แนะกินอาหารหน้าร้อนระวังกะทิ-ส้มตำทำท้องเสีย


ย่างเข้าเดือนมีนาคม อากาศอบอ้าวเริ่มก่อตัวขึ้นตามช่วงฤดู แม้ในบางวัน และบางครั้งอากาศจะแปรเปลี่ยนเย็นเยือกฉับพลันบ้างให้ชาวไทยได้แปลกใจเล็กๆ ก็ตาม แต่ตามฤดูกาลของบ้านเรา ในช่วงนี้ถือเป็นช่วงหน้าร้อน แล้วใครจะบอกว่าหน้าร้อนไม่มีโรคภัยไข้เจ็บมาเยือน เพราะในทุกฤดูที่แตกต่างกัน โรคภัยก็ถามหาได้ทุกเมื่อเชื่อวัน


สิ่งสำคัญที่อยู่คู่กับมนุษย์เราทุกวัน นั่นคือปัจจัย 4 ที่ประกอบด้วย อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค จะเห็นได้ว่า “อาหาร” เป็นปัจจัยสำคัญอันดับแรกที่เป็นตัวหล่อเลี้ยงชีวิตมนุษย์ทุกคนบนโลก ดังนั้นการเลือกกินสิ่งที่ดี สิ่งที่มีประโยชน์เข้าสู่ร่างกาย จึงเป็นปัจจัยสำคัญอย่างมาก และโดยเฉพาะหน้าร้อนแบบนี้ การเลือกกินอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ย่อมเป็นตัวเสี่ยงต่อการเกิดโรค โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินอาหาร


อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ผู้จัดการแผนโภชนาการสมวัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บอกว่า โรคสำคัญที่มากับการกินอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะคือโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร โดยโรคท้องร่วงมาเป็นอันดับต้นๆ ตามมาด้วย บิด ไทฟอยด์ อหิวาตกโรค และอาหารเป็นพิษ เพราะอากาศในหน้าร้อนจะมีอุณหภูมิที่ทำให้เชื้อจุลินทรีย์เจริญเติบโตได้ง่าย และอาหารที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างมากคืออาหารจำพวกเหล่านี้


อาจารย์สง่าให้คะแนนอาหารจำพวก “ส้มตำ” และ “ยำ” เป็นอันดับต้นๆ เพราะส่วนประกอบ และเครื่องปรุงในส้มตำนั้น มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของเชื้อโรค ไม่ว่าจะเป็นปูดอง ปลาร้าที่ไม่ผ่านการต้มสุก มะละกอที่ไม่ได้ล้างให้สะอาด รวมถึงผู้ปรุงอาหารที่หยิบจับสับมะละกอโดยไม่ผ่านการล้างมือให้สะอาด ตลอดจนภาชนะที่ใส่อาหาร


ลำดับต่อมา “อาหารที่มีส่วนประกอบของกะทิ” น้ำกะทิที่อุดมไปด้วยความข้น มันที่กลั่นจากมะพร้าว เมื่อนำมาปรุงอาหารช่วยเพิ่มรสชาติของอาหารได้อย่างเอร็ดอร่อยไม่แพ้เครื่องปรุงอื่นๆ อย่างบรรดาแกงกะทิ น้ำยาขนมจีน แกงเผ็ด แกงเขียวหวาน อาหารที่ถูกปากของชาวไทย ซึ่งอาจารย์สง่าบอกว่าอาหารที่มีส่วนประกอบของกะทิจะเสียง่าย หากจำเป็นต้องเก็บไว้กินต่อก็ควรแช่ในช่องแช่แข็ง และควรอุ่นด้วยอุณหภูมิความร้อน 70-100 องศาเซลเซียสก่อนรับประทานทุกครั้ง ที่สำคัญไม่ควรเก็บไว้เกิน 2 วัน


อาหารลำดับถัดมาเป็นอาหารพวกขนมจีน ซึ่งตัวเส้นขนมจีนที่ทำมาแป้ง หากหมักไว้นานเจออากาศร้อน ก็จะง่ายต่อการเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์เช่นกัน


อาหารทะเล ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ง่ายต่อการบูดเสีย ดังนั้น ก่อนนำมากินต้องมั่นใจว่าปรุงสุก-สะอาดทุกครั้ง


ส่วนพวกอาหารค้างคืน อาหารกระป๋องก็เสี่ยงต่อการทำให้เกิดโรคทางเดินอาหารได้เช่นกัน ทางที่ดีควรรับประทานอาหารให้หมดมื้อนั้นๆ ไป ไม่ควรค้างคืนไว้


สุดท้ายเป็นเรื่องของเครื่องดื่ม ที่อาจารย์สง่าย้ำว่า ต้องระวังเป็นพิเศษทั้งน้ำดื่มและน้ำแข็ง เพราะเมื่ออากาศร้อนคนก็มักนิยมบริโภคน้ำแข็งกันค่อนข้างมาก ซึ่งบางครั้งกระบวนการของการทำน้ำแข็งอาจจะไม่สะอาด ดังนั้น ต้องเลือกกินน้ำแข็งที่มั่นใจได้ว่าสะอาด มีคุณภาพปราศจากเชื้อโรคจริงๆ ทางที่ดีเลือกดื่มน้ำต้มสุกปลอดภัยกว่า


ส่วนพวกประเภทขนมหน้าร้อน บรรดา ข้าวเหนียวทุเรียน ข้าวเหนียวมะม่วงที่วางขายกันอยู่ตามท้องตลาด พูดถึงทีไรอดที่จะน้ำลายสอไม่ได้ทุกทีนั้น อาจารย์สง่าก็ฝากเตือนมาว่า อาหารจำพวกข้าวเหนียวกับผลไม้เหล่านี้ กินได้ แต่ต้องพอดี เพราะนอกจากจะห่วงเรื่องกะทิที่ราดในข้าวเหนียวที่อาจจะบูดเสียได้ง่ายแล้ว ยังต้องห่วงเรื่องของน้ำหนักตัวที่เกินขนาดได้ โดยพลังงานจากข้าวเหนียวครึ่งทัพพี ให้พลังงานประมาณ 80 กิโลแคลอรี ถ้าจะเลือกกินก็ควรกินอาทิตย์หนึ่งไม่เกิน 2 ครั้งก็เพียงพอแล้ว โดยอาจารย์สง่าย้ำว่าการเลือกกินอาหารหน้าร้อนต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่ให้พลังงานสูง พวกมันๆ ทอดๆ แต่ควรเลือกทานอาหารรสจืด น้ำพริก ผักต้มอาหารแนะนำในทุกฤดู มาพร้อมกับเครื่องดื่มดับกระหายเย็นๆ จำพวกน้ำเปล่า ซึ่งถือเป็นเครื่องดื่มที่ดีที่สุด ที่อาจจะผสมอุทัยทิพย์เพิ่มความสดชื่น หรือจะเลือกเป็นน้ำสมุนไพรพวกใบเตย เก๊กฮวย ตะไคร้ เป็นต้น


และไม่ว่าจะเป็นอาหารหน้าไหน ฤดูใด อาหารที่ทานเข้าไปต้องย้ำคิดย้ำทำอยู่เสมอคือ ความสะอาด และคุณค่าทางโภชนาการ ขอให้หน้าร้อนนี้เป็นร้อนแห่งความสุข ไม่นำพาโรคภัยมาหาคุณ


 


 


เรื่องโดย : สุนันทา สุขสุมิตร Team content www.thaihealth.or.th


 

Shares:
QR Code :
QR Code