แค่คุณ ‘ปรับ’..พื้นที่ก็เปลี่ยน จาก ‘รกร้าง’ สู่สร้างสรรค์
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
"อยากให้ทุกใต้สะพานของกรุงเทพ มหานคร เป็นพื้นที่สุขภาวะ" เสียงเล็ก ๆ ของชาวชุมชนเลิศสุขสม ณ ใต้สะพานบางขี้แก้ง ถนนพุทธมณฑลสาย 1 ชุมชนเลิศสุขสม แขวงบางด้วน ที่เป็นต้นแบบของพื้นที่ใต้สะพานที่สามารถเปลี่ยนพื้นที่รกร้าง เป็นอันตราย เป็นพื้นที่สุขภาวะสร้าง สรรค์ปลอดภัย
มิใช่เพียง "ชุมชนเลิศสุขสม" เท่านั้น ที่เปลี่ยนแปลงไป อีก 9 ชุมชนในพื้นที่เขตภาษีเจริญก็พัฒนาไปสู่พื้นที่สุขภาวะในบริบทที่แตกต่างกันออกไป อย่างชุมชนคลองลัดภาชี ที่ปรับพื้นที่รกร้างข้างบ้านเพื่อเพาะปลูกพืชผัก เห็ด สามารถนำผลผลิตไปแปรรูปและจำหน่ายได้ ทั้งหมดนี้เกิดจากความร่วมแรง ร่วมใจ ทั้งจากคนในชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่เข้ามามีบทบาท ร่วมคิด ร่วมเรียนรู้ ร่วมสร้าง และทำร่วมกัน จนนำมาสู่การจัดงานนิทรรศการถอดบทเรียน "พื้นที่สุขภาวะภาษีเจริญ : แค่คุณปรับ…พื้นที่ก็เปลี่ยน…เป็นพื้นที่สุขภาวะ" โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาชุมชน (ศวพช.) มหาวิทยาลัยสยาม และสำนักงานเขตภาษีเจริญ
การสนับสนุนให้ประชาชนมีสุขภาวะที่ดีทั้งกาย ใจ สังคม ปัญญาเป็นสิ่งที่ สสส. สนับสนุนและผลักดันให้เกิดขึ้น ทั้งนี้ ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวเพิ่มเติมว่า นิทรรศการวันนี้เป็นการแสดงผลงานของชาวภาษีเจริญให้สังคมได้เห็นในเชิงประจักษ์ที่สะท้อนว่า "พื้นที่" ไม่ใช่ข้อจำกัดของการมีสุขภาวะที่ดี สสส. เชื่อมั่นว่าหากนำโมเดลพื้นที่สุขภาวะของเขตภาษีเจริญไปปรับใช้กับพื้นที่อื่นๆ จะมีส่วนช่วยให้ประชาชนได้อาศัยอยู่ในพื้นที่สุขภาวะที่ดี ที่จะนำมาซึ่งการมีร่าง กายและจิตใจที่ดีเพิ่มมากขึ้น
"จากการทำงาน 4 ปีที่ผ่านมา เขตภาษีเจริญได้เปลี่ยนจากพื้นที่รกร้าง แหล่งสะสมกองขยะ ไร้ประโยชน์ อย่างพื้นที่บริเวณใต้สะพานลอยบาง ขี้แก้ง ให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียว เพิ่มออกซิเจน เพิ่มพื้นที่ออกกำลังกาย เพิ่มการปลูกฝังในเด็กและเยาวชน ซึ่งครอบคลุมถึงการมีสุขภาวะที่ดีครบทั้ง 4 มิติ ทั้งนี้ได้รับการสนันบสนุนจาก ศวพช. ที่เป็นกลไกหลักเข้ามาช่วยพัฒนาองค์ความรู้ จนทำให้ชุมชนมีความพร้อมจนเกิดการร่วมเรียนรู้และแก้ไขไปกับเรา สิ่งสำคัญในการทำงานนั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากคนในชุมชนเป็นส่วนสำคัญ" ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าว
สำหรับการปรับเปลี่ยนพื้นที่เขตภาษีเจริญจนเป็นพื้นที่สุขภาวะแห่งแรกนั้น ผศ.กุลธิดา จันทร์เจริญ ผู้อำนวยการ ศวพช. มหาวิทยาลัยสยาม และเลขาธิการมูลนิธิวิจัยเพื่อพัฒนามนุษย์และชุมชน เล่าว่า การทำงานของ ศวพช. จะใช้กลไกการประสานและกระตุ้น เพื่อขับเคลื่อนในการบริหารจัดการด้านวิชาการ สิ่งสำคัญของการทำงานคือการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับคนในชุมชน ยกตัวอย่างเรื่องการทอดเห็ดให้อมน้ำมันน้อย โดยทดลองให้ทั้งคนในชุมชนและเจ้าหน้าที่ต่างทอดเห็ดในสูตรของตัวเองก่อนหาแนวทางการพัฒนาวิธีการทอด
ปัจจุบันเขตภาษีเจริญได้เปลี่ยนพื้นที่รกร้างไร้ประโยชน์กว่า 12,204 ตารางวา ให้กลายเป็นพื้นที่สุขภาวะ เมื่อเทียบเคียงกับราคาที่ดิน ตามการประเมินแล้วพบว่าพื้นที่มีมูลค่ากว่า 212 ล้านบาท และยังได้ขยายพื้นที่ต้นแบบพื้นที่สุขภาวะ สู่ 10 พื้นที่ในเขตภาษีเจริญ ทั้งชุมชน โรงเรียน และสถานประกอบการ ซึ่งแต่ละพื้นที่นั้นมีจุดเด่นที่พร้อมเป็นแหล่งเรียนรู้และถ่ายทอดประสบการณ์สู่พื้นที่อื่นๆ
"ลำพังเพียงชุมชนเองไม่สามารถดำเนินการให้สำเร็จและยั่งยืนได้ แม้วันนี้ทั้ง 10 พื้นที่ในเขตภาษีเจริญจะเป็นพื้นที่สุขภาวะต้นแบบแล้ว แต่ทางชุมชนจะยังคงเดินหน้าต่อไป เพราะเรื่องชุมชนเป็นเรื่องที่ต้องเริ่มที่คนในชุมชนก่อนเป็นลำดับแรก ตลอดการทำงาน 4 ปีที่ผ่านมายังเป็นบทพิสูจน์อีกว่า ทุกฝ่ายที่เข้ามาร่วมมือกันต้องมีความใส่ใจ แน่วแน่ มีจิตอาสา" ชนิสรา ละอองดี ในฐานะตัวแทนทั้ง 10 ชุมชนจากเขตภาษีเจริญ บอกเล่ากลไกแห่งความสำเร็จ ที่พยายามจะสื่อสารกับชุมชนอื่นๆ ในกรุงเทพฯ ว่า ภายใต้ความร่วมมือและจิตอาสา ทำให้กรุงเทพมหานคร จะกลายเป็นเมืองที่มีผู้คนเข้ามาอยู่แล้วมีความสุขในทุกมิติเพิ่มขึ้น