เยาวชนยะลาร่วมสืบสาน “วายังกูเละ ตะลุงมาลายู”
ที่มา : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จับมือ สสส. ร่วมสืบสานศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน นำนักศึกษาลงพื้นที่ เรียนรู้ “วายังกูเละ ตะลุงมาลายู” ควบคู่ต้านยาเสพติด
คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จัดโครงการสื่อศิลปวัฒนธรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลง ภายใต้หัวข้อ “วายังกูเละ ตะลุงมาลายู ขับขานร้อยเรื่องราว เท่าทันยาเสพติด” ขึ้นที่ โรงเรียนบ้านสาคอ ต.ท่าสาป อ. เมือง จ.ยะลา โดยนำนักศึกษาจากสาขาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และสื่อดิจิทัล ชั้นปีที่ 1-3 ร่วมกับ ประชาชน เยาวชนในชุมชน จำนวน 30 คน มาเรียนรู้ ”วายังกูเละ ตะลุงมาลายู” ซึ่งเป็นศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านของชาวมุสลิมในพื้นที่ 3 จชต. เพื่อสืบทอดการแสดง “วายังกูเละ” และพัฒนาศักยภาพของเยาวชน ให้สามารถสร้างสรรค์กิจกรรมในพื้นที่ของตนเอง
โดยมีนายมะยาเต็ง สาเมาะ หัวหน้าคณะตะลุงบันเทิง และครูสมาน โดสอมิ เป็นวิทยากร บรรยายความเป็นมาของหนังตะลุงและรู้จักตัวละคร เพื่อถ่ายทอดวัฒนธรรมหนังตะลุงให้กับเยาวชนรุ่นหลังได้สืบสานต่อไป นอกจากนี้ ก็จะมีการแชร์ประสบการณ์การเขียนบทจาก อาจารย์ณัฐพงษ์ หมันหลี แก่ผู้เข้าร่วมโครงการพร้อมทั้งให้เยาวชนได้ร่วมกันเขียนบทหนังตะลุง ในหัวข้อ ยาเสพติดอีกด้วย
นางสาวชฎาภรณ์ สวนแสน อาจารย์ สาขาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และสื่อดิจิทัล คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า สำหรับโครงการนี้เป็นโครงการระหว่างแผนงานศิลปวัฒนธรรม สร้างเสริมสุขภาพ กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ที่นำนักศึกษาของมหาวิทยาลัยร่วมกับคนในชุมชนและเยาวชน ร่วมกันขับขาน”วายังกูเละ ตะลุงมาลายู” เกี่ยวกับต้านยาเสพติด โดยจะเรียนรู้ตั้งแต่ต้นน้ำ วายังกูเละ ตัวละคร การเขียนบท รวมถึง การให้ความรู้เกี่ยวกับยาเสพติด เพื่อนำวายังกูเละขับขานออกมาต้านยาเสพติดในเยาวชน นอกจากนี้ ก็ยังเป็นการส่งเสริมอนุรักษ์วัฒนธรรม ตะลุงมาลายู ที่มีเฉพาะพื้นที่ 3 จชต. โดยเฉพาะ ต.ท่าสาป บ้านสาคอ ให้คงอยู่ รณรงค์ให้เด็กตระหนักรู้ ตระหนักความเข้าใจ ถึงวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นมาจากบ้านเกิดของตนเอง รู้จักเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรม และยังช่วยให้ชุมชนปลอดยาเสพติด อีกด้วย สำหรับการดำเนินโครงการนี้ ก็จะจัดขึ้นในวันที่ 12,13,19,20 สิงหาคม 2560
นางสาวซูไฮดา ยูดว๊ะ นักศึกษา สาขาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และสื่อดิจิทัล คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กล่าวว่า โครงการนี้ได้เรียนรู้วัฒนธรรมดั้งเดิมของวายังกูเละและได้อนุรักษ์สืบทอดศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านด้วย ถ้ามีโอกาสก็จะสืบสานต่อไป เช่นเดียวกับเยาวชน บ้านสาคอ ซึ่งได้เข้าร่วมโครงการ ต่างกล่าวว่า โครงการนี้ทำให้ได้มาเรียนรู้วายังกูเละ ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านของเรา ได้รับความสนุกสนานและก็จะร่วมสืบทอดต่อถึงรุ่นลูก รุ่นหลานให้วายังกูเละคงอยู่ต่อไป