‘เลมอนฟาร์ม’ ขยายเครือข่ายเกษตรอินทรีย์สู่ จ.สุพรรณบุรี

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์


ภาพประกอบจาก สสส.


'เลมอนฟาร์ม' ขยายเครือข่ายเกษตรอินทรีย์สู่ จ.สุพรรณบุรี thaihealth


จ.สุพรรณบุรี ถือเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำของไทย มีการผลิตข้าวหล่อเลี้ยงคนทั้งในประเทศและต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันสุพรรณบุรีมีชื่อเสียงทางการเพาะปลูกพันธุ์ข้าว


เมื่อไม่นานมานี้ ร้านเลมอนฟาร์ม (Lemon Farm) ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ชวนคณะสื่อมวลชน ผู้บริหารและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจาก สสส. ลงพื้นที่เยี่ยมชมการพัฒนาชุมชนต้นแบบเกษตรอินทรีย์ที่นำระบบ PGS เข้ามาปรับใช้ในการเพาะปลูก ณ จ.สุพรรณบุรี


ทพญ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์ กรรมการบริหารแผนคณะที่ 5 และประธานกำกับทิศทางแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า การทำเกษตรอินทรีย์เกิดผลดีกับเกษตรกร มีสุขภาพปลอดภัยจากการใช้สารเคมีและได้ผลผลิตปลอดภัยไว้กินเอง รวมถึงยังส่งต่อผลผลิตที่ดีต่อสุขภาพไปถึงมือผู้บริโภค ส่วนระบบ PGS คือการทำเกษตรอินทรีย์ที่เชื่อมโยงถึงระบบนิเวศวิทยาที่ทำให้สิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ คุณภาพอากาศปลอดภัย สสส.มีเป้าหมายส่งเสริมให้คนไทยมีโอกาสกินผักและผลไม้ปลอดสารวันละ 400 กรัม


'เลมอนฟาร์ม' ขยายเครือข่ายเกษตรอินทรีย์สู่ จ.สุพรรณบุรี thaihealth


"ที่ผ่านมา สสส.ขับเคลื่อนงานใน 3 ประเด็นหลัก คือ ส่งเสริมเกษตรกรให้ผลิตอาหารปลอดภัยด้วยระบบอินทรีย์ ส่งเสริมให้เกิดระบบที่เชื่อมโยงกับตลาด ดังที่เลมอนฟาร์มเข้ามารองรับตลาดให้เกษตรกร โครงการฟาร์มสร้างสุขที่เชื่อมโยงผลผลิตไปยังผู้ป่วยซึ่งรักษาที่ รพ.รามาธิบดี โครงการโรงเรียนเด็กไทยแก้มใสที่เชื่อมโยงผลผลิตไปสู่มื้ออาหารกลางวันในโรงเรียน เป็นต้น และส่งเสริมช่องทางการเข้าถึงข้อมูล เช่น เว็บไซต์ Greenery" ทพญ.จันทนากล่าว


ด้าน สุวรรณา หลั่งน้ำสังข์ กรรมการผู้จัดการเลมอนฟาร์ม กล่าวถึงการทำเกษตรอินทรีย์ PGS ในชุมชน จ.สุพรรณบุรี ว่า การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ Lemon Farm Organic PGS Model ดำเนินการโดยใช้ตลาดนำการผลิต สอนองค์ความรู้ สร้างความเข้มแข็งของระบบกลุ่มด้วยการแลกเปลี่ยนปัญหา เตือนและพัฒนาร่วมกันภายใต้ความซื่อตรงโปร่งใสในทุกขั้นตอน ซึ่งระบบ PGS เป็นช่องทางเปิดโอกาสให้เกษตรกรรายย่อยได้มีโอกาสพัฒนากลุ่มเกษตรกรให้มีส่วนร่วมสร้างเครือข่ายคนหัวใจอินทรีย์ต่อยอดจากเดิมที่ปลูกข้าวเพียงอย่างเดียวก็ขยายเป็นการปลูกพืชผักผลไม้ที่สามารถแปรรูปเป็นอาหารและขนมอินทรีย์ได้ โดยทีมเลมอนฟาร์มทำหน้าที่รับประกันผู้บริโภคว่าจะได้รับผลผลิตอินทรีย์ที่ปลอดสารเคมีในทุกขั้นตอน


'เลมอนฟาร์ม' ขยายเครือข่ายเกษตรอินทรีย์สู่ จ.สุพรรณบุรี thaihealth


"ตั้งแต่ปี 2558 สสส.และเลมอนฟาร์มร่วมกันส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ อ.อู่ทอง และ อ.ด่านช้าง เข้าสู่ Lemon Farm Organic PGS Model จนเกิดเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทุ่งทองยั่งยืนและกลุ่มรักษ์อินทรีย์พีจีเอสด่านช้าง รวมมีสมาชิก 34 คน เกิดพื้นที่อินทรีย์กว่า 277 ไร่ ปัจจุบันได้รับความร่วมมือจากกรมประมงเข้ามาเริ่มการเพาะเลี้ยงปลาอินทรีย์ ซึ่ง สสส.และเลมอนฟาร์มหวังขยายการทำเกษตร PGS ไปยังจังหวัดอื่นๆ รวมถึงขยายไปยัง รร. และ รพ.ในท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมสุขภาพคนในชุมชนให้เข้าถึงอาหารปลอดภัยอย่างแท้จริง ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs และช่วยเกษตรกรรายย่อยให้มีทางออกจากการใช้สารเคมี มีความมั่น คงเพิ่มขึ้น" สุวรรณากล่าว


'เลมอนฟาร์ม' ขยายเครือข่ายเกษตรอินทรีย์สู่ จ.สุพรรณบุรี thaihealth


ด้าน ผู้นำกลุ่มเกษตรกรอินทรีย์ทุ่งทองยั่งยืน ปัญญา ใคร่ครวญ เล่าว่า เดิมปี 2547 ตนปลูกข้าวอินทรีย์ในมาตรฐานของ IFOAM แต่ได้รับราคาที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากเป็นเกษตรกรรายเดียวที่ทำ จึงชวนเพื่อนเกษตรกรรวมกลุ่มปลูกข้าวหอมมะลิ ข้าวไรซ์เบอร์รี จนปี 2558 เกิดปัญหาน้ำแล้ง ประกอบกับโชคดีที่เลมอนฟาร์มเข้ามาชวนปรับจากทำนาข้าวเชิงเดี่ยวเป็นการปลูกพืชสวนผสมผสานในระบบ PGS จนเกิดเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ทุ่งทองยั่งยืนขึ้น มีสมาชิกทั้งหมด 97 คน โดยมี 31 คนที่เป็นผู้ผลิตหลัก ทำให้เกิดการแบ่งปันประสบการณ์ปัญหา แบ่งงานกันทำ ได้หัวใจการมีส่วนร่วม สร้างศักยภาพเกษตรกร สร้างผลผลิตเพิ่มขึ้น เชื่อมโยงระหว่างเกษตรกร ภาคี และระบบตลาดเข้าด้วยกัน


'เลมอนฟาร์ม' ขยายเครือข่ายเกษตรอินทรีย์สู่ จ.สุพรรณบุรี thaihealth


มานิตย์ แทนเพชร เกษตรกรที่กล้าหาญเปลี่ยนที่นาเป็นสวนปลูกผักอินทรีย์จนกลายเป็นกูรูนักปลูกผักของกลุ่มเกษตรอินทรีย์ทุ่งทองยั่งยืน บอกว่า ที่ผ่านมาเราทำนาเคมี พอน้ำท่วมข้าวเสียหาย หน้าแล้งก็แทบปลูกไม่ได้ โชคดีที่ได้มาพบพ่อปัญญาและเลมอนฟาร์ม ทำให้เกิดแรงบันดาลใจกล้าที่จะเปลี่ยนจากคนที่อาบสารเคมีจนร่างกายย่ำแย่ให้มีสุขภาพดีขึ้น จากเมื่อก่อนปลูกข้าวเต็มพื้นที่ 17 ไร่ ก็ลดเหลือ 2 ไร่ที่เหลือปลูกผักผลไม้เลี้ยงปลา ช่วงแรกพบปัญหาพื้นที่ข้างเคียงทำการเกษตรแบบเคมีจึงต้องปลูกต้นไม้ใหญ่คั่นเพื่อปรับแนวกันชน ปรับระบบคัดกรองน้ำเพื่อไม่ให้สารเคมีเข้ามาปนเปื้อน เป็นต้น แม้จะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบไปบ้าง แต่ภูมิใจกับการทำเกษตรอินทรีย์ ปีที่ผ่านมาได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นระดับประเทศ


'เลมอนฟาร์ม' ขยายเครือข่ายเกษตรอินทรีย์สู่ จ.สุพรรณบุรี thaihealth


เช่นเดียวกับ ตัวแทนสมาชิกกลุ่มรักษ์อินทรีย์พีจีเอสด่านช้าง ประเสริฐ จันทร์ไกล เล่าให้ฟังว่า เคยเช่าที่ 60 ไร่ ปลูกข้าวโพดเคมี มีแต่หนี้สินวนเวียนจากค่าเช่าที่ ค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าเมล็ดพันธุ์ จนทั้งครอบครัวเหลือเงินติดตัวแค่ 800 บาท ลูกชายชวนให้ลองปลูกผักอินทรีย์ เช่น ผักสลัด บร็อกโคลี ถั่วพลู กะหล่ำปลี เชอร์รี มะเขือเทศ บนเนื้อที่เพียง 14 ไร่ แต่กลับสร้างรายได้ให้สมาชิกทั้ง 6 คนได้ถึงคนละ 2,000-6,000 บาทต่อสัปดาห์ มีเลมอนฟาร์มเป็นตลาดหลัก ที่สำคัญตนใช้ขี้ไก่หมักน้ำตาลโรยแทนปุ๋ย ใช้เศษปลากับน้ำหมักเป็นฮอร์โมน ทำให้ผักสวยต้นใหญ่ ตอกย้ำว่าเกษตรอินทรีย์เป็นทางเลือกที่ถูกต้อง


เห็นได้ว่าเรื่องการเกษตรไม่ได้มีเพียงการปลูกผักปลูกข้าว แต่ยังปลูกสุขภาพและยืดชีวิตอีกด้วย ดังเช่นเกษตรกรรายย่อย จ.สุพรรณบุรี ที่นำระบบเกษตรอินทรีย์มาบูรณาการกับผลผลิตเพื่อต่อยอดอาชีพ รายได้ และวิถีชีวิตดั้งเดิม.

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ