แก้ปัญหาเด็กเสพเกมต้องเอาจริง!
หมอบัณฑิตเสนอรัฐคุมเข้มร้านอินเทอร์เน็ต
“หมอบัณฑิต” แนะแก้เด็กเสพติดเกมออนไลน์ ภาครัฐต้องลดจำนวนผู้ประกอบการร้านเกม โดยจัดเก็บภาษีหรือเข้มงวดการออกใบอนุญาต พร้อมยกตัวอย่างประเทศเกาหลีควบคุมเนื้อหาเกม
ยิ่งเล่นนานยิ่งคะแนนน้อย เพื่อลดแรงจูงใจในการเล่น
นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ เปิดเผยถึงแนวทางแก้ไขปัญหาการเสพติดเกมออนไลน์ของเด็กและเยาวชนไทยว่าขอเสนอให้ภาครัฐควบคุมดูแลร้านอินเทอร์เน็ตอย่างเข้มงวด ในการออกใบอนุญาตเปิดร้านเกมหรือร้านอินเทอร์เน็ต เพื่อลดจำนวนผู้ประกอบการร้านเกม หรือออกมาตรการจัดเก็บภาษี ซึ่งถือว่าเป็นการจัดระเบียบร้านเกมออนไลน์ได้ในเบื้องต้น ส่วนระยะยาวก็จะต้องไปแก้ไขในเชิงสังคม หรือสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครอง โรงเรียนและสื่อต่างๆ
นพ.บัณฑิต กล่าวว่า การเสนอแนะให้มีการลดจำนวนร้านเกม เพราะถ้ายิ่งปล่อยปละให้มีร้านเกมเพิ่มขึ้นหรือหนาแน่นรอบชุมชนที่เด็กอาศัย ก็จะเปิดโอกาสให้เด็กเข้าถึงร้านเกมได้ง่ายขึ้น และยังมีการเอื้อผลประโยชน์ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับเจ้าของร้านเกม หรือผู้มีอิทธิพลในชุมชนนั้นๆ การควบคุมหรือจำกัดอายุเด็กเข้าร้านก็ทำได้ยาก
“ขณะนี้ในหลายๆ ประเทศทั่วโลก กำลังหวั่นวิตกกับปัญหาเด็กเสพติดเกมออนไลน์แล้วไปก่ออาชญากรรม แม้แต่ผู้วางนโยบาย จิตแพทย์และพ่อแม่ก็ไม่สามารถแก้ไขพฤติกรรมเด็กติดเกมได้ อย่างไรก็ตาม มีกรณีตัวอย่างของการแก้ไขปัญหาที่น่าสนใจในประเทศเกาหลี คือ กำหนดเนื้อหาในเกมเพื่อลดแรงจูงใจในการเล่น โดยถ้าเล่นเกิน 2 ชั่วโมงก็จะได้รางวัลหรือคะแนนลดลงไปเรื่อยๆ เพื่อให้คนเล่นเกมหยุดเล่นไปในที่สุด”
ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ระบุว่า คนเล่นเกมเมื่อชนะหรือได้รับคะแนนเพิ่มขึ้นสมองจะหลั่งสารความสุข และเกิดความต้องการเอาชนะไม่รู้จักจบสิ้น ทำให้ระยะเวลาเล่นเกมยาวนาน ซึ่งมีการสำรวจพบว่าเด็กไทยร้อยละ 72.8 เล่นเกมออนไลน์เป็นประจำ ในจำนวนนี้ร้อยละ 51 เล่นติดต่อเป็นเวลา 1-2 ชั่วโมงต่อวัน ดังนั้นหากเราสามารถตีกรอบ หรือควบคุมเนื้อหาในเกมให้ลดแรงจูงใจได้ ก็จะแก้ปัญหาเด็กติดเกมได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งคงจะต้องไปพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้ง
นพ.บัณฑิต กล่าวเพิ่มเติมว่า พ่อแม่ต้องเรียนรู้กระบวนการพัฒนาสติปัญญาและพฤติกรรมเด็ก โดยฝึกระเบียบวินัยในด้านเวลา และแสดงความชื่นชมลูกตั้งแต่ยังอายุน้อยๆ การสั่งสอนให้เด็กเรียนรู้หรือค้นพบความสำเร็จในเรื่องสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นความรู้สึกลึกๆ ในใจตอนเล่นเกมของเด็ก ว่าตนเองเป็นฮีโร่และเป็นที่ยอมรับในโลกไซเบอร์ ดังนั้น พ่อแม่ต้องรู้จักการสอนเด็กให้ทำงานศิลปะหรืองานประดิษฐ์ เพื่อสร้างหนทางไปสู่ความสำเร็จและเป็นต้นทุนในจิตใจ ตลอดจนสังคมต้องเปิดพื้นที่ในการแสดงออกของเด็กอีกด้วย
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
update : 14-08-51