เล็งตรวจไขมันทรานส์ `100 สินค้า`
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจาก สสส.
อย.เตือน 9 ม.ค.กฎหมายคุม ไขมันทรานส์มีผลบังคับใช้ เตรียมสุ่มตรวจสถาน ประกอบการผลิตภัณฑ์กลุ่มเสี่ยงอย่างน้อย 100 ตัวอย่าง เพื่อวิเคราะห์ปริมาณ ขณะที่ด่านอาหารและยาคุมเข้มห้ามนำเข้า เร่งออกเกณฑ์ฉลากใหม่
หลังจากที่มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ.2561 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย โดยกำหนดให้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน และอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน เป็นส่วนประกอบเป็นอาหาร ที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 ม.ค.2562 ทั้งนี้การเติมไฮโดรเจนบางส่วนนั้นทำให้เกิดไขมันทรานส์ที่เป็นอันตรายต่อร่างกายขึ้น
ล่าสุด วานนี้ (4 ม.ค.) ได้มีการเสวนา "จับตาไขมันทรานส์หลังกฎหมายบังคับใช้" โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เครือข่าย ลดการบริโภคไขมัน กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) และมูลนิธิหมอชาวบ้าน
ภญ.สุภัทรา บุญเสริม ผอ.สำนักอาหาร อย. ระบุว่า อย.ได้เตรียมความพร้อม โดยประชุมชี้แจงกับ ผู้ประกอบการไขมัน ทั้งผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จำหน่าย ให้เข้าใจและปฏิบัติตามกฎหมาย รวมถึงวางแผน เฝ้าระวังและตรวจสอบติดตาม หลังจากที่ประกาศฯ ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ จะติดตาม ตรวจสอบและเฝ้าระวัง ทั้งสถานที่ผลิต-นำเข้า -จำหน่าย ซึ่งสำนักอาหารจะสุ่มตัวอย่างผลิตภัณฑ์ เพื่อวิเคราะห์ปริมาณไขมันทรานส์ในผลิตภัณฑ์อาหารกลุ่มเสี่ยง อย่างน้อย 100 ตัวอย่าง อาทิ เนยเทียม เนยขาว เบเกอรี่ โดยเฉพาะ พาย คุกกี้ โดนัท หรือขนมที่ต้องทอดให้ฟู นุ่ม ขณะที่ด่านอาหารและยาที่อยู่บริเวณด่านข้ามแดนทั่วประเทศ จะตรวจสอบไม่ให้ลักลอบนำเข้ามาในประเทศ โดยจะสุ่มตรวจในช่วงที่จะนำเข้าผ่านด่านต่างๆ พร้อมกับจัดทำคู่มือแนวทางการปฏิบัติ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 สำหรับ ผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน หากพบว่าฝ่าฝืน จะมีโทษตามมาตรา 50 ของ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 โทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน – 2 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท
ปัจจุบันผู้ประกอบการ ตื่นตัวอย่างมากและมีการปรับสูตรไม่ใช้น้ำมันประเภทนี้แล้ว และขอย้ำว่าแม้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตก่อนวันที่ 9 ม.ค.2562 แต่หากวางจำหน่ายหลังวันที่ดังกล่าว ถือว่ามีความผิดด้วย
อย.ไม่อนุญาตให้ระบุในฉลากอาหาร ว่าไขมันทรานส์ 0% หรือปราศจากไขมันทรานส์ เพราะจริงๆ ไขมันทรานส์ ยังพบได้ในธรรมชาติ แต่ในปริมาณที่น้อยมาก จึงให้ใช้ว่าปราศจากไขมัน/น้ำมัน ที่มีการเติมไฮโดรเจนบางส่วน แต่เมื่อกฎหมายบังคับใช้ ข้อความนี้จะใช้ไม่ได้ เพราะถือว่าอะไรที่กฎหมายห้ามแล้ว จะต้องไม่มีจึงไม่ต้องแสดงระบุบนฉลากอีก ขณะนี้ อย.จึงอยู่ระหว่างดำเนินการออกกฎเกณฑ์เกี่ยวกับฉลาก ว่าจะสามารถระบุเกี่ยวกับไขมันทรานส์ในอาหารได้อย่างไรบ้าง โดยอาจกำหนดในรายละเอียดว่า จะมีไขมันทรานส์ได้ไม่เกินเท่าไหร่ จึงจะอนุโลมว่าไม่มี แต่จะต้องเป็นปริมาณที่น้อยมากๆ ซึ่งเป็นไขมันทรานส์ตามธรรมชาติ ที่อาจเจอได้อยู่แล้ว