เรื่องของคน ‘ไร้บ้าน’

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


เรื่องของคน 'ไร้บ้าน' thaihealth


บ้านคืออะไร.. เวลาอาบน้ำจะไปอาบที่ไหน.. ฝนตกจะไปหาที่หลบที่ไหน.. ถ้าป่วยจะต้องทำอย่างไร.. อยากมีบ้านไหม?


นี่คือเสียงสะท้อนผ่านการแสดงละครเวทีเพื่อผู้ถูกกดขี่ที่มีผู้แสดงเป็น กลุ่มคนไร้บ้าน ได้ฝากเรื่องราวจากชีวิตจริงของพวกเขาไว้ในงาน "Human  Of Street" ตอน Meet & Read  คนไร้บ้าน


กิจกรรมจัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือ ของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิกระจกเงา และกลุ่มละครมาร็องดู เพื่อเป็นการสื่อสารประเด็นคนไร้บ้านออกสู่ สังคมหวังให้เกิดการปรับเปลี่ยนมุมมอง และสร้างความเข้าใจในมิติใหม่ต่อ กลุ่มคนไร้บ้านนำไปสู่การเข้าใจปัญหาในเชิงโครงสร้างและมีส่วนร่วมผลักดันนโยบายสาธารณะ เพื่อเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพชีวิตให้คนไร้บ้านเข้าถึง ที่อยู่อาศัยและสวัสดิการทางสังคม


เรื่องของคน 'ไร้บ้าน' thaihealth


ภรณี ภู่ประเสริฐ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สสส. บอกว่า สสส. ให้ความสำคัญและใส่ใจในการดำเนินงานสร้างความเป็นธรรมทางสุขภาพต่อประชากรกลุ่มคนไร้บ้าน เนื่องจากกลุ่มคนไร้บ้าน เป็นประชากรที่ดำรงชีวิตในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้มีปัญหาสุขภาพจำนวนมาก ทั้งสุขภาพช่องปาก ผิวหนัง และสุขภาพจิต รวมถึงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)  ที่ต้องรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลพบว่า กลุ่มคนไร้บ้านมากกว่าร้อยละ 50 ไม่ได้รับสิทธิบริการรักษาสุขภาพ ดังนั้น สสส. จึงอยากเป็น ส่วนหนึ่งในการร่วมพัฒนาคุณภาพสุขภาวะรวมถึงคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของ พวกเขาให้ดีขึ้น


"จากการดำเนินงานกับกลุ่มคนไร้บ้าน ที่ผ่านมา สสส. ทำงานใน 3 ประเด็นหลัก 1) ส่งเสริมศักยภาพ สร้างเครือข่าย เพราะ สสส. เชื่อว่าหากกลุ่มคนไร้บ้านได้รับการ พัฒนาศักยภาพให้มากขึ้นจะมีส่วนช่วย เสริมสร้างความมั่นใจ ที่มีส่วนช่วยสร้างแนวทางการดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่า 2) ทบทวนงานวิชาการที่สอดคล้องกับสถานการณ์สุขภาวะของกลุ่มคนไร้บ้าน  จากการเก็บข้อมูลในปี 2559 พบว่า มีคน ไร้บ้านราว 3 หมื่นคน ในส่วนของพื้นที่ กทม. ทั้งที่อาศัยในพื้นที่สาธารณะและศูนย์พักพิงชั่วคราวมีจำนวน 1,307คน ซึ่งร้อยละ 32.5 มีอายุระหว่าง 40-49 ปี และมีผู้สูงอายุ  (60 ปีขึ้นไป) สูงถึงร้อยละ 22 ทำให้เห็นว่าคนไร้บ้านส่วนใหญ่เป็นสังคมผู้สูงอายุ และ 3) สสส. ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสื่อสารปรับเปลี่ยนทัศนคติมุมมองของคนในสังคมที่มีต่อกลุ่มคนไร้บ้าน ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิตร่วมกันในสังคม ทั้งนี้ สสส. หวังว่าการดำเนินงานของหน่วยงานจะมีส่วนช่วยสนับสนุน พัฒนาคุณภาพชีวิต  รวมถึงยกระดับความเข้าใจในการใช้ชีวิตของกลุ่มคนไร้บ้าน" นางภรณี กล่าว


เรื่องของคน 'ไร้บ้าน' thaihealth


อนรรฆ พิทักษ์ธานิน ผู้จัดการแผนงาน สนับสนุนองค์ความรู้เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะ และคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ ร่วมบอกเล่าเรื่องราวว่า ด้วยความที่ พวกเขาประสบปัญหาความไม่มั่นคงกับชีวิต ทั้งหน้าที่การงาน ครอบครัว สุขภาพ จึงทำให้เขาปลีกตัวเองออกมาจากบ้าน คนไร้บ้านส่วนใหญ่มีงานทำถึงร้อยละ 90 แต่ทั้งนี้เป็นการจ้างงานแบบรายวันจึงยังไม่มีระบบสวัสดิการต่างๆ มารองรับ หากวันไหนป่วยไม่สบายต้องไปหาหมอ วันนั้นนอกจากจะ ไม่ได้ค่าจ้างแล้วยังต้องเสียค่ารักษาพยาบาล ทำให้มีค่าใช้จ่ายการดำรงชีพไม่เพียงพอ  อีกทั้งประมาณร้อยละ 25 ไม่มีบัตรประชาชน หรือเอกสารยืนยันสิทธิตัวตน ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงระบบประกันสุขภาพของรัฐ ส่งผลให้ไม่เอื้อต่อการพัฒนาให้คุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม


เรื่องของคน 'ไร้บ้าน' thaihealth


สำหรับ ชณัฐ วุฒิวิกัยการ  นักทำสารคดีผู้ผลิตรายการยักษ์คิ้วท์  in New York  เล่าถึงเรื่องราวเมื่อตอนไปถ่ายทำสารคดีที่พบเห็นว่า ที่นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา มีกลุ่มคนไร้บ้านจำนวนมาก เขาจะใช้ชีวิตตามเส้นทางรถไฟฟ้าใต้ดิน (subway) เพราะมีความปลอดภัยกว่า มีแสงสว่าง รวมถึงสภาพอากาศที่พอดีไม่หนาวเท่าการมาอยู่อาศัย ในที่สาธารณะ ที่นั่นภาครัฐจะจัดสถานที่แจกอาหาร อาบน้ำ ฝึกอาชีพ และจะมี ศูนย์พักพิงเป็นที่หลับนอนแยกออกไป เท่าที่ ตนเห็นคนไร้บ้านในนิวยอร์กจะขอรับเงินบริจาค มากกว่าการทำงาน แต่ที่ไทยด้วยความที่เป็นสังคมเอื้ออาทร มีน้ำใจต่อกัน คนไร้บ้านจึงมีอาชีพ มีงาน ทำให้ยังพอมีรายได้มาใช้สอยแม้ค่าแรงจะไม่มากนักก็ตาม


เรื่องของคน 'ไร้บ้าน' thaihealth


ส่วนช่างภาพสารคดีมือรางวัลอย่าง วินัย ดิษฐจร บอกว่า ก่อนที่ตนจะเข้าสู่อาชีพช่างภาพเคยได้สัมผัสกับกลุ่มคน ไร้บ้านด้วยการเป็นกระเป๋ารถเมล์ทำให้ได้เห็นการใช้ชีวิตมาบ้าง คนไร้บ้าน บางคนจะใช้ชีวิตบนรถเมล์ในบางเวลา บางคนนั่งไปเรื่อยๆ จนสุดสาย บางคน ใช้อู่รถเมล์เป็นที่หลับนอน เมื่อผันตัวมาเป็นช่างภาพก็มีโอกาสถ่ายภาพกรุงเทพฯ ในมิติกลางคืน เห็นการใช้ชีวิตผู้คนบนท้องถนน อย่างบริเวณเสาชิงช้าจะมีกลุ่มคนไร้บ้านอาศัยอยู่มาก ด้วยความที่ย่านนั้นเป็นย่านจำหน่ายพระพุทธรูป ตนจะเห็นว่าเขาอาศัยช่องว่างระหว่างพระพุทธรูปแต่ละองค์เป็นพื้นที่เหยียดกายนอน ซึ่งเป็นเรื่องราวที่ค่อนข้างขัดแย้งกับอาชีพการงานที่เขาทำในตอนกลางวัน อย่างการโบกธงหรือถือป้ายเชิญชวนให้ คนซื้อบ้าน ซื้อคอนโดฯ เป็นที่พักอาศัย ในขณะที่พวกเขาเองก็ยังไม่มี


คนไร้บ้าน อาจเป็นภาวะหนึ่ง ของชีวิต หากสังคมให้โอกาสอย่าง เท่าเทียมแก่พวกเขา มีความเข้าใจ  การสร้างโอกาสการทำงานและรายได้ที่มั่นคงเพียงพอ รวมถึงการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการทางสังคมและสุขภาพอย่างครอบคลุม ก็จะทำให้คนไร้บ้านกลับมา มีชีวิตที่มีคุณภาพได้


'บ้าน' ไม่ใช่เพียงที่พักอาศัย หลับนอน แต่ยังมีความรัก ความเข้าใจจากคนในครอบครัวที่มอบให้แก่กัน  เมื่อบ้านในอุดมคติเปลี่ยนไป จึงทำให้เขาเหล่านั้นตัดสินใจจากบ้านในรูปแบบเก่า แล้วก้าวสู่บ้านในรูปแบบใหม่ ที่แม้จะเต็มไปด้วยความเสี่ยงทั้งจากอันตรายรอบตัวและความเสี่ยงทางสุขภาพ  ถ้าทุกฝ่ายให้ความร่วมมือคุณภาพชีวิตของคนไร้บ้านก็จะดีกว่าเดิม

Shares:
QR Code :
QR Code