“เลือดฉลาม” ปราบมะเร็ง

แอนตีบอดีในเลือดช่วยชะลอได้

 “เลือดฉลาม” ปราบมะเร็ง

          ลอนดอน : นักวิจัยออสเตรเลียพบแอนตีบอดีในเลือดฉลามอาจเป็นอาวุธปราบมะเร็งได้ดี หรือแม้แต่โรคอื่นๆ พบสามารถทนต่อสภาวะอุณหภูมิสูง สภาพกรดหรือด่างสูง และยับยั้งการแพร่กระจายของมะเร็งได้

 

          นักวิจัยซึ่งนำทีมโดยศาสตราจารย์มิกค์ โฟลีย์ แห่งมหาวิทยาลัยลาโทรบ นครเมลเบิร์นของออสเตรเลีย ได้ศึกษาพบว่าแอนตีบอดีในเลือดฉลามอาจเป็นอาวุธสำหรับใช้ต่อกรกับโรคมะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

          ทั้งนี้ ฉลามมีระบบภูมิคุ้มกันที่คล้ายคลึงกันกับมนุษย์ แต่แอนติบอดีของฉลามนับว่าเป็นโมเลกุลที่มีความยืดหยุ่นสูงเป็นพิเศษ ซึ่งเหมาะจะสามารถต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บได้อย่างแท้จริง โดยพบว่ามันสามารถอยู่ในสภาวะที่มีอุณหภูมิสูงได้ดีเช่นเดียวกับในเงื่อนไขที่เป็นกรดหรือด่างสูง ซึ่งหมายความได้ว่ามันสามารถทนทานหรืออยู่รอดในสภาพแวดล้อมรุนแรงอย่างในลำไส้ของมนุษย์ได้ คุณสมบัติดังกล่าวนี้นักวิจัยเชื่อว่าอาจช่วยชะลอการแพร่กระจายของโรคเช่นมะเร็งได้ และนำไปสู่การพัฒนายารักษารุ่นใหม่ๆได้ในอนาคต หรือยาเม็ดต้านมะเร็ง

 

          นอกจากนี้นักวิจัยยังพบว่าแอนติบอดีของฉลามสามารถเข้าไปยึดติดกับเซลล์มะเร็งและหยุดการแพร่กระจายได้ โดยขณะนี้พบแล้วว่ามีผลช่วยชะลอการลุกลามของมะเร็งเต้านม แต่นักวิจัยคาดหวังสุดท้ายแล้วแอนติบอดีฉลามจะนำไปใช้รักษาโรคอื่นๆด้วย เช่น มาลาเรียและโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นต้น

 

          วารสารสหพันธ์สมาคมชีววิทยาเชิงทดลองแห่งอเมริกันรายงานผลงานการศึกษาของนักวิจัย ซึ่งนำทีมโดยศาตราจารย์วิค มอร์ริส แห่งสถาบันวิจัยอาหารของอังกฤษ ที่แสดงให้เห็นว่าอาหารสำเร็จรูปใกล้ตัวอย่างแยมและเยลลี่อาจช่วยป้องกันการแพร่กระจายของโรคมะเร็งได้ เนื่องจากในอาหารดังกล่าวมีส่วนประกอบพื้นฐานที่เป็นประโยชน์เรียกว่าเพคติน (pectin) ซึ่งในผลการวิจัยล่าสุดพบว่า ภายใต้สภาวะที่เหมาะสมเพคตินจะปล่อยชิ้นส่วนโมเลกุลที่มีคุณสมบัติต้านมะเร็งออกมา

 

          ทั้งนี้ เพคตินเป็นสารคาร์โบไฮเดรตประเภทไฟเบอร์หรือเส้นใยอาหารธรรมชาติที่มีอยู่ในผักและผลไม้ต่างๆ ซึ่งถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารทั่วไป เพื่อเป็นสารก่อเจลและทำให้เกิดความคงตัวของอาหารสำเร็จรูปหลายอย่าง โดยแต่ละปีทั่วโลกมีการผลิตเพคตินออกมาประมาณ 35,000 ตัน

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์โลกวันนี้

 

 

update 15-10-51

 

Shares:
QR Code :
QR Code