เยาวชนกับสันติสุข 3 จ.ชายแดนใต้
ใช้ศิลปะ-ดนตรี-กีฬา พัฒนาใจ
เยาวชน เป็นกลุ่มคนที่มีจำนวนมากและมีความสำคัญยิ่งต่ออนาคตของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ การที่โครงสร้างประชากรของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แตกต่างไปจากโครงสร้างประชากรในส่วนอื่นๆ ของประเทศก็เนื่องจากสตรีไทยมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่นิยมการวางแผนครอบครัว
ดังจะเห็นได้จากสตรีคนหนึ่งๆ มีลูกถึง 6 – 7 คน และพ่อ 1 คน อาจจะมีลูกเกือบ 15 – 16 คน (จากหลายแม่) ประชากรเด็กและเยาวชนในแต่ละหมู่บ้านจึงมีจำนวนมาก เมื่อครอบครัวมีลูกมากโอกาสที่จะให้ลูกทุกคนได้รับการศึกษาในระบบอย่างทั่วถึงจึงมีน้อย
เยาวชนกลุ่มนี้ (โดยเฉพาะผู้ชาย) เป็นเด็กที่ออกจากโรงเรียนตั้งแต่จบชั้นประถมศึกษา ไม่ได้เรียนต่อและไม่มีอาชีพ อีกทั้งพ่อแม่ก็ไม่มีเวลาเอาใจใส่ดูแล จึงเป็นบุคคลที่น่าสงสารและเป็นที่รังเกียจของคนในสังคม
เยาวชนจำนวนมากเลือกที่จะประชดชีวิตของตนเองไปในทางที่สังคมส่วนใหญ่ไม่ปรารถนา เช่น รวมกลุ่มกันใช้ยาเสพติดชนิดต่างๆ
แต่ถ้าเราได้คุยกับเยาวชนเหล่านี้จะพบว่าหลายคนมีศักยภาพและความรู้ สามารถแสวงหาข้อมูลเกี่ยวกับยาเสพติดชนิดใหม่ๆ ที่มีพิษรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
เยาวชนที่สิ้นหวังต่อระบบสังคมประกอบกับไม่มีใครเข้าใจในจิตวิทยาวัยรุ่น ทำให้เยาวชนกลุ่มนี้รวมตัวกัน ใช้ยาเสพติด (4x100) เป็นเครื่องมือสำคัญในการรวมกลุ่มและหาความสุข เป็นกลุ่มคนที่สามารถถูกชักจูงไปในทางผิดได้ง่ายมาก
มูลนิธิสุข – แก้ว แก้วแดง เป็นมูลนิธิที่จัดตั้งขึ้นโดยกลุ่มคนรักบ้านเกิดที่จังหวัดยะลา แต่จัดกิจกรรมหลายโครงการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข เช่น โครงการพัฒนาผู้นำองค์กรเยาวชน โครงการพัฒนาขีดความสามารถขององค์กรเยาวชน โครงการผู้นำชุมชน โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเลี้ยงแพะเชิงพาณิชย์ และโครงการธนาคารแพะ
ยุทธศาสตร์ในการทำงานที่สำคัญของมูลนิธิ คือ
ประการที่ 1 ใช้ยุทธศาสตร์ “ความเป็นเพื่อน” เนื่องจากในอดีตเยาวชนที่เป็นไทยพุทธ ไทยมุสลิม และไทยจีน เคยมีความเป็นเพื่อนกัน อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขมาโดยตลอด ดังนั้น ในการทำกิจกรรมใดก็ตามจะเน้นองค์ประกอบของเยาวชนทั้ง 3 กลุ่ม ไม่ใช่เลือกทำกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และจะเน้นการใช้ชีวิตร่วมกันผ่านกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างความเป็นเพื่อน
ประการที่ 2 ทำกิจกรรมที่ “สอดคล้องกับความต้องการ” ของคนในพื้นที่ เช่น โครงการแพะเชิงพาณิชย์ และโครงการธนาคารแพะ เพราะแพะเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่มีราคาแพงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และใช้มากในพิธีกรรมและประเพณีตามวิถีชีวิตผู้คน ดังนั้น ทั้งสองโครงการจึงได้รับการยอมรับและความสนใจจากพี่น้องชาวไทยมุสลิมจำนวนมาก
ประการที่ 3 ใช้หลักของศาสนาเป็นแนวทางในการดำเนินงาน เนื่องจากทุกศาสนาสอนคนให้เป็นคนดี มีคุณธรรม มีความศรัทธาในศาสนาของตนและนำไปปฏิบัติในวิถีชีวิตจริง
โครงการพัฒนาขีดความสามารถขององค์กรเยาวชนฯ มูลนิธิได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในปีแรกได้คัดเลือกเยาวชนจาก อบต. จำนวนแห่งละ 12 คน ครู กศน. 1 คน เจ้าหน้าที่ อบต. 1 คน และฝ่ายการเงินของ อบต. อีก 1 คน รวม อบต.ละ 15 คน มาร่วมเรียนรู้ที่มูลนิธิ โดยมีเยาวชนจากจังหวัดยะลา ปัตตานีและนราธิวาสมาเข้าร่วมโครงการในแต่ละรุ่น
ผลที่ได้รับ คือ เยาวชนเหล่านี้ได้เป็นเพื่อนกัน รู้จักกัน ใช้ชีวิตร่วมกันและเรียนรู้ร่วมกัน
สาระการเรียนรู้ที่มูลนิธิจัดให้ คือ เยาวชนได้เรียนรู้เกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กร การหาสมาชิกให้ครบ 60 คน การบริหารองค์กร การเป็นผู้นำที่เสียสละ (ใช้หลักการ “คนมือบน”) การเขียนโครงการ การบริหารการเงิน การเรียนรู้เกี่ยวกับตำนานของตำบล ตำนานของศิลปะการแสดงพื้นบ้าน บันทึกการพัฒนาองค์กรเยาวชน
และสุดท้ายคือเลือกการแสดงศิลปะพื้นบ้านที่เยาวชนสนใจ โดยต้องมีการแสดงอยู่ในตำบลและมีครูภูมิปัญญาที่สามารถถ่ายทอดความรู้นั้นแก่เยาวชนได้
โครงการนี้เน้นเรื่องศิลปะการแสดงพื้นบ้าน เนื่องจากศิลปะการแสดงพื้นบ้านเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญ ในอดีตเคยมีการแสดงอยู่เป็นประจำในกิจกรรมของชุมชน เช่น ในพิธีเข้าสุนัต การแต่งงาน งานมัสยิด การหาทุนของโรงเรียนตาดีกา ไม่ว่าจะเดินทางไปที่ใด จะมีเสียงดนตรีเหล่านี้ให้ได้ยินอยู่เสมอ แต่ในช่วงหลังจากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบกิจกรรมเหล่านี้ได้หายไป
การฝึกฝนศิลปะการแสดงพื้นบ้านเป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เยาวชนได้เรียนรู้ และฝึกปฏิบัติเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กร ทำให้ได้รับการยอมรับจากคนในชุมชนสูงมาก โดยเฉพาะคนที่อายุเลย 40 ปี ขึ้นไป เพราะเคยเล่น เคยดู และเคยฟังอย่างมีความสุข การแสดงของเยาวชนจึงเป็นสิ่งที่ชุมชนคุ้นเคยและมีความมั่นใจว่าเยาวชนจะเป็นผู้สืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมต่อไป
โดยเฉพาะที่จังหวัดนราธิวาสมีกิจกรรมการแสดงพื้นบ้านหลายอย่างที่เหลือเพียงวงเดียว เช่น ตารีอีนา บานอ และกือโตะ เป็นต้น และเหลืออยู่เพียง 1 ชุมชนเท่านั้น
หลังจากเยาวชนได้เรียนรู้แล้ว จะพัฒนานวัตกรรมการแสดงของตนเองขึ้น โดยจัดการแสดงในชุมชนตัวเองก่อนเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับตัวเอง แล้วไปแลกเปลี่ยนแบบเหย้าเยือนกับเพื่อนๆ ในชุมชนอื่นๆ อีก 1 – 2 องค์กร รวมทั้งจัดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในระดับจังหวัด และสุดท้ายก็คือในระดับ 3 จังหวัด และในอนาคตอาจมีการประกวดเพื่อคัดเลือกกลุ่มที่ทำได้ดีที่สุด เพื่อให้กิจกรรมของพวกเขาได้รับการยอมรับมากขึ้น
การจัดกิจกรรมลักษณะนี้ทำให้เยาวชนได้ฝึกการทำงาน มีประสบการณ์และมีความมั่นใจ เยาวชนที่มีความพร้อมจะให้ความช่วยเหลือกลุ่มที่อ่อนแอกว่า ทำให้เกิดความสนิทสนมกันมากขึ้น เพราะความพร้อม ความสามารถและความเป็นผู้นำของเยาวชนแต่ละองค์กรแตกต่างกัน แต่การจัดกิจกรรมร่วมกันทำให้อัตราการพัฒนาขององค์กรเยาวชนอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงมากขึ้น
จากการที่มูลนิธิได้ทำงานร่วมกับกลุ่มเยาวชน 43 อบต. ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาเป็นเวลาปีกว่า ทำให้มีโอกาสได้เรียนรู้และรู้จักเยาวชนทั้ง 3 จังหวัดมากขึ้น ข้อค้นพบที่สำคัญ คือ เยาวชนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นเด็กดี อยากเรียนรู้ มีความอดทน มีความพยายามและความตั้งใจสูง
จุดอ่อนของการดำเนินงานของภาครัฐที่เกี่ยวกับเยาวชนในอดีต คือ มีโครงการเร่งด่วนลงมามากมาย แต่ปัญหาของระบบราชการที่แก้ไขไม่ได้เลย คือ ขาดความต่อเนื่อง ตั้งแต่ระดับรัฐบาล จังหวัด อำเภอ มีหัวหน้าส่วนราชการบางคนสนใจงานเยาวชน แต่เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลหรือหัวหน้าส่วนราชการ หรือผู้บังคับหน่วย โครงการที่ทำอยู่ก็ถูกยกเลิกไปทันที
การเปลี่ยนแปลงมีซ้ำซากอยู่ตลอดเวลา ทำให้เยาวชนจำนวนมากไม่ไว้ใจในหน่วยราชการ ขณะที่หน่วยราชการก็มีเจตคติที่ไม่ดีต่อเยาวชนใน 3 จังหวัด
โครงการพัฒนาขีดความสามารถองค์กรเยาวชนฯ นี้ นอกจากมูลนิธิแล้วยังมีผู้ใหญ่ใจดีอีกจำนวนมากที่เข้ามาสนับสนุน เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 3 จังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด และนายก อบต. หลายแห่ง ที่ช่วยให้เยาวชนมีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น
จากความสำเร็จขององค์กรเยาวชนในปีนี้ มูลนิธิมีความเชื่อว่าการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ยังมีช่องทางที่จะเป็นไปได้เพราะเยาวชนส่วนใหญ่ยังต้องการการพัฒนา การดูแลเอาใจใส่จากผู้ใหญ่ใจดีทั้งหลายและไม่ต้องการให้ผู้ใหญ่มองว่าเขาเป็นผู้ก่อการร้ายไปทั้งหมด เพียงแต่ขอให้ผู้ใหญ่ได้เข้าใจความต้องการและพฤติกรรมของวัยรุ่น ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้วที่จะมีช่องว่างระหว่างเยาวชนกับภาครัฐ ผู้นำศาสนา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสังคมทั่วไป แต่ถ้าผู้ใหญ่พยายามเข้าใจเขา ช่องว่างดังกล่าวก็จะลดลงไป
โครงการนี้ช่วยให้เยาวชนได้เรียนรู้และช่วยเหลือกันเองอย่างสร้างสรรค์ ในอนาคตจะต้องสนับสนุนให้องค์กรเยาวชนเหล่านี้มีโอกาสและส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมที่เยาวชนสามารถทำได้ เช่น กีฬา ดนตรี และศิลปะ การพัฒนาเยาวชน การฝึกอาชีพและเศรษฐกิจพอเพียง
นอกจากนี้ จะต้องให้เยาวชน ซึ่งจะเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต ได้มีบทบาทและส่วนร่วมในกิจกรรมการเมืองท้องถิ่น โดยส่งเสริมให้ อบต. ได้มีงานกิจกรรมที่ช่วยเหลือสนับสนุนให้เยาวชนได้เรียนรู้เรื่องการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในระดับท้องถิ่นด้วย
มูลนิธิขอเชิญส่วนราชการ และภาคเอกชนที่สนใจ มารวมพลังช่วยกันทำงานเพื่อเยาวชน โดยบูรณาการโครงการและกิจกรรมเข้าด้วยกัน เพื่อให้งานลักษณะนี้มีความเข้มแข็งและกระจายไปยังทุก อบต. โดยเร็ว
ถ้าเราช่วยกันคนละไม้คนละมือ ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ก็จะคลี่คลายลง ความไม่เข้าใจและความไม่ไว้วางใจกันก็จะลดลง สังคมไทยที่ปลายด้ามขวานทองก็จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขเหมือนที่เคยเป็นมาในอดีต
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน
ภาพประกอบ: อินเทอร์เน็ต
update 07-05-52