แฉศูนย์รับเลี้ยงเด็ก 90% ต่ำมาตรฐาน

ห่วงพ่อแม่รุ่นใหม่นิยมส่งลูกเตรียมความพร้อม

แฉศูนย์รับเลี้ยงเด็ก 90% ต่ำมาตรฐาน 

          นายกิตติ สมานไทย ผอ.สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการและผู้สูงอายุ (สท.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า จากการที่สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชนผู้ด้อยโอกาสฯ ได้สำรวจศูนย์รับเลี้ยงเด็กปฐมวัยทั่วประเทศ พบว่า ศูนย์รับเลี้ยงเด็กปฐมวัยทั่วประเทศ พบว่า ศูนย์รับเลี้ยงเด็กปฐมวัยจำนวนมากถึงร้อยละ 90 มีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน โดยศูนย์รับเลี้ยงเด็กปฐมวัยอายุระหว่าง 3-5 ขวบ ทั้งของภาครัฐและเอกชนขณะนี้มีประมาณ 20,000 แห่งทั่วประเทศเป็นศูนย์รับเลี้ยงเด็กปฐมวัยที่อยู่ภายใต้การดูแลของส่วนท้องถิ่นและองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 18,000 แห่ง และเป็นศูนย์รับเลี้ยงเด็กปฐมวัยที่จดทะเบียนกับ พม.และกระทรวงแรงงานอีกอย่างละ 1,000 แห่ง ในจำนวนศูนย์รับเลี้ยงเด็กปฐมวัยทั้งหมดมีเพียงแค่ร้อยละ 10 เท่านั้นที่ได้มาตรฐาน

 

          ผอ.สท.กล่าวต่อว่า เนื่องจากปัจจุบันผู้ปกครองมักไม่ค่อยมีเวลาเลี้ยงดูบุตรหลาน จึงนิยมส่งเข้าศูนย์รับเลี้ยงเด็กปฐมวัย เพื่อช่วยเตรียมความพร้อมเด็กก่อนเข้าศึกษาในระดับประถมศึกษา โดยเด็กที่อยู่ในศูนย์รับเลี้ยงเด็กส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงอายุระหว่าง 3-5 ขวบ ซึ่งถือเป็นช่วงที่เด็กมีพัฒนาการทางสมองดีที่สุด มีการพัฒนาการเรียนรู้และจินตนาการหากไม่มีการกระตุ้นหรือเตรียมพื้นฐานที่ดี จะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมองของเด็กที่ช้าลง ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาของศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทยที่พบว่า ปัจจุบันเด็กไทยมีพัฒนาการทางสมองล่าช้า โดยเด็กวัยเรียนร้อยละ 15-28 มีไอคิวเฉลี่ยที่ประมาณ 88-91 ขณะที่เกณฑ์ปกติคือ 90-100

 

          นายกิตติกล่าวด้วยว่า ขณะนี้ พม.ได้เร่งกำหนดมาตรฐานของศูนย์รับเลี้ยงเด็กปฐมวัย เพื่อให้ทุกแห่งยึดปฏิบัติ เช่น ด้านบุคลากร ผู้ดูแลเด็กต้องผ่านการอบรมด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัยก่อนอย่างน้อย 2 ปี ด้านสถานที่ตั้งต้องเหมาะสมอุปกรณ์การเรียนการสอน อาหาร และของเล่นต้องมีมาตรฐาน ทั้งนี้ เพื่อให้เด็กเล็กได้รับบริการและสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็กที่พึงจะได้รับ

 

 

 

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

 

 

update 13-01-53

อัพเดตเนื้อหาโดย : พรรณปพร ศรีเจริญ

Shares:
QR Code :
QR Code