แนะผู้ว่างงาน “อึด-ฮึด-สู้” แก้วิกฤติ
ลดความเครียด-วิตก ทำสุขภาพจิตเสื่อม
คนไทยในวันนี้กำลังเผชิญกับวิกฤตรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็น วิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตความขัดแย้งทางการเมือง วิกฤตชีวิต หรือแม้แต่การเผชิญกับการแพร่ระบาดของเชื้อโรคสายพันธุ์ใหม่ๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวล และส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
โดยเฉพาะปัญหา “การถูกเลิกจ้าง การว่างงาน หรือปัญหาการถูกลดเงินเดือนหรือรายได้ในกลุ่มที่ยังทำงานอยู่ ซึ่งเป็นผลกระทบที่สืบเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอย่างพร้อมกันทั่วโลก” ปัญหานี้ถือว่าสำคัญ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปากท้องและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนโดยตรงข้อมูลจากการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรในประเทศไทย ช่วงเดือนมกราคม 2552 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า มีผู้ว่างงาน 8.8 แสนคน จากจำนวนแรงงานทั้งหมด 37.30 ล้านคน และเมื่อเทียบกับช่วงเดือนมกราคมปีที่ผ่านมา พบว่า มีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 หรือเพิ่มขึ้น 2.5 แสนคน ซึ่งมีการคาดการณ์เอาไว้ว่าในช่วงไตรมาสที่ 2 จะมีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นถึง 1 ล้านคน
นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากรายงานการวิเคราะห์ข้อมูลของผู้ที่ทำร้ายตนเองในปี 2551 รพ.จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต พบว่า สาเหตุของปัญหาสุขภาพจิตและการทำร้ายตนเอง มาจากปัญหาความยากจน ค้าขายขาดทุน การเปลี่ยนระบบงานและตกงาน และพบว่า ส่วนใหญ่ของผู้มีปัญหามีอายุระหว่าง 30 – 49 ปี ทั้งเพศชายและหญิง โดยที่เพศชายจะฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าเพศหญิง ทั้งนี้ ปัจจัยเหนี่ยวนำที่ทำให้เกิดการทำร้ายตนเองมากที่สุด คือ ปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว การถูกดุด่า นินทาว่าร้าย
“ปัญหาความเครียดจากการว่างงานหรือตกงานนับเป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่ง ที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตของภาคแรงงาน ทั้งนี้เพราะปัญหาสุขภาพจิตเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่าย เข้าใจยาก แต่ยังดีที่สามรถป้องกันและรักษาได้ กระทรวงสาธารณสุข จึงได้เร่งให้กรมสุขภาพจิต ดำเนินการสร้างเสริมพลังสุขภาพจิต “อึด ฮึด สู้” ให้กับภาคแรงงานและคนไทยทั่วประเทศโดยเร็ว และยังเป็นการร่วมรณรงค์เนื่องในโอกาสครบรอบ 120 ปีงานสุขภาพจิตไทยด้วย โดยมีหลักคิดง่ายๆที่จะช่วยให้เราไม่เครียดเมื่อต้องเจอกับวิกฤตในชีวิต คือ การคิดเชิงบวกให้คิดว่าเรายังมีสิ่งดีๆอยู่ในตัวที่ถือว่าเป็นต้นทุนของชีวิต คือ มีพลังใจ พลังความคิด และพลังแห่งความหวัง เพื่อที่จะนำสิ่งเหล่านี้มาใช้เป็นแรงขับเคลื่อนให้สามารถก้าวผ่านวิกฤตต่างๆ ได้อย่างมั่นคง” นายมานิต กล่าว
ทางด้าน นพ.ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สัญญาณที่บ่งบอกถึงภาวะเครียดจะแสดงออกมาได้ 3 รูปแบบ คือ ทางด้านร่างกาย เช่น นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ตื่นเต้นตกใจง่าย ปวดศรีษะ ความดันสูง ทางด้านอารมณ์ เช่น หงุดหงิด มีความเครียด รู้สึกโกรธ ฉุนเฉียว ท้อแท้ หรือซึมเศร้า และทางด้านพฤติกรรม เช่น ความสัมพันธ์กับครอบครัวและคนรอบข้างลดน้อยลง มีความก้าวร้าวมากขึ้น อดทนต่อสิ่งกระตุ้นได้น้อยลง เป็นต้น
สำหรับแนวทางในการรับมือกับวิกฤตและปัญหาต่างๆ นั้น อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้แนะให้ใช้พลัง “อึด ฮึด สู้” โดย สร้างพลัง “อึด” คือ ทนต่อแรงกดดัน สร้างด้วยการรู้จักปรับอารมณ์ ปรับความคิดคิดในเชิงบวกไม่ท้อถอยกับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต เช่น สมมุติว่าเรามีน้ำอยู่แก้วหนึ่ง แล้วน้ำหกไปครึ่งแก้ว มีวิธีคิด ในเชิงบวกได้ 2 แบบ คือ ให้คิดเสียว่ายังดีที่น้ำหกไม่หมด หรือยังดีที่น้ำเหลืออีกตั้งครึ่งแก้ว ในขณะที่บางคนนั้นอาจจะไม่มีน้ำเหลือเหมือนอย่างเรา
บางคนถูกให้ออกจากงานที่ทำในกรุงเทพฯ ทำให้ต้องกลับบ้านต่างจังหวัด สถานะภาพทางสังคมเปลี่ยนแปลงจากคนในเมืองกลายมาเป็นคนบ้านนอกแบบนี้ต้องยอมรับ และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ก็ยังเท่าเดิม ไม่ได้เปลี่ยนแปลง และถ้าปรับความคิดในเชิงบวกถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่จะได้กลับไปช่วยพ่อแม่พี่น้องของเรา และได้มีเวลาอยู่ใกล้ชิดสร้างความอบอุ่นในครอบครัวได้มากยิ่งขึ้น ได้กลับมาเป็นกำลังสำคัญของครอบครัว และของสังคม เพราะได้นำเอาความรู้ความสามารถซึ่งเป็นประสบการณ์จากการทำงานในเมืองหลวงกลับมาพัฒนาชุมชนของตนเอง
ส่วนพลัง “ฮึด” ก็คือ ให้มีความหวัง มีกำลังใจ สามารถสร้างได้จากการเพิ่มศรัทธาในชีวิต โดยมองว่าชีวิตยังมีความหวัง ถ้าเรารู้สึกว้าเหว่ ให้หามิตรหรือคนที่เราไว้ใจช่วย และที่สำคัญคนเราจะต้องมีกำลังใจ ซึ่งกำลังใจของแต่ละคนสร้างได้และหาได้จาก 3 ด้าน คือ 1.กำลังใจที่สามารถสร้างได้ด้วยตนเอง 2.กำลังใจจากครอบครัว และ 3.กำลังใจจากสังคม หลังจากนั้นให้เสริมพลัง “สู้” ในการเอาชนะอุปสรรค ด้วยการปรับเป้าหมาย ปรับการกระทำ ปรับพฤติกรรม ให้หาทำอะไรในสิ่งที่พอทำได้ให้ทำไปก่อน อย่างไปคาดหวังมากจนเกินไป และควรปรับเป้าหมายชีวิตให้เล็กลงเพียงเท่านี้ก็สามารถที่จะยืนอยู่และผ่านพ้นวิกฤติสถานการณ์ต่างๆ ไปได้” นพ.ชาตรี กล่าว
นพ.ชาตรี ยังกล่าวถึงการให้บริการของกรมสุขภาพจิตด้วยว่า ปัจจุบันกรมสุขภาพจิตมีบริการสายด่วน 1323 สายด่วนเชิงตั้งรับในการรับปรึกษาปัญหาต่างๆ และนอกจากนี้ ทางกรมฯ ยังได้ ดำเนินโครงการ “วัดอุณหภูมิใจ” ซึ่งเป็นการทำงานเชิงรุก ด้วยการโทรศัพท์สอบถาม และตอบปัญหาสุขภาพจิตให้กับประชาชนถึงที่บ้าน โดยได้ร่วมกับ บ.ทีโอที ในการจัดวางคู่สายเพื่อใช้ในการสุ่มตัวอย่างประชาชน จำนวน 4,200 กว่าตัวอย่างที่พร้อมจะให้ข้อมูล
ซึ่งจะมีการจัดทำทุก 3 เดือนและจะมีการเก็บข้อมูลคำถามซึ่งจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความเครียดความสุข การเผชิญกับปัญหาความเครียด สาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม ชีวิต การเมือง รวมทั้งวิกฤตทั้งหลายที่เกิดขึ้นมา เพื่อจะได้รู้ว่าคนไทยส่วนใหญ่แล้วใช้วิธีการอะไร ในการเผชิญกับความเครียด ทำให้ได้เห็นค่าปกติและค่าแตกต่าง
วิธีการแบบนี้จะช่วยให้ประชาชนได้รับประโยชน์ คือ คนที่ได้รับโทรศัพท์ จากกรมสุขภาพจิตนอกจากจะได้คุยให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นบุคคลที่เชี่ยวชาญทางด้านจิตวิทยาโดยตรงแล้วยังสามารถขอคำปรึกษาปัญหาต่างๆ ได้อีกด้วย ทั้งนี้ความเครียด ความสุขหรือทุกข์ จะขึ้นลงตามเหตุปัจจัยและช่วงเวลาเหมือนวัดอุณหภูมิ โดยข้อมูลที่ได้มาจะนำไปใช้ในการปรับความพร้อมของบุคลากรทางด้านจิตเวช สำหรับรับมือกับวิกฤตต่างๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์นั้นๆ ต่อไป
ที่มา: หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย
update 07-05-52