แนะวิธีป้องกัน ‘ข้อเข่าเสื่อม’
คุมน้ำหนัก-เลี่ยงนั่งยองๆ
โรคข้อเสื่อมเป็นโรคที่กระดูกอ่อนบริเวณผิวข้อเกิดความผิดปกติ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของกระดูกอ่อนบริเวณผิวข้อทั้งทางด้านรูปร่าง โครงสร้าง และทางเคมี
โดยปกติกระดูกอ่อนจะมีความยืดหยุ่น ทำหน้าที่ลดแรงที่กระทำต่อข้อกระดูกและทำให้ข้อเคลื่อนไหวด้วยความราบรื่น เมื่อกระดูกอ่อนเสื่อม กระดูกแท้จะเสียดสีกันทำให้เกิดความเจ็บปวดและเกิดเสียงดัง และทำให้สูญเสียหน้าที่ในการเคลื่อนไหว รับน้ำหนัก และกระจายแรง ซึ่งภาวะข้อกระดูกเสื่อมมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามอายุที่มากขึ้น และพบมากในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะผู้ที่มีการใช้งานของข้อมาก
นพ.อุดม วิศิษฏ์สุนทร ประธานมูลนิธิทศวรรษโรคกระดูกและข้อ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ปัจจุบัน ประชากรทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย โดยเฉพาะผู้สูงอายุต้องทนทุกข์ทรมานกับโรคดังกล่าวเป็นจำนวนมาก เพราะโรคนี้มักมีอาการปวดเวลาเคลื่อนไหวข้อมากๆ บางครั้งมีเสียงดังที่ข้อขณะเคลื่อนไหว บวม กดเจ็บ ข้อผิดรูปหรือพิการได้
จากการสำรวจชุมชนผู้สูงอายุบริเวณโรงพยาบาลศิริราชในปี 2545 พบว่า ไทยมีผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมถึงร้อยละ 34.5 – 45.6 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งพบว่ามีอัตราเพิ่มสูงขึ้นของโรคกลุ่มนี้อย่างมาก ส่งผลกระทบทั้งต่อสภาพร่างกาย จิตใจ รวมถึงเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญ
ดังนั้น หากคนไทยมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคดังกล่าว ตลอดจนรู้ถึงแนวทางป้องกัน และวิธีการรักษาโรคที่ถูกต้องให้กับตนเองและคนใกล้ชิดแล้ว รวมทั้งทำตามคำแนะนำของแพทย์ ก็จะทำให้ผู้ป่วยดำเนินชีวิตได้อย่างปกติและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และช่วยลดค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการรักษาอีกด้วย
พญ.สุวณี รักธรรม กรรมการที่ปรึกษามูลนิธิทศวรรษโรคกระดูกและข้อ (ประเทศไทย) และอดีต ผอ.สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า อายุเป็นปัจจัยหนึ่งซึ่งมีความสำคัญในการเกิดภาวะข้อเสื่อม ยิ่งอายุมากขึ้น กระดูกอ่อนบริเวณผิวข้อจะมีการสึกหรอตามการใช้งานข้อ นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงในกระดูกอ่อนจากโรคบางอย่าง เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ การติดเชื้อในข้อ ก็จะทำลายกระดูกอ่อนผิวข้อให้เสื่อมเร็วยิ่งขึ้นเช่นกัน
ปัจจุบันยังรักษาโรคข้อเสื่อมให้หายขาดไม่ได้ การรักษาจึงมุ่งที่การลดอาการปวดและคงการใช้งาน เช่น กายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อเข่า การใช้ยา และการผ่าตัด ซึ่งยาในปัจจุบันใช้สะดวกมากขึ้น โดยมีผงชงละลายน้ำกลูโคซามีนซัลเฟต สำหรับดื่มวันละ 1 ครั้ง เพื่อช่วยชะลอการสึกหรอของกระดูกอ่อนผิวข้อ และช่วยบรรเทาอาการปวดของโรคข้อเสื่อม
“ข้อแนะนำในการดำเนินชีวิตประจำวัน เพื่อป้องกันการสึกหรอของข้อไม่ให้เพิ่มมากขึ้น ได้แก่ การควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วนเกิน หลีกเลี่ยงการคุกเข่า ขัดสมาธิ หรือนั่งยองๆ รวมทั้งการขึ้นลงบันไดบ่อยๆ ที่ไม่จำเป็น ผู้ที่มีการบริหารกล้ามเนื้อเข่าให้แข็งแรงจะช่วยให้การใช้งานข้อได้ดีขึ้น ในเรื่องการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพนั้นควรเลือกให้เหมาะสม เช่น การเดิน การปั่นจักรยาน หรือการออกกำลังกายในน้ำ โดยเฉพาะผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก”
โรคข้อเสื่อมยังเกิดจากปัจจัยอื่นๆ ได้อีก เช่น พันธุกรรม น้ำหนักตัว ลักษณะการใช้งานข้อที่ไม่ถูกต้อง อาชีพที่มีการใช้งานของข้อมาก และการได้รับบาดเจ็บบริเวณข้อ ทั้งนี้ อัตราการเกิดโรคในเพศหญิงและชาย ก็ขึ้นอยู่กับช่วงอายุด้วย โดยพบว่าในช่วงอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป พบในเพศหญิงสูงกว่าเพศชาย อาจเป็นผลเนื่องจากวัยทองหรือช่วงวัยหมดประจำเดือนที่มีการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมน
ดังนั้น ไม่ว่าจะอายุเท่าใดก็ตาม ก็ควรเริ่มดูแลและรักษาตัวเองตั้งแต่วันนี้ เพื่อป้องกันภาวะข้อเสื่อมที่อาจก่อให้เกิดการสูญเสียเพิ่มขึ้นในอนาคต หรือสนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคข้อเข่าเสื่อมได้ที่ โทร. 0-2510-2023
ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด
update 04-08-52
อัพเดทเนื้อหาโดย : กันทิมา ลีจันทึก