบเชื้อแบคทีเรียอยู่ในระดับที่ไม่น่าพอใจ 78% โดยมีปริมาณเชื้อปนเปื้อนสูงมาก และเชื้อแบคทีเรียเหล่านี้ จะแพร่กระจายออกไปกทั่วทั้งห้องครัว เมื่อมีการทำความสะอาด

 

          ผ้าเช็ดครัวดูเหมือนว่าจะไม่มีอันตราย แต่กลับเป็นที่สะสมของเชื้อโรคเป็นจำนวนมาก ผ้าเช็ดครัวจึงเป็นหนึ่งในพาหะที่มีเชื้อปนเปื้อนมากที่สุด เพราะว่าครัวเป็นแหล่งที่นำอาหารสด ที่อาจมีการปนเปื้อนมาจากตลาด และเมื่อผ้าเช็ดครัวไม่ได้ทำความสะอาดอย่างถูกต้องเชื้อโรคก็ย่อมแพร่กระจายในครัวกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นโรคทางเดินอาหารทั้งหลายอย่าง โรคอุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ ฯลฯ

 

          ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐกล่าวต่อว่า สำหรับวิธีการฆ่าเชื้อโรคผ้าเช็ดครัวแนะนำให้มีผ้าเช็ดครัวหลายผืน เพื่อสลับเปลี่ยนกัน และควรทำความสะอาดด้วยการต้มน้ำ 5-10 นาที เพื่อฆ่าเชื้อโรค ทั้งนี้ วิธีการทำความสะอาดผ้าเช็ดครัวตามปกติ ที่นำผงซักฟอกมาทำความสะอาด จากนั้นนำไปพึ่งลมให้แห้งแล้วนำกลับมาใช้ใหม่นั้น ถือว่าไม่ช่วยให้เชื้อโรคที่ปนเปื้อนมาถูกทำลายได้เลย

 

          ส่วนการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคในห้องครัวนั้น ผมก็ไม่เคยเห็นว่าใครจะนำมาฉีดกับผ้าเช็ดครัวซึ่งวิธีที่ดีที่สุดคือการต้มในน้ำประมาณ 5-10 นาที จากนั้นก็นำไปตากแดด วิธีนี้จะทำให้เชื้อโรคตาย และผ้าเช็ดครัวไปเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค”

 

          ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐกล่าวว่าที่ประชุมซึ่งประกอบด้วยสมาชิกเข้าร่วมการประชุมจาก 7 ประเทศ มีความเห็นตรงกันว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการให้การศึกษาแก่สาธารณะเกี่ยวกับการปฎิบัติด้านสุขอนามัย ส่วนบุคคล เช่นการล้างมือ ซึ่งคนส่วนใหญ่ละเลย และทำให้เกิดโรคติดเชื้อมากขึ้น

 

          ทั้งนี้โรคติดเชื้อที่พบมากที่สุดในไทย คือ โรคท้องร่วงที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรียในทางเดินอาหาร โรคผิวหนังที่เกิดจากการจับต้องสิ่งของที่มีเชื้อโรคปะปนอยู่และไม่ได้ล้างมือ เช่น ผ้าขี้ริ้ว ราวบันได การจับที่โหนบนรถเมล์ ฯลฯ ซึ่งสภาด้านสุขอนามัยแห่งเอเชีย ได้แนะนำให้ล้างมืออย่างเหมาะสมหลังการเตรียมอาหารและหลังจากเข้าห้องน้ำ การทำความสะอาดและฆ่าเชื้อบริเวณ และสิ่งที่ถูกสัมผัสบ่อยๆ เป็นประจำ เช่น รีโมตคอนโทรล ลูกบิดประตู โทรศัพท์ และการเตรียมอาหารที่ปลอดภัย

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน

 

 

update: 29-07-51

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code