แดดเปรี้ยงระวัง ‘ฮีตสโตรก’ อุณหภูมิ 42 องศาช็อกถึงตาย

แดดเปรี้ยงระวัง 'ฮีตสโตรก' อุณหภูมิ 42 องศาช็อกถึงตาย

 

กรมควบคุมโรคห่วงอากาศร้อนจัด เสี่ยงฮีตสโตรกถึงตาย แนะประชาชนไม่ควรออกแดดจัดหรือออกกำลังกายกลางแจ้งอย่างหักโหมเกิน 1-2 ชั่วโมง หากพบผู้ป่วยให้รีบทำให้ร่างกายเย็นลง

นพ.โอภาสการย์กวินพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค (คร.)กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงอากาศที่ร้อนมากช่วงเดือนมีนาคมเมษายนว่า ต้องระวัง 4 โรคจากแดดได้แก่ โรคลมแดด (heat stroke) โรคเพลียแดด (heat exhaustion) โรคตะคริวแดด (heat cramps) และผิวหนังไหม้แดด (sunburn) ซึ่งเกิดจากการได้รับความร้อนมากจนเกินไปและเกิดภาวะขาดน้ำโดยภาวะที่รุนแรงที่สุดและเสี่ยงเสียชีวิตคือโรคลมแดดที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายไม่สามารถปรับอุณหภูมิในร่างกายได้ทัน

ทั้งนี้ อุณหภูมิร่างกายทั่วไปอยู่ที่ 36-37 องศาเซลเซียส แต่หากอยู่ในภาวะฮีตสโตรกร่างกายจะมีอุณหภูมิสูง 41-42 องศาเซลเซียส ทำให้เป็นลม ตัวร้อนจัดปราศจากเหงื่อ บางรายรุนแรงอาจชักและเสียชีวิต ซึ่งพบบ่อยในผู้ที่มีอายุมากและมีโรคเรื้อรัง การฝึกทหารเกณฑ์ก็ต้องระวังเพราะบางรายอาจเกิดภาวะดังกล่าว ที่สำคัญไม่ควรออกแดดจัดหรือออกกำลังกายกลางแจ้งอย่างหักโหมเกิน 1-2 ชั่วโมง

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า นอกจากโรคลมแดดแล้ว ยังมีโรคเพลียแดด เป็นอาการที่ร่างกายเกิดสูญเสียน้ำมากเกินไป แต่ยังไม่รุนแรงถึงขั้นเป็นลมแดด เพราะยังมีสติสัมปชัญญะดีอยู่ จะมีอาการอ่อนเพลียแต่ถ้าเป็นมากอาจจะมีอาการปวดศีรษะมึนงง กระสับกระส่าย คลื่นไส้ อาเจียนส่วนโรคตะคริวแดด เกิดจากการวิ่งในที่อากาศร้อนเป็นระยะเวลานานๆ ทำให้เหงื่อออกมาก และได้รับการทดแทนน้ำและเกลือแร่ไม่เพียงพอ ทำให้กล้ามเนื้อกระตุก เกร็ง เป็นตะคริว โดยเฉพาะที่ขาแขน และหลัง เป็นต้น สำหรับผิวหนังไหม้แดดนั้น เกิดจากการถูกผิวหนังถูกแสงแดดแผดเผานาน เกิดอาการแดง แสบ เป็นต้น

“โรคลมแดด เป็นอาการที่น่ากลัวที่สุดเพราะเสี่ยงเสียชีวิตได้ ซึ่งไม่ได้เสี่ยงเฉพาะกลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคเรื้อรังเท่านั้นแต่ในคนแข็งแรง คนออกกำลังกาย เล่นกีฬาก็เสี่ยงเกิดภาวะนี้ โดยหากอยู่ในสภาพแวดล้อมหรือเล่นกีฬาที่มีอากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน ก็จะทำให้สมองไม่ทำงานไม่สามารถควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ รวมทั้งการควบคุมอุณหภูมิในร่างกายทำให้อุณหภูมิของร่างกายเพิ่มสูงขึ้นผิดปกติ ทั้งนี้ หากพบผู้ป่วยให้พาเข้าในที่ร่มให้นอนราบและยกเท้าทั้งสองข้างให้สูงเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงที่สมองถอดเสื้อผ้าออก ใช้ผ้าชุบน้ำเย็น หรือน้ำแข็ง ประคบตามซอกคอ รักแร้ เชิงกรานศีรษะ ร่วมกับการใช้พัดลมเป่าช่วยระบายความร้อน หรือเทน้ำเย็นราดลงบนตัว เพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้ต่ำลงโดยเร็วที่สุดและรีบนำส่งโรงพยาบาล รายที่อาการยังไม่มาก ควรให้ดื่มน้ำเปล่ามากๆ เพื่อช่วยระบายความร้อนด้วย” นพ.โอภาสกล่าว

นพ.ภาสกร อัครเสวี ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กล่าวว่า ปีนี้ไม่พบผู้ป่วยโรคลมแดด เนื่องจากยังไม่ถึงขั้นร้อนมาก ขณะที่ปี 2554 มีการแจ้งผู้เข้าข่ายโรคดังกล่าว 8 ราย แต่เมื่อวินิจฉัยพบเพียง 2 ราย และไม่พบผู้เสียชีวิตเนื่องจากปีที่ผ่านมา อากาศไม่ร้อนมากและยังมีฝนตก น้ำท่วม อย่างไรก็ตามหากดูแลร่างกายดีๆ หมั่นดื่มน้ำสะอาดอย่างพอเพียง และไม่ตากแดด หรือทำกิจกรรมกลางแจ้งเมื่อสภาพอากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน ก็ไม่น่าเกิดปัญหาอะไร

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน

Shares:
QR Code :
QR Code