แนะปั้นชุมชนเข้มแข็งสู้ภัยพิบัติชาติ

 

 

ภัยพิบัติน้ำท่วมทางภาคกลางที่เกิดขึ้นกับบ้านเราเป็นสิ่งที่ชาวไทยไม่คุ้นเคย ไม่ต่างจากช่วงปี 2547 ที่เกิดเหตุการณ์สึนามิได้ทำลายขวัญและกำลังใจของชาวไทยไปไม่น้อย การอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศ และสภาพสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปของโลกในทุกวันนี้ ทำให้คนเราต้องใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวังมากขึ้น และในขณะเดียวกัน เราต้องมีการเตรียมตัว เตรียมใจ เพื่อตั้งรับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวด้วย

ประเทศญี่ปุ่นถือว่าเป็นต้นแบบของการปลูกฝังให้ประชาชนเรียนรู้ที่จะระมัดระวังตัวเองมาตั้งแต่เด็ก จนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ มีการจัดหลักสูตรระวังภัยธรรมชาติในโรงเรียนตั้งแต่ระดับชั้นเด็กเล็ก เพื่อฝึกเตรียมให้พวกเขาสามารถเติบโตและใช้ชีวิตให้ขนานไปกับภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นได้จากสภาพภูมิประเทศที่เป็นเกาะ จะสังเกตได้ว่าในช่วงที่เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิ กับเหตุการณ์ระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เมื่อปีที่ผ่านมา ชาวญี่ปุ่นเองได้รับการยกย่องว่าสามารถจัดการชีวิต พร้อมกับเร่งฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจ สังคม และขวัญกำลังใจของคนได้อย่างรวดเร็ว

นี่คือตัวอย่างที่วันนี้ ชาวไทยอย่างพวกเราต้องเริ่มหันมาเตรียมตัวเตรียมใจปฏิบัติตาม

ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในการเสวนา หัวข้อ ศักยภาพชุมชนท้องถิ่นในการจัดการภัยพิบัติ ส่วนหนึ่งของการประชุมเชิงปฏิบัติการ สานพลังร่วมสร้างเครือข่ายจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนท้องถิ่นภาคใต้ ณ โรงแรมทวินโลตัส จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 13-14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา จัดโดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่พื้นที่ภาคใต้ เข้าร่วมประกอบด้วยองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 144 องค์กร รวมผู้เข้าร่วม 450 คน

คุณหมอกล่าวว่า จากบทเรียนที่เกิดขึ้น ทำให้คนไทยต้องเริ่มให้ความสำคัญกับการจัดการภัยพิบัติ โดยใช้วิธีการที่เรียกว่า วงจรการจัดการภัยพิบัติ ซึ่งมี 4 ประการ ตั้งแต่การเตรียมแผนป้องกัน การเตรียมการ การรับมือ และการฟื้นฟู

มหาอุทกภัยครั้งนี้เป็นบทเรียนสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของประเทศที่ชัดเจนมากกว่าเดิม เหตุการณ์นี้เป็นเหมือนฟางเส้นสุดท้ายที่ทุกคนต้องยอมรับว่า ประเทศไทยต้องมีการเปลี่ยนแปลงได้แล้ว ประชาชนหลายล้านคนต้องประสบอุทกภัยโดยไม่มีการวางแผนรับมือ ดังนั้นคงถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนต้องมีการกระจายการจัดการอย่างเป็นระบบ โดยเริ่มต้นจากชุมชนท้องถิ่น ทพ.กฤษดา กล่าว

พลังชุมชน ถือเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะเป็นหน่วยเล็กที่สุดที่จะให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันตนเอง และการเตรียมการเพื่อรับสถานการณ์ภัยพิบัติ และคนในพื้นที่เองจะเป็นคนที่รู้จักสภาพภูมิประเทศ รู้จักปัญหา และตอบได้ว่าการจัดการในพื้นที่ที่ตนชำนาญนั้นควรทำเช่นไร ประกอบกับเมื่อมีเจ้าหน้าที่จากภาครัฐเข้ามาเป็นกลไกหล่อลื่นด้วยการช่วยใช้องค์ความรู้ หรือเครื่องมือที่ทันสมัย จะทำให้ปัญหาในพื้นที่นั้นแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว

ทพ.กฤษดายังชี้ให้เห็นตัวอย่างของการทำงานแบบไม่ประสานกันทั้งภาครัฐ และชุมชน เช่น การวางแผนที่จะกั้นน้ำด้วยการใช้บิ๊กแบ็ก ในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร และจบลงด้วยการรุมรื้อของภาคประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ด้วยเหตุผลที่ว่าตนเองอยู่ในสภาวะที่ยากลำบากกว่าเมื่อกั้นคันน้ำแล้ว นี่คือการไม่สมมาตรของข้อมูล การที่ประชาชนไม่มีความรู้ความเข้าใจในธรรมชาติ เนื่องจากไม่เคยประสบเหตุ ก่อให้เกิดปัญหา และสิ้นเปลืองงบประมาณ

ซึ่งถ้าหากจะทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง สิ่งสำคัญที่ต้องเริ่มทำตั้งแต่วันนี้ คือต้องให้ความสำคัญกับข้อมูล และการรู้จักวางแผนอย่างเป็นระบบในการรับมือกับภัยพิบัติ หากรู้จักจัดการและวางแผนอย่างเป็นระบบนอกจากจะทำให้ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งแล้ว ก็จะสามารถเป็นที่พึ่งของเครือข่ายช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ด้วย ทพ.กฤษดากล่าว

ความเข้มแข็งของชุมชนอาจจะสะท้อนได้จากการเริ่มตั้งกองทุนท้องถิ่น เพื่อให้การจัดการแก้ไขปัญหาใดๆ สามารถจัดการไปได้อย่างรวดเร็ว เพราะไม่ต้องรอการอนุมัติเงินงบประมาณจากส่วนกลาง กองทุนท้องถิ่นจะเข้ามาตอบโจทย์ความรวดเร็วในการบรรเทาทุกข์ของชุมชนได้อย่างดี

การเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ จะก่อเกิดเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ได้ ในอนาคต ถ้ามาจากการวางแผนและเตรียมความพร้อมอย่างเป็นระบบโดยอาศัย เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ซึ่งเป็นพลังของคนในท้องถิ่นที่สามารถประสานความร่วมมือช่วยเหลือกันได้ง่ายและรวดเร็วที่สุด

         

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

Shares:
QR Code :
QR Code