เยาวชนยุคใหม่ ผลิตสื่อรู้เท่าทันนิโคติน
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
เยาวชนยุคใหม่ ผลิตสื่อรู้เท่าทันพิษภัยบุหรี่ ผลงานเรื่อง "พุฒิพงษ์" ตีแผ่พฤติกรรมวัยรุ่นยุคเจนแซด คว้ารางวัลชนะเลิศ
"ขณะนี้มีเยาวชนอายุ 15-18 ปี ติดบุหรี่แล้วกว่า 3 แสนราย และจากสถิติพบว่า เยาวชนกลุ่มนี้หรือที่มีอายุน้อยกว่านี้ มีแนวโน้มที่จะเข้าสู่วงจรการเสพติดบุหรี่ไม่ขาดสาย ดังนั้นการป้องกันนักสูบหน้าใหม่จึงเป็นมาตรการที่สำคัญยิ่ง" ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในงานมอบรางวัลคลิปวิดีโอออนไลน์ รณรงค์ไม่สูบบุหรี่ ระดับอุดมศึกษาที่ สสส.ร่วมกับมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ มูลนิธิสื่อเพื่อเยาวชนจัดขึ้น ในการจัดประกวดสื่อ รณรงค์ไม่สูบบุหรี่ในหัวข้อ "วัยรุ่นรู้ทันควันบุหรี่" ประเภทคลิปวิดีโอออนไลน์ระดับอุดมศึกษา ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 โดยก่อนที่จะทำผลงานมีกิจกรรมเวิร์กช็อป อบรมเทคนิคการสร้างสรรค์คลิปวิดีโอ ให้ตรึงผู้ชมไว้ให้ได้ โดยได้ผู้กำกับที่มีประสบการณ์มาร่วมถ่ายทอดความรู้
ผลการตัดสินรางวัลชนะเลิศ เป็นของทีม "อะซิโทน" จาก ผลงานเรื่อง "พุฒิพงษ์" จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ทีม "ใครอยากเป็นเศรษฐี" กับผลงานเรื่อง "You Can Do It" จากมหาวิทยาลัย ศิลปากร รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ทีม "ทำเพื่อเธอ" ผลงานเรื่อง "7 นาที" จากมหาวิทยาลัยศิลปากร
นาฎรฐา ทองเนื้อแปด นศ.ปี 3 คณะมีเดียทางการแพทย์ และวิทยาการ จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ตัวแทนทีมอะซิโทน เล่าว่า ผลงานเรื่องพุฒิพงษ์ ตีแผ่วัยรุ่นยุคเจนแซด ที่ชอบมีพฤติกรรมเลียนแบบ พุฒิพงษ์ ตัวละครของเรื่องเป็นเด็กมัธยมต้น แต่เห็นรุ่นพี่ ม.ปลายสูบบุหรี่จึงอยากเลียนแบบบ้าง แต่ตัวละครอีกคนที่ชื่อเอกสิทธิ์ พยายามจะถ่ายทอดว่าบุหรี่เข้าไปทำร้ายร่างกายอย่างไรบ้าง ในฐานะที่เรียนด้านอะนาโตมีมาจึงถ่ายทอดคลิปวิดีโอออกมาให้เข้าใจง่ายและที่สำคัญตลก
"เพื่อนในกลุ่มเป็นคนอารมณ์ดี เราจึงทำคลิปวิดีโออกมาแนวนี้ เพราะดราม่าเห็นบ่อยและน้องที่เล่นเป็นพุฒิพงษ์เป็นคนอารมณ์ดี สื่อสารออกมาได้ตามที่ใจเราคิดไว้" นาฎรฐา บอกเล่า
นายบุญชัย กัลยาศิริ ผู้กำกับอิสระและอาจารย์พิเศษ คณะนิเทศศาสตร์ ม.กรุงเทพ กล่าวว่า เทคนิคการทำคลิปวิดีโอ ต้องสื่อสารออกมาให้สัมผัสใจคนดูให้ได้ รูปแบบที่นำเสนอออกมาจึงมีทั้งตลก ดราม่า เสียดสี ต้องทำให้ชัดที่สุด เมื่อได้ส่วนของเนื้อหาแล้ว ในส่วนของพรีเซ็นเตชั่นต้องไปกับเนื้อหาของเรื่องด้วย ผลงานที่ส่งออกมาบางทีมปูเรื่องได้ดีมาก แต่มาพลาดตอนจบ เพราะการผลิตคลิปไวรัลในตอนท้ายต้องชัดเจน เปรียบเหมือนกับการชกมวย ต้องใช้หมัดน็อกให้ได้ ทำให้ตอนท้ายของเรื่องไม่จบอย่างดื้อ ๆ
"ขอให้กำลังใจกับ นศ.ทุก ท่าน แต่ที่ยังห่วงอยู่คือ บุหรี่ไฟฟ้าในมหาวิทยาลัย และตามร้านเหล้ารอบมหาวิทยาลัย เนื่องจากเพิ่มมากขึ้นและส่งผลกระทบต่อตัว นศ. คนรอบข้าง" ผู้กำกับอิสระ บอกเล่า
ดร.นพ.บัณฑิต กล่าวว่า การจัดประกวดคลิปวิดีโอออนไลน์ กลุ่ม นศ. ซึ่งเน้นไปที่เรียนสื่อสารมวลชน และนิเทศศาสตร์ จะเป็นผู้ช่วยผลิตสื่อต้านบุหรี่ออกไปและที่สำคัญเป็นสิ่งที่วัยรุ่นเยาวชนคิด พลิกบทบาทการทำงานรณรงค์ด้านบุหรี่จากเดิมที่ผ่านมา ผู้ใหญ่เป็นผู้คิดผลิตสื่อ ซึ่งมองว่าคนวัยเดียวกันน่าจะสื่อสารเรื่องราวต่าง ๆ ได้โดนใจมากกว่า และจากการเข้าร่วมโครงการเด็กได้ฝึกประสบการณ์สร้างสรรค์สื่อ ซึ่งในปีถัดไปจะเชิญชวน นศ.ทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการนี้ สำหรับในปีที่ 2 มี นศ.ในพื้นที่กรุงเทพฯเข้าร่วม 5 สถาบัน เพราะด้วยข้อจำกัดของทีมงานเวิร์กช็อป ที่ยังไม่มีบุคลากรและเจ้าหน้าที่จัดการอบรมเทคนิคการผลิตคลิปไวรัลได้อย่างพอเพียง
ในวันประกาศผลรางวัล มีกรณีตัวอย่างของผู้ได้รับผล กระทบจากการสูบบุหรี่จนต้องผ่าตัดมะเร็งต่อมไทรอยด์ นายมณฑล พวงเงิน หรือ "โค๊ต" วัย 25 ปี บอกเล่าชีวิตของเขาให้เหล่านักศึกษา และผู้ร่วมงานในวันนั้นฟังว่า เริ่มสูบบุหรี่ครั้งแรกตอนอายุ 14 ปี สูบเพราะอยากรู้อยากลอง จากนั้นสูบหนักขึ้นเรื่อย ๆ วันละ 2 ซอง จนเข้ามหาวิทยาลัยมีอาการคอบวม จึงพบว่าเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ สาเหตุมาจากสูบบุหรี่ ต้องผ่าตัดด่วน ผลที่ตามมาคือเป็นอัมพาตครึ่งซีก ระบบการหายใจติดขัด ต้องเจาะคอ พูดไม่ได้เกือบปี ปัจจุบันหลังพักฟื้น 2 ปียังพูดไม่ชัดติด ๆ ขัด หมดค่ารักษานับล้าน
"หากย้อนเวลาได้จะคิดถึงคนรอบข้างให้มากกว่าตัวเอง เพราะช่วงที่รักษาตัวเห็นเลยว่าคนที่เรารักเหนื่อยกว่าเราคือ พ่อ แม่ อยากฝากถึงเพื่อนวัยรุ่นที่ยังสูบบุหรี่ให้เลิก เพราะมันไม่ส่งผลดี เสียทั้งเงิน สุขภาพ และอนาคต"
ดร.นพ.บัณฑิต ให้ข้อมูลว่าบุหรี่เป็นสินค้าถูกกฎหมายชนิดเดียวที่เสพติดและฆ่าชีวิต เพราะในควันบุหรี่มีสารเคมีมากกว่า 7,000 ชนิด และกว่า 70 ชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง และที่เป็นกันมากคือมะเร็งปอด ถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจ และเส้นเลือดสมอง ผู้สูบบุหรี่ครึ่งหนึ่งจึงเสียชีวิตก่อนวัยอันควร โดยแต่ละคนอายุจะสั้นลงโดยเฉลี่ย 12 ปีและป่วยหนักเป็นเวลา 2 ปีก่อนเสียชีวิต ที่สำคัญบุหรี่ทำให้สูบติดไปตลอดชีวิต เพราะฤทธิ์ของนิโคตินที่อยู่ในบุหรี่ ซึ่งคนไทยที่เริ่มสูบและติดแล้ว มีเพียงร้อยละ 27 เท่านั้นที่สามารถเลิกบุหรี่ได้ ส่วนอีกร้อยละ 73 จะติดไปตลอดชีวิต
ในปี 58 พบว่าประเทศไทยมีผู้สูบบุหรี่ทั้งสิ้น 10.9 ล้านคน ซึ่งเป็นสถิติที่ยังสูงอยู่และน่าเป็นห่วง บุหรี่เป็นสาเหตุทำให้คนไทยเสียชีวิตพอ ๆ กับอุบัติเหตุ